ผู้เขียน | ทีมข่าวเศรษฐกิจ |
---|
ดร.ณัฐพล รังสิตพล รีแบรนด์อุตสาหกรรมด้วย MIND ล้างทุจริต-ฟื้นเชื่อมั่น-กระตุ้น ศก.ไทย
“การรีแบรนด์กระทรวงอุตสาหกรรม
จะชูว่า MIND เพื่อสื่อถึงการทำงานด้วยความจริงใจ”
หลังก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ดร.ณัฐพล รังสิตพล ก็ลุยงานอย่างเต็มที่ เพื่อหวังยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยให้กลับมาแข็งแกร่ง ทำให้ประชาชนไว้วางใจ เพื่อเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
ปลัดณัฐพลให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงการทำงานว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดนโยบายการทำงานในขั้นตอนสุดท้าย กำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ เพราะต้องการให้ช่วงระยะเวลา 2 เดือนที่เข้ามารับตำแหน่งได้รับฟังความเห็นในทุกด้านจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะความเห็นจากข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่ ผู้ขับเคลื่อนนโยบาย
⦁รีแบรนด์กระทรวงอุตฯสู่ MIND
เบื้องต้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การรีแบรนด์กระทรวงอุตสาหกรรม จะชูว่า MIND เพื่อสื่อถึงการทำงานด้วยความจริงใจ รวมทั้งคำนี้จะเป็นตัวย่อใหม่ของกระทรวงนับจากนี้โดยจะลบภาพจำในอดีตความไม่ไว้วางใจระหว่างชุมชนกับโรงงานอุตสาหกรรม การยกระดับอุตสาหกรรมให้ได้มาตรฐานไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม กลับกันโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องเป็นโรงงานที่ดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน ความยั่งยืนตรงนี้หมายถึงการดูแลชุมชน ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เพื่อให้โรงงานและชุมชนเติบโตไปด้วยกันได้จริง โดยมีภาครัฐ คือ กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้สนับสนุน
ดังนั้นสิ่งแรกที่จำเป็นคือ ทัศนคติของข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ทุกหน่วยงานราชการ กรม กอง ตลอดหน่วยงานรัฐวิสากิจในสังกัด ต้องมุ่งทำงานเพื่อประชาชนและภาคอุตสหกรรมไทย ปัญหาทุจริตทั้งจริงหรือไม่จริงต้องหมดลง ต้องทำงานในฐานะข้าราชการด้วยความตั้งใจ จริงใจ หากทำได้โรงงานจะไม่ออกนอกลู่นอกทาง ขณะเดียวกันชุมชนจะเชื่อใจ และหากโรงงานปฏิบัติตัวไม่ดี ต้องใช้กฎหมายจัดการอย่างจริงจังไม่มีละเว้น ห้ามใช้กฎหมาย หรืออำนาจรัฐกลั่นแกล้ง หรือเรียกรับผลประโยชน์เด็ดขาด
ปลัดณัฐพลระบุว่า ดังนั้นทุกหน่วยงาน รวมทั้งอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ทั่วประเทศ ต้องทำงานภายใต้4 มิติ คือ 1.ความสำเร็จทางธุรกิจ ทั้งอุตสาหกรรมเป้าหมายเกษตรอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโต 2.การดูแลชุมชนโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรม 3.การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และ 4.การกระจายรายได้ให้กับประชาชนเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
โดยวันที่ 2 ธันวาคมนี้ จะเปิดนโยบาย “ปฏิรูปหน่วยงานปั้นอุตสาหกรรมยุคใหม่ ใส่ใจประชาชน” ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี โดยสาเหตุที่เลือกอิมแพค เมืองทองธานี เพราะช่วงนั้นจะมีงานอุตสาหกรรมแฟร์ งานใหญ่ของกระทรวงพอดี
ส่วนมาตรการของขวัญปีใหม่กำลังอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเช่นกัน ซึ่งเบื้องต้นของขวัญของกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากจัดเตรียมเสร็จก็สามารถดำเนินการได้ทันที
⦁จับมือ ป.ป.ท.ปราบโรงงาน-ขรก.ทุจริต
ปลัดณัฐพลระบุอีกว่า นอกจากนโยบายการทำงานแล้ว ในภาคปฏิบัติก็มีความจำเป็นและเร่งด่วนเพื่อให้นโยบายสำเร็จเช่นกัน ล่าสุดวันที่ 28 พฤศจิกายน กระทรวงอุตสาหกรรมจะหารือร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยจะพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมกับ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท.
โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเชิญ นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้าร่วมหารือด้วย เพื่อสร้างกลไกการตรวจสอบร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม องค์กรภาคอุตสาหกรรม และ ป.ป.ท. อาจดำเนินการในรูปเอ็มโอยู หรือโมเดลอื่น ขอรอผลการหารือก่อนเท่าที่ดูแนวทางนี้น่าจะเป็นครั้งแรกของกระบวนการตรวจสอบของภาครัฐกรณีหน่วยงานรัฐ หรือโรงงาน ถูกร้องเรียน ดังนั้นการดึง ป.ป.ท.มาร่วมพิจารณาในขั้นการสืบสวน เชื่อว่าจะทำให้เกิดความรอบด้าน ครบถ้วน และเป็นธรรมทุกฝ่าย หากแนวทางนี้สำเร็จอาจเป็นต้นแบบให้หน่วยงานรัฐอื่น นำไปเป็นแนวทางปฏิบัติตามได้
ทั้งนี้ การระบุถึงโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก แน่นอนว่ามีทั้งผู้ที่ปฏิบัติตัวดีแต่ส่วนไม่ดีจนสร้างปัญหาทั้งการทุจริตรูปแบบต่างๆ หรือการไม่รับผิดชอบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมรอบโรงงานนั้น เท่าที่ดูสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่เกเรจากตัวเองและกลุ่มที่เกิดการจากการฮั้วกันกับเจ้าหน้าที่รัฐ เหล่านี้ต้องจัดการให้หมดไป
⦁ประเดิมงานอุตสาหกรรมแฟร์กระตุ้น ศก.สิ้นปี
ปลัดณัฐพลขยายความถึงงานอุตสาหกรรมแฟร์ว่า สำหรับงานอุตสาหกรรมแฟร์ เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ กระตุ้นกำลังซื้อประชาชนช่วงปลายปี ตามนโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนั้นกระทรวงจึงเตรียมเปิดพื้นที่จัดงานอุตสาหกรรมแฟร์ ซื้อของไทย ใช้ของดี สร้างอาชีพ เสริมธุรกิจที่ดีพร้อม มหกรรมสินค้าเสริมแกร่งเศรษฐกิจฐานราก ระหว่างวันที่1-4 ธันวาคม 2565 ณ อาคารเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 9-12 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี
ประกอบไปด้วย 4 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.โซนนิทรรศการ ที่แบ่งย่อยออกเป็น ชุมชนดีพร้อม การจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การยกระดับเกษตรอุตสาหกรรมและโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (บีซีจี) การส่งเสริมและพัฒนาสตาร์ตอัพ และการจัดแสดงผลงานจากหน่วยงานภาคี 2.โซนฝึกอาชีพ จะมีการจัดฝึกอาชีพในด้านต่างๆ ตลอดทั้ง 4 วัน เช่น การทำอาหาร ออกแบบผลิตภัณฑ์ เป็นต้น 3.โซนปรึกษาแนะนำ การดำเนินธุรกิจในด้านต่างๆ และการบริการด้านการเงิน และ 4.โซนจำหน่ายสินค้า กว่า 1,200 ร้านค้า ที่ได้รับการคัดสรรนำมาจำหน่ายสินค้าดี มีคุณภาพ ราคาถูก เพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย สมุนไพร ของใช้ ของตกแต่งบ้าน และฟู้ดทรัค
งานนี้นอกจากการขายสินค้าอุตสาหกรรมคุณภาพดี ราคาไม่แพงกว่า 1,200 ร้านค้า เพื่อช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการและลดค่าครองชีพให้ประชาชน ยังเป็นโอกาสสำคัญในการโชว์ผลสำเร็จของ โครงการพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ที่สามารถเพิ่มรายได้ให้ประชาชนทั่วประเทศอย่างเป็นรูปธรรมถึง 700,000 คน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วประเทศประมาณ 12,000 ล้านบาท โดยผู้ผ่านการฝึกอาชีพสามารถต่อยอดธุรกิจจากในงาน ทั้งการเข้าชมธุรกิจ ร่วมฝึกอาชีพเพิ่มเติมในงาน เป็นตลาดไอเดียต่อยอดธุรกิจสำหรับผู้ผ่านการฝึกอบรมอาชีพดีพร้อม คาดว่าตลอดการจัดงานจะมีเงินหมุนเวียนสะพัดในงานไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท และคาดการณ์ผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 200,000 คน
โครงการอาชีพดีพร้อมช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามที่รัฐบาลได้มุ่งหวัง และถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญสำหรับโครงการภาครัฐที่ส่งตรงงบประมาณกระจายไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึงเกิดรูปธรรมชัดเจน ปลัดณัฐพลเล่าด้วยความภูมิใจ
⦁จับตาปัจจัยเสี่ยงโลกกดดันเศรษฐกิจไทย
ปลัดณัฐพลยังคาดการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมปี 2566 ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะฟื้นตัว โดยภาคอุตสาหกรรมยังขยายตัวต่อเนื่องจากการส่งออกและบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้น คาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวระดับ 3% ขณะที่จีดีพีภาคอุตสาหกรรม คาดว่าจะอยู่ระดับ 2.2-3.2% ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ระดับ 3.5-4.5% ขณะที่ปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวระดับ 3.7% ส่วนจีดีพีอุตสาหกรรมและเอ็มพีไอจะมีการประเมินอีกครั้ง
โดยปัจจัยบวกยังคงเป็นภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย ตลอดจนการบริโภคภาคเอกชน และรายได้การเกษตร
ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา คือ ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่มีอยู่มากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยแต่ไม่รุนแรงจนกดดันการส่งออกและการลงทุนของไทย การเข้าสู่สังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ และผลจากโควิด-19 และสงครามต่างๆ จนส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนไทยในวงกว้าง ทั้งหมดนี้จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป ปลัดอุตสาหกรรมทิ้งท้าย