‘จุรินทร์’ ชี้ ศก.โลกเริ่มแผ่ว ฉุดส่งออกไทย ต.ค.ลบ 4.4% ติดลบครั้งแรกรอบ 20 เดือน เร่งถกเอกชนเตรียมทางออก
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ที่กระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนตุลาคม 2565 มีมูลค่า 21,772 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 4.4% ซึ่งเป็นการติดลบอีกครั้งในรอบ 20 เดือน นับจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ส่วนการนำเข้า 22,368 ล้านเหรียญสหรัฐ ลบ 2.1% ขาดดุลการค้า 596 ล้านเหรียญสหรัฐ หากคิดเป็นเงินบาท ส่งออกเดือนตุลาคม มีมูลค่า 801,273 ล้านบาท บวก 6.7% นำเข้า 832,874 ล้านบาท บวก 9.1% ขาดดุลการค้า 31,601 ล้านบาท
นายจุรินทร์กล่าวว่า ส่งผลให้ 10 เดือนแรกปีนี้ ส่งออกรวมมีมูลค่า 243,138 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 9.1% การนำเข้า 258,719 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 18.3% ขาดดุลการค้า 15,581 ล้านเหรียญสหรัฐ หากคิดเป็นเงินบาท ส่งออก 10 เดือนแรก มีมูลค่า 8,325,090 ล้านบาท บวก 19.7% นำเข้ารวม 8,981,476 ล้านบาท บวก 29.8% ขาดดุลการค้า 656,385 ล้านบาท
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า หากแยกเป็นรายอุตสาหกรรม พบว่า ส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่า 3,603 ล้านเหรียญสหรัฐ ลบ 3.4% กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่า 17,393 ล้านเหรียญสหรัฐ ลบ 3.5% สินค้าแร่และเชื้อเพลิง มีมูลค่า 775 ล้านเหรียญสหรัฐ ลบ 23.9% แต่รวม 10 เดือน สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่ารวม 42,135 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 12% สินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่า 190,672 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 7.8% สินค้าแร่และเชื้อเพลิง มีมูลค่า 10,330 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 24.4%
นายจุรินทร์กล่าวว่า ส่วนตลาดส่งออกหลัก เดือนตุลาคม ลบ 4.5% อาทิ สหรัฐ ลบ 0.9% จีน ลบ 8.5% ญี่ปุ่น ลบ 3.1% อาเซียน ลบ 3.6% เป็นต้น ตลาดรอง ลบ 5.7% อาทิ เอเชียใต้ ลบ 21.8% อินเดีย ลบ 13.8% ปากีสถาน ลบ 57.5% เป็นต้น ส่วนตลาดอื่นๆ บวก 51% ส่วนตลาดที่ขยายตัวได้ดีในเดือนตุลาคม อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ (+103.5%) ซาอุดีอาระเบีย (+49.6%) ลาว (+28.8%) ทวีปออสเตรเลีย (+18.8%) เวียดนาม (+13.3%) ไต้หวัน (+6.3%) กัมพูชา (+5.2%) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (+4.1%) สหราชอาณาจักร (+3.7%) และเม็กซิโก (+1.1%)
“สัญญาณส่งออกในช่วง 2 เดือนที่เหลือมีโอกกาสที่จะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อโลกที่มีสัญญาณแผ่วลง ที่มีโอกาสที่จะติดลบหรือบวกต่ำได้ทั้งนั้น แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าส่งออกรวมทั้งปี 2565 จะขยายตัวเกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ 4% จะได้เห็น 7-8% และมีมูลค่าเกิน 9 ล้านล้านบาท ซึ่ง 10 เดือนขยายตัวได้เกิน 9% เนื่องจากดูสินค้ารายกลุ่มและตลาดเริ่มเห็นสัญญาณติดลบ หลายประเทศติดลบครั้งแรกในรอบหลายเดือน เช่น จีน สหรัฐ รวมถึงปัญหาขาดแคลนชิปในการผลิตสินค้าไฮเทคและรถยนต์
“ขณะเดียวกันก็ยังมีปัจจัยหนุนส่งออกคือเงินบาทอ่อนค่า การเจาะตลาดใหม่ อาทิ ซาอุดีอาระเบีย ประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย สหอาณาจักร เป็นต้น โดยการส่งออกยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” นายจุรินทร์กล่าว
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกน่าเป็นห่วง ซึ่งในสัปดาห์หน้า กระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน ภายใต้ กรอ.พาณิชย์ จะประชุมหารือและรับฟังปัญหาเพื่อร่วมมือในการฟันฝ่าเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวว่าต้องเร่งทำการส่งออกให้ดีที่สุด จากการประเมินภาพรวมปีก่อนเศรษฐกิจโลกบวก 6% ปีนี้แนวโน้มเหลือบวก 3.2% และปีหน้าอาจเหลือบวก 2.7% กระทรวงพาณิชย์ต้องจับมือกับเอกชนอย่างเข้มแข็งในการฟันฝ่าแรงเสียดทานนี้ อีกทั้งมาตรการซีโร่โควิด-19 ของตลาดใหญ่ที่สุดของไทยคือจีนยังไม่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลง ดัชนีการผลิตหรือ PMI ของคู่ค้าสำคัญของประเทศไทยลดลงต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นของสหรัฐ ญี่ปุ่น จีน หรือสหภาพยุโรป
นายจุรินทร์กล่าวว่า ดังนั้น ในการประชุมต้องเตรียมแผนรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ต้องทำการบ้านเชิงลึกคือ 1.เร่งหาตลาดใหม่ทดแทนการส่งออกในบางตลาด เช่น ตลาดเคมีภัณฑ์กับเม็ดพลาสติก มีมูลค่าถึง 6.62% ของตัวเลขการส่งออกทั้งหมด ตลาดที่เตรียมการไว้ในการเร่งยอดส่งออกคือตะวันออกกลาง แอฟริกา และกลุ่มประเทศเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ เป็นต้น
“และ 2.เร่งรัดการส่งออกข้าว อินเดียเริ่มขึ้นภาษีการส่งออกข้าว จะเป็นช่องทางให้ไทยหาตลาดทดแทนตลาดอินเดีย ทั้งตลาดอินโดนีเซีย หรือตลาดแอฟริกาและอื่นๆ ตลาดแอฟริกาตลาดข้าวยังขยายตัวได้ดี เช่น โมซัมบิกเดือน ต.ค. +284% ตลาดแคเมอรูน +413% กานา +117% อิรัก +413% เป็นต้น การเร่งหาตลาดเคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และตลาดข้าวมีความสำคัญ และตลาดผลิตภัณฑ์ยางพาราต้องเร่งส่งเสริมเพิ่มมูลค่าการส่งออกและการผลิต เช่น ส่งเสริมการแปรรูปการทำยางล้อ จูงใจใช้ยางธรรมชาติมากขึ้น เร่งรักษาตลาดยานยนต์ของไทย จะมีการนำคณะร่วมงานยานยนต์ระดับโลกจับมือกับเอกชนเดินหน้าต่อไป” นายจุรินทร์ระบุ