‘กสิกรไทย’ คาด กนง.30 พ.ย.เคาะปรับดบ.สู่ระดับ 1.25% ส่วนปีหน้า แรงกดดันเพียบ

‘กสิกรไทย’ คาด กนง.30 พ.ย.เคาะปรับดบ.สู่ระดับ 1.25% ส่วนปีหน้า แรงกดดันเพียบ ทั้งเงินเฟ้อสูง การขยายตัวศก.ไทย-โลก

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2566 คาดว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% สู่ระดับ 1.25% ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน แต่ยังคงอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายของ กนง. ขณะเดียวกัน เงินเฟ้อพื้นฐานเร่งขึ้นมาจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยสะท้อนราคาสินค้าในภาพรวมยังคงเร่งตัวสูงขึ้น แม้แรงกดดันเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มลดลง

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องหลังจากในไตรมาส 3/2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวถึง 4.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ดังนั้น กนง. คงพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในการประชุมที่จะถึงนี้ กนง. คงจะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ ขณะที่แรงกดดันจากประเด็นด้านค่าเงินนั้นเริ่มมีลดลง หลังจากค่าเงินบาทพลิกภาพมาแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าของค่าเงินเหรียญสหรัฐ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปี 2566 เส้นทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. คงขึ้นอยู่กับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นสำคัญ โดยมีความเป็นไปได้ที่ กนง. อาจชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า ซึ่งดอกเบี้ยนโยบายของไทยคงไปแตะระดับสูงสุดที่ราว 1.75-2.00% ในปี 2566 ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกัน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะค่อยๆ อ่อนแรงลงส่งผลให้ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงเฟดกลับมาให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมากขึ้น

โดยเฟดคงชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อๆ ไป และอาจหยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ภายในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า ซึ่งคงจะส่งผลให้ปัจจัยสนับสนุนค่าเงินเหรียญสหรัฐมีน้อยลงและส่งผลต่อไปยังค่าเงินบาทให้อาจพลิกภาพมาแข็งค่าได้ ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อกนง. ด้านค่าเงินอีกทางหนึ่ง ดังนั้น จากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น ประกอบกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและค่าเงินที่ลดลง กนง. คงกลับมาให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยลงและหยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในปี 2566

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image