กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% พร้อมหั่นจีดีพีปี’65 เหลือ 3.2% หลังเสี่ยงเศรษฐกิจโลกโตต่ำ

กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% พร้อมหั่นจีดีพีปี’65 เหลือ 3.2% หลังเสี่ยงเศรษฐกิจโลกโตต่ำ

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า กนง.มีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1% เป็น 1.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่เป็นแรงส่ง และช่วยลดผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้ แต่ยังต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและอาจชะลอตัวมากกว่าคาด และความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

นายปิติกล่าวว่า ธปท.ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดจะขยายตัว 3.2% จากเดิม 3.3% และในปี 2566 ขยายตัว 3.7% จาก 3.8% ส่วนในปี 2567 คาดขยายตัว 3.9% โดยภาคการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวชัดเจน จากจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ว่าปี 2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 9.5 ล้านคน ปรับเพิ่มเป็น 10 ล้านคน และปี 2566 เพิ่มขึ้น 22 ล้านคน จากเดิม 21 ล้านคน ส่วนในปี 2567 เพิ่มขึ้น 3.1 ล้านคน จะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนได้รับแรงสนับสนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจรวมถึงการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวทั่วถึงมากขึ้น

ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ได้คาดการณ์การส่งออกปี 2565 ขยายตัวที่ 7.4% ปรับลดลงจาก 8.2% และปี 2566 ที่ระดับ 1% ปรับลดลงจาก 1.1% และปี 2567 คาดการณ์ขยายตัวได้ที่ 2.6% การปรับคาดการณ์การขยายตัวลดลงมาจากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวอัตราชะลอลง รวมถึงความต้องการของประเทศคู่ค้าลดลงจากราคาพลังงานที่ทรงตัวระดับสูง

ขณะที่การนำเข้ายังขยายตัวต่อเนื่อง โดยปี 2565 ขยายตัว 18.1% เพิ่มขึ้นจาก 16.8% ปี 2566 ขยายตัวลดลง 0.4% ปรับลดลงจาก 1.8% และปี 2567 ขยายตัว 3.3% แม้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะทำให้ภาคการส่งออกขยายตัวลดลง ส่งผลให้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมยังใกล้เคียงเดิม

Advertisement

“กนง.เห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและอาจชะลอตัวมากกว่าคาด และความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว” นายปิติกล่าว

นายปิติกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 มีแนวโน้มอยู่ที่ระดับ 6.3% คงการประเมินการณ์เดิม ซึ่งเงินเฟ้อได้ผ่านสุดสูงสุดช่วงไตรมาส 3/2565 ทยอยลดลงในเดือนตุลาคม ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5.98% และปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 3% เป็นการปรับขึ้นจาก 2.6% เป็นผลจากปัจจัยการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเป็นสำคัญ ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ปี 2565 อยู่ที่ระดับ 2.6% คงการคาดการณ์เดิม และปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.5% ปรับเพิ่มจาก 2.4%

ทั้งนี้ ด้านอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจการเงินโลกที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทยเปลี่ยนไปจากประเมินไว้ กนง.พร้อมปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป

Advertisement

นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ต้องติดตาม คือ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย เศรษฐกิจหลักอาจชะลอตัวมากกว่าคาด แนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่ยังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยในประเทศ รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนของภาคธุรกิจที่อาจเพิ่มขึ้น และการปรับราคาพลังงานในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน

“กรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการยกเว้นภาษีจากการขายหุ้นนั้น มองว่า แม้ต้นทุนการเทรดจะเพิ่มขึ้น แต่คงไม่ได้เป็นปัจจัยที่จะสร้างผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายโดยรวม แต่ยอมรับว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องติดตาม หรือคำนึงถึงในระยะต่อไป” นายปิติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image