‘บอย ยัมมี่เฮ้าส์’ ถอดประสบการณ์ จากคนไม่ดื่ม สู่ฟันเฟืองขับเคลื่อน ‘คราฟต์เบียร์ไทย’

‘บอย ยัมมี่เฮ้าส์’ บุกเวที ‘SMEs Hero Fest’ บอกเล่าเรื่องราว จากผู้ชายไม่ดื่ม สู่ฟันเฟืองขับเคลื่อนกระแสคราฟต์เบียร์ไทย

“ในอนาคตผมมองว่า เราจะมีคราฟต์เบียร์ไทยรสชาติใหม่ๆ ผลิตออกมาเพิ่มขึ้น และมีพื้นที่ให้คนได้ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป รวมถึงสามารถผสมผสานเอกลักษณ์ความเป็นไทยเข้าไปในทุกกระบวนการผลิต จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า คราฟต์เบียร์ฝีมือคนไทย ได้อย่างภาคภูมิใจ”

นี่คือประโยคหนึ่งที่ เอนก มงคลวุฒิเดช หรือชื่อเรียกขานในแวดวงคนรักคราฟต์เบียร์ไทยว่า “บอย ยัมมี่เฮาส์” ที่มาบอกเล่าในงาน “SMEs Hero Fest” จัดโดย เส้นทางเศรษฐีออนไลน์-เทคโนโลยีชาวบ้าน ในเครือมติชน ระหว่างวันที่ 10-12 ธันวาคม 2565 ที่สามย่านมิตรทาวน์ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ที่ต้องการเข้าสู่วงการคราฟต์เบียร์ และเพื่อเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนให้คราฟต์เบียร์ไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับทั่วโลก

จากคนไม่ดื่มเบียร์ แต่ต้องผันตัวเป็นคนขายเบียร์

บอย ยัมมี่เฮาส์ เล่าย้อนไปในอดีตว่า แต่ก่อนเป็นคนปฏิเสธของมึนเมา และกลุ่มเพื่อนรอบตัวก็ไม่มีใครเป็นสายดื่มเลย ต่อมาได้นัดรวมกลุ่มเพื่อนเก่ามาสังสรรค์กัน แต่ปรากฏกลุ่มเพื่อนที่มาไม่มีใครดื่มเบียร์กันเลย อีกทั้งตอนนั้นถึงจุดอิ่มตัวของการเป็นโปรแกรมเมอร์ จึงคิดว่าอยากหาธุรกิจอะไรสักอย่างทำ

“หลังจากออกจากงานโปรแกรมเมอร์ ได้เริ่มทำธุรกิจส่งขนมปังตามร้านกาแฟอยู่ 1-2 ปี แต่รู้สึกว่าไม่เวิร์กเท่าที่ควร ประจวบกับน้องสาวเปิดบริษัทขึ้นมา ชื่อว่า ยัมมี่เฮ้าส์ ซึ่งเป็นบริษัทขายวัตถุดิบอาหาร อาทิ ชีส เนื้อ วัตถุดิบเบเกอรี่ต่างๆ และขายแบบนั้นเรื่อยมา

Advertisement

“จนกระทั่งเพื่อนของน้องเขยได้นำเข้าเบียร์จากเบลเยียม ซึ่งเป็นเบียร์ที่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก และคนที่นำเข้ามาก็ไม่รู้จักตลาดมากนัก เราจึงเสนอตัวไปช่วยขายเบียร์ จนสนใจเรื่องเบียร์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่เนื่องจากไม่มีความรู้ จึงต้องศึกษา เริ่มหัดชิม และรู้ว่าเบียร์ต่างๆ มีเรื่องเล่ากว่าจะมาเป็นเบียร์แต่ละขวดให้เราได้ดื่ม”

หลังจากที่เริ่มขายเบียร์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศได้สักระยะ บอย ยัมมี่เฮ้าส์ก็คิดว่าอยากจะหาเบียร์ตัวอื่นมาจำหน่าย เพราะว่าได้ขอใบอนุญาตจำหน่ายสุราเรียบร้อยแล้ว ก็ประจวบเหมาะกับคนรู้จักเปิดบริษัทนำเข้าเบียร์มาจากต่างประเทศ จึงทำให้ได้ยินคำว่า ‘คราฟต์เบียร์’ บ่อยมากขึ้น

Advertisement

“ผมขอยกตัวอย่างกระเป๋าแบรนด์เนมยี่ห้อหนึ่ง เวลาที่พูดถึงกระเป๋าแบรนด์เนม เราจะนึกถึงความพิถีพิถัน ผลิตจำนวนน้อย และราคาสูงมาก ซึ่งคราฟต์เบียร์ก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน เนื่องจากคราฟต์เบียร์ก็เหมือนกับงานศิลปะ เพราะผลิตด้วยความพิถีพิถัน มีให้เลือกหลากหลายประเภท และการใส่ส่วนผสมที่มีความโดดเด่น เช่น ใส่ดอกไม้ ใส่ฮ็อป เพื่อสร้างความขมให้เบียร์ ซึ่งกระบวนการทำแบบนี้ จึงไม่สามารถผลิตได้จำนวนเยอะ”

หากพูดถึงเบียร์ทั่วไป เวลาหมักแต่ละครั้งจะมีกระบวนการหมักมากถึง 1 แสนลิตร และมีแทงก์บรรจุเบียร์เป็นจำนวนมาก แต่ถ้าเปรียบเทียบกับคราฟต์เบียร์ จะมีการผลิตเพียง 5,000-10,000 ลิตรเท่านั้น ซึ่งเมื่อผลิตได้ไม่เยอะ ราคาของคราฟต์เบียร์แบรนด์ต่างๆ จึงมีราคาสูงกว่าเบียร์ทั่วไปตามท้องตลาด

แต่ข้อดีของการผลิตคราฟต์เบียร์ได้น้อย ก็ทำให้สามารถผลิตได้อย่างหลากหลาย และมีให้ผู้บริโภคได้เลือกมากกว่าเดิม รวมถึงสามารถพัฒนาและออกแบบรสชาติของคราฟต์เบียร์ให้ดียิ่งขึ้น สร้างความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะแบรนด์นั้นๆ ได้อย่างชัดเจน

‘เบียร์’ เครื่องดื่มละลายพฤติกรรมของคนขี้อาย

เมื่อทุกคนรู้จักคราฟต์เบียร์กันแล้ว และทุกคนเติบโตมาจากคราฟต์เบียร์ของต่างประเทศ แต่ปัจจุบันเมืองไทยก็มีการผลิตคราฟต์เบียร์ และทุกคนเริ่มรู้จักเบียร์ประเภทนี้อย่างแพร่หลาย แล้วความแตกต่างระหว่างคราฟต์เบียร์ของต่างประเทศกับของไทยต่างกันอย่างไร

บอย ยัมมี่เฮ้าส์เฉลยว่า คราฟต์เบียร์ของต่างชาติกับของไทยมีความแตกต่างกัน เห็นได้จากวัตถุดิบและรสชาติ เช่น ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านอาหารการกินอย่างเด่นชัด จนมีผู้ผลิตเบียร์จากข้าวเหนียวมะม่วง เพียงเปิดฝาขวดขึ้นมา ก็ได้กลิ่นมะม่วงตีขึ้นมาเลย ตามมาด้วยกลิ่นของมะพร้าว เพื่อให้รับรู้ถึงความเป็นกะทิ แล้วเมื่อดื่มเข้าไปแล้วจะรับรู้ได้ถึงความเป็นข้าวเหนียวมะม่วงชัดขึ้นมาทันที

หรือคราฟต์เบียร์บางตัว ก็ได้แรงบันดาลใจจากกาละแม ซึ่งเป็นเบียร์ที่ผลิตออกมาในรูปแบบสเตาต์ (stout) มีสีเข้ม เนื่องจากใช้เมล็ดข้าวมอลต์ ที่ผ่านการคั่วหรืออบเป็นเวลานาน และเมื่อดื่มเข้าไปแล้วจะมีความหอมกลิ่นไหม้คล้ายกับกลิ่นกาแฟ และปรับรสชาติให้หวานขึ้น ด้วยการเติมมะพร้าวเข้าไป เมื่อทุกอย่างผสมลงตัว จึงทำให้ดื่มแล้วรู้สึกเหมือนได้กินกาละแมนั่นเอง

ซึ่งคราฟต์เบียร์ทั้งสองตัวที่ยกตัวอย่างมานั้น เป็นคราฟต์เบียร์ไทยที่ยัมมี่เฮ้าส์จัดจำหน่ายอีกด้วย ถือว่าวงการคราฟต์เบียร์ไทย สามารถดึงเอกลักษณ์และความโดดเด่นของความเป็นไทยออกมาอย่างชัดเจน แถมยังช่วยสร้างมูลค่าและเป็นซอฟต์เพาเวอร์ของไทยชั้นเยี่ยมเลยทีเดียว

“เบียร์ถือเป็นเครื่องดื่มที่มีนิยมดื่มกันทั่วโลก ทั้งยังมีชื่อเล่นที่คนในวงการจะเรียกกันว่า social lubricant หรือสารหล่อลื่นทางสังคม กล่าวคือ บางคนเป็นคนขี้อาย เป็นคนไม่กล้าเข้าสังคม แต่เมื่อได้ลองจิบเบียร์เข้าไป จะมีความไหลลื่น สามารถพูดคุยกับคนอื่นได้เป็นอย่างดี”

ความหวัง ความฝัน และอนาคตของคราฟต์เบียร์ไทย

ในห่วงโซ่ของระบบอุตสาหกรรมคราฟต์เบียร์ แบ่งเป็นหลายภาคส่วน ซึ่งปลายสุดคือ ผู้บริโภค ส่วนต้นทางคือ เจ้าของสูตร และมีกระบวนการต่างๆ มากมาย ให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่สนใจอยากลงทุน สามารถก้าวเข้าไปศึกษา จนสามารถนำไปพัฒนาเป็นสูตรของตนเองได้

“หากเราชื่นชอบการต้มเบียร์ สามารถเข้าไปเรียนรู้การเป็นเจ้าของสูตรได้ เพื่อนำสิ่งที่เรียนรู้ไปต่อยอดจนเกิดผลิตภัณฑ์ของตนเอง เมื่อพัฒนาได้แล้วก็เริ่มสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น สิ่งสำคัญคือ คุณต้องมีแพสชั่น มีความสามารถในการเรียนรู้ และความพร้อมที่จะปรับตัวตลอดเวลา อีกทั้งเมื่อตัดสินใจทำคราฟต์เบียร์เพื่อจำหน่ายแล้ว คุณต้องศึกษากฎหมายให้แจ่มชัด เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายอย่าง ซึ่งหากพลาดข้อใดไปก็มีความเสี่ยงทั้งนั้น”

คราฟเบียร์ไทยในช่วงแรกได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยเรียกว่า โฮมบรูว์ หรือเบียร์ใต้ดิน ซึ่งต่างประเทศนิยมผลิตเบียร์ดื่มกันเองภายในบ้าน จนกระทั่ง 7-8 ปีที่แล้ว เริ่มมีกลุ่มคนไทยที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ ได้ซื้อชุดโฮมบรูว์ มาทำเบียร์ที่เมืองไทย และเมื่อทำแล้วก็เริ่มให้เพื่อน หรือคนรอบตัวได้ลองชิม จนเป็นการอุดหนุนต่อกันมา

“เมื่อคนรับรู้ว่าเบียร์ทำเองมีความอร่อยและสดกว่าเบียร์ทั่วไป จนอยากทำขายขึ้นมา แต่ก็ไม่สามารถขายได้ เนื่องจากอดีตการผลิตเบียร์ขึ้นมาเองในไทยยังผิดกฎหมายอยู่ หากไม่อยากทำผิดก็ต้องผลิตเบียร์จำหน่ายในร้านอาหารเท่านั้น และต้องผลิตออกมาปีละ 1 แสนลิตรขึ้นไป แถมยังต้องมีทุนจดทะเบียนกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปได้ยากสำหรับผู้ที่อยากผลิตแค่จำนวนเล็กน้อย ทานกันเองภายในบ้าน”

ยุคต่อมา คนที่เริ่มมีสูตรและต้องการผลิตเบียร์ขึ้นมาเอง จึงเริ่มหาวิธีการให้สามารถทำออกมาขายได้ ซึ่งวิธีการที่ง่ายสุดคือ การเดินทางไปผลิตที่ต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ไต้หวัน และนำเข้ามายังประเทศไทย ขณะที่คนไทยบางกลุ่มก็ใช้วิธีการระดมทุน ไปเปิดโรงเบียร์ที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา

“ยัมมี่เฮ้าส์ เริ่มมีการจำหน่ายคราฟต์เบียร์ในยุคที่คนเริ่มเดินทางออกไปผลิตเบียร์ยังต่างประเทศ แล้วนำเข้ามาที่เมืองไทย ซึ่งช่วงแรกขายยากมาก เนื่องจากบางคนยังไม่ค่อยเข้าใจ อีกทั้งกลุ่มคนใหม่ๆ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมคราฟต์เบียร์ถึงได้มีราคาสูงกว่าเบียร์ทั่วไป แถมรสชาติก็ไม่ได้มีความแตกต่างมากนัก จึงทำให้คราฟต์เบียร์เป็นที่นิยมเฉพาะกลุ่มเท่านั้น”

ขณะเดียวกัน ยุคถัดมาถือเป็นยุคที่เริ่มขายดีและมีกระแสขึ้นมาในสังคม ร้านค้าต่างๆ ก็เริ่มมีจำหน่ายมากขึ้น และทุกคนก็ได้รู้ว่า คนไทยสามารถผลิตคราฟต์เบียร์เองได้ และทำออกมาได้รสชาติโดดเด่นแตกต่างจากแบรนด์ของต่างชาติ ที่สำคัญทุกคนต่างเอาใจช่วยให้คราฟต์เบียร์ไทย

จนมาถึงยุคปัจจุบันที่ทุกคนรับรู้ว่าประเทศไทยมีคราฟต์เบียร์ และทุกคนต่างเฝ้ารอให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย เพื่อให้สามารถผลิตได้ง่ายยิ่งขึ้น

“ในอนาคตผมมองว่า เราจะมีคราฟต์เบียร์ไทยรสชาติใหม่ๆ ผลิตออกมาเพิ่มขึ้น และมีพื้นที่ให้คนได้ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป รวมถึงสามารถผสมผสานเอกลักษณ์ความเป็นไทยเข้าไปในทุกกระบวนการผลิต จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า คราฟต์เบียร์ฝีมือคนไทย ได้อย่างภาคภูมิใจ”

สำหรับผู้ที่ต้องการหาแรงบันดาลใจและอยากเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้นำทางธุรกิจจากแบรนด์ชั้นนำ ต้องไม่พลาดงาน “SMEs Hero Fest” มหกรรมครั้งยิ่งใหญ่ส่งท้ายปี ที่เชื้อเชิญผู้ประกอบการชื่อดังจากหลากหลายแบรนด์ พร้อมถ่ายทอดกลยุทธ์การปั้นแบรนด์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และเสริมทัพด้วยเวิร์กช็อปสร้างอาชีพทางเลือกให้คนยุคใหม่

งานนี้สายกิน สายช้อป ต้องไม่พลาด เพราะ SMEs Hero Fest จัดเต็มเมนูเด็ด สารพัดสินค้าโดนใจ มัดรวมไว้ในงานนี้ที่เดียว ตั้งแต่วันที่ 10-12 ธันวาคม 2565 เวลา 10.00-20.00 น. ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้า MRT ลงสถานีสามย่าน ใช้ทางออกที่ 2 งานนี้ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้างาน

ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารและรายละเอียด SMEs Hero Fest ได้ที่ เว็บไซต์เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ https://www.sentangsedtee.com/ และเว็บไซต์เทคโนโลยีชาวบ้าน https://www.technologychaoban.com/

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image