อสังหาโวยมาตรการรัฐ ซื้อบ้านค่าโอนเพิ่ม 100 เท่า เป็นล้านละหมื่น ฉุดตลาดซบยาว

ข่าวหน้า 1 : อสังหาโวยมาตรการรบ. ผู้ซื้อบ้านรับภาระค่าโอนเพิ่ม 100 เท่า เดิมล้านละ 100 บาท เป็นล้านละหมื่น ฉุดตลาดปีหน้าซบยาว

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)กล่าวถึงการเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้า ที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมมีต้นทุนสูงขึ้นว่า กกร.ได้ยื่นหนังสือขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้รัฐบาลทบทวนการคิดคำนวณอัตราค่าไฟของภาคธุรกิจ หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 โดยให้ตรึงอัตราค่าไฟฟ้าประเภทที่อยู่อาศัย 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนประเภทอื่นๆ อาทิ ธุรกิจ โรงงาน โรงแรม ปรับขึ้นเป็น 5.69 บาทต่อหน่วย

นายสนั่นกล่าวว่า การเข้าพบครั้งนี้ กกร.ก็จะหารือเกี่ยวกับการที่จะมีมาตรการในการดูแลและช่วยเหลือให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไป รวมถึงภาคธุรกิจ ให้ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด หวังว่า พล.อ.ประยุทธ์จะให้โอกาส และรับฟังข้อมูลและข้อเสนอที่ กกร.ได้สำรวจ ทั้งจากประชาชนและภาคธุรกิจ และรัฐบาลนำข้อมูลและข้อเสนอไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ

“กกร.ห่วงใยเรื่องของการลงทุน ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ตัวที่สำคัญตัวหนึ่ง ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในปี 2566 นี้ การขอทบทวนขึ้นค่าไฟฟ้า เพื่อให้ไทยยังมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติ อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย และผลักดันในเรื่องการส่งออก เพราะค่าไฟฟ้ามีผลต่อต้นทุนของภาคธุรกิจ” นายสนั่นกล่าว

นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ผิดหวังกับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลออกมา เพราะต่างจากมาตรการเดิมที่จะสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคมนี้ ที่ลดค่าจดเบียนการโอนและค่าจดจำนองเหลือ 0.01% แต่มาตรการใหม่ลดค่าโอนจาก 2% เหลือ 1% ถือว่าเพิ่มขึ้นจากเดิม ส่วนค่าจดจำนองคงเดิมลดจาก 1% เหลือ 0.01%

Advertisement

“ตกใจเหมือนกันกับมาตรการที่ออกมา เพราะคิดว่าจะขยายของเดิมอีก 1 ปี และไม่เป็นไปตามที่สมาคมทำหนังสือยื่นขอไป คือ ลดค่าโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% อีก 1 ปีและขยายเพดานราคาที่อยู่อาศัยจาก 3 ล้านบาท เป็น 3-5 ล้านบาท หรือลดใน 3 ล้านบาทแรก เพราะมองว่ากลุ่ม 3 ล้านบาทเป็นกลุ่มเดิมและน่าจะซื้อขายกันไปมากแล้ว หากขยายราคาเพิ่มจะทำให้เกิดกำลังซื้อกลุ่มใหม่และกระตุ้นตลาดได้ แต่เมื่อรัฐออกมาตรการแบบนี้ ถือว่าจะยิ่งทำให้ตลาดอสังหาฯปีหน้าแย่กว่าเดิม จากปีนี้ที่พอประคองตัวไปได้ เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดี” นายวสันต์กล่าว

นายวสันต์กล่าวว่า แม้จะเป็นการลดค่าโอนเหลือ 1% แต่ก็เป็นภาระต่อผู้ซื้อบ้านมากขึ้น เนื่องจากในปีหน้าราคาประเมินที่ดินใหม่จะปรับขึ้นอีกประมาณ 8-10% ซึ่งจะส่งผลต่อค่าโอน รวมถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะจัดเก็บในอัตรา 15% ก็จะส่งผลให้ผู้ซื้อบ้านมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก

นายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบ และก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการอสังหาฯที่ออกมา ถือว่ายังไม่กระตุ้นตลาดเพียงพอ ทำให้ผู้ซื้อบ้านมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากมาตรการเดิม ดังนั้นปีหน้าไม่มีปัจจัยบวกต่อธุรกิจอสังหาฯ มีแต่ปัจจัยลบ ทั้งดอกเบี้ยขาขึ้น เงินเฟ้อ หนี้ครัวเรือน ผู้ประกอบการคงต้องจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อกันเอง

Advertisement

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) กล่าวว่า มาตรการลดค่าโอนเหลือ 1% ค่าจดจำนองเหลือ 0.01% ไม่ได้ช่วยกระตุ้นตลาด เพราะผู้ซื้อบ้านมีภาระค่าโอนเพิ่มขึ้น 100 เท่า จากเดิมล้านละ 100 บาท เป็นล้านละ 10,000 บาท ขณะที่การลดภาษีที่ดินฯเหลือจัดเก็บในอัตรา 15% ยังเป็นภาระของผู้ประกอบการ เพราะปีหน้าราคาประเมินที่ดินจะปรับขึ้น 8-10%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image