อ.จุฬา ชี้ ไทยรับรถไฟมือสองญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถึงเวลาต้องไปให้ไกลกว่าที่เคยทำ

วันนี้ (26 พ.ย.) ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ “มติชนออนไลน์” ถึงกรณีมีกระแสวิจารณ์การนำรับบริจาครถไฟไม่ใช้แล้วของญี่ปุ่น ที่นำมาใช้ในประเทศไทย โดยระบุว่า กรณีการรับรถไฟ รถยนต์ หรือ เรือ ที่ไม่ใช้แล้วของญี่ปุ่น เข้ามาใช้ในไทย ถือเป็นเรื่องปกติของคนไทย โดยระบบขนส่งใหญ่ๆ เช่นรถไฟ เรือพาณิชย์ รวมถึง รถยนต์ รถบรรทุก มีการนำเข้ามานานแล้ว คนไทยคุนเคยดี ยกตัวอย่างเช่น เวลาไปซื้ออะไหล่ที่เชียงกงใกล้ๆสามย่าน หรือแถวรังสิตใกล้ๆตลาดไท ส่วนใหญ่คือการนำเข้าชิ้นส่วนรถญี่ปุ่นนำเข้ามาไทย ทั้งนี้ เหตุที่ต้องนำเข้าอะไหล่ เพราะมีกฏหมายห้ามนำเข้ารถใช้แล้วทั้งคัน ที่ผ่านมาเลยมาเป็นชิ้นๆเพื่อเป็นอะไหล่ทดแทน โดยในส่วนของ เรือ จะเห็นภาพชัดว่า ในไทยเองก็มีการนำเข้าเรือในเชิงพานิชย์เก่า ก่อนนำมาปรับเพื่อใช้งานต่อ

“เรื่องนี้ไม่แปลกเราก็ทำมาเป็นสิบๆปี หากถามว่าเยอะไหม ที่เป็นเรือบรรทุกน้ำมัน และขนส่งสินค้า ตอบเลยว่าเรือหลายร้อยลำ เพราะประเทศที่พัฒนาแล้ว นิยมการใช้ของใหม่ จากการที่รัฐมักจะเก็บภาษีแพงขึ้นกับเรือที่เก่า ขณะที่ไทยเอง ไม่มีการกำหนดอายุเรือ และไม่มีมาตรการส่งเสริมการต่อเรือใดๆ ผู้ประกอบการของไทยจึงนิยมไปซื้อมือสองจากญี่ปุ่น กระทั่งใช้ต่อเป็นเวลานับ 40-50 ปี” ผศ.ดร.ประมวล ระบุ

โดย ผศ.ดร.ประมวล อธิบายต่อว่า โดยทั่วไปวัสดุจากญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่ดี ขณะที่ไทยเราเอง ไม่ซีเรียสเรื่องคุณภาพหรือมีมาตรฐานมาก ซึ่งทั้งเรือและรถไฟ ไม่ได้ถูกห้ามให้นำเข้าทั้งคัน

ซึ่งปัญหาการนำเข้ารถไฟของไทย ที่ยอมรับจากญี่ปุ่นนั้น ผศ.ดร.ประมวลเห็นว่าหากมองในแง่ดี ไม่คิดซับซ้อน ก็เป็นสิ่งที่ดีที่เราจะได้รถมาเพิ่มในระบบ ซึ่งก็อยู่ที่ฝีมือของคน รฟท.จะปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ให้ใช้ได้นานแค่ไหน

Advertisement

“แต่หากมองแบบแง่ร้าย ในประเทศเจริญกว่าเรา เขามองในมุมการบริหารความเสี่ยงต่างๆเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เพราะเขามีมาตรฐานสูง พอพบว่าอะไรที่อาจไม่ดีกับประชาชนก็เลิกใช้ แต่เรามองว่าของที่เขาจะให้นั้น ยังพอใช้ได้อยู่ ก็เลยนำมาใช้ ปรับปรุง ซึ่งขบวนรถไฟหรูหลายขบวนของ รฟท. ก็เป็นรถที่รับบริจาครถไฟเก่าจำนวนมาก จากญี่ปุ่น โดยปัจจุบัน รฟท.มีตู้รถไฟ กว่า 5,800 ตู้ มีตู้ที่บริจาคมาจากทั้งญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ” ผศ.ดร.ประมวล ระบุ พร้อมยืนยันว่า การนำเข้าดังกล่าวเป็นเรื่องปกติของ รฟท.เกิดมาแล้วหลายครั้ง ไม่ใช่เรื่องใหม่

เมื่อถามว่าแนวทางการพัฒนาในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร ผศ.ดร.ประมวล กล่าวว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะ เราไม่เคยใช้ความต้องการรถไฟเป็นตัวตั้งในการพัฒนาขีดความสามารถประเทศเลย ยืนยันว่าปริมาณความต้องการเรามีเยอะ เฉพาะปัจจุบันก็มีการใช้อยู่มากหลายพันตู้ หากเราใช้ปริมาณความต้องการเป็นตัวต้อง เเละเริ่มผลิต พัฒนาตู้รถไฟใหม่ๆ รวมถึงแคร่เปล่าสำหรับขบวนรถสินค้า ก็น่าจะส่งเสริมให้ในประเทศพัฒนาและผลิตได้

“แต่ที่ผ่านมา แม้แต่แคร่รถไฟ เราก็สั่งซื้อจากจีน ล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมามีการสั่งซื้อแคร่เปล่าถึง 300 แคร่ และจากการสัมภาษณ์ของผม ผู้ประกอบการในไทย ก็บอกว่าสามารถผลิตได้ แทนที่เราจะรอบริจาค ก็ควรเดินหน้าพัฒนาของเราเอง ยืนยันว่าเรื่องนี้ รฟท.ไม่ใช้ผู้ร้าย และเป็นเรื่องเข้าใจได้ที่ทำแบบนั้น แต่หากจะมองไปในอนาคต รัฐควรซีเรียสกับคุณภาพชีวิต เพราะเหตุที่เรารับของเก่าเขามา เพราะมันยังมีความต้องการใช้ แต่เราไม่อยากจ่ายต้นทุนที่สูง หากประเทศไทยให้ความสำคัญกับ คุณภาพชีวิต และการพัฒนาขีดความสามารถอุตสาหกรรมของประเทศ ความอยากที่จะรับของเก่าเข้ามาในประเทศจะน้อยลง นโยบายของรัฐจึงควรนำความต้องการดังกล่าวใช้ ไปพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศดีกว่า หากเราทำได้เราจะมีของใหม่ใช้” ผศ.ดร.ประมวล ระบุ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image