กสทช. ดีเดย์ บังคับสแกนลายมือผู้เปิดใช้งานซิมการ์ดมือถือใหม่ เริ่ม ก.พ.60

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุดในการยกระดับมาตรการยืนยันตัวบุคคลผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยการสแกนลายนิ้วมือว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมประกาศให้ประชาชนที่ต้องการเปิดใช้งานซิมการ์ดใหม่ต้องสแกนลายนิ้วมือ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไป เนื่องจาก กสทช. เห็นว่าการลงทะเบียนด้วยระบบลายนิ้วมือเป็นการยืนยันตัวบุคคลได้อย่างชัดเจนมากกว่าการถ่ายสำเนาหรือรูปบัตรประชาชน รวมถึงเพื่อรองรับการใช้งานด้านการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ(โมบายเพย์เม้นต์) ที่ต้องการความมั่นคงปลอดภัยในการใช้งานมากยิ่งขึ้น โดยการลงทะเบียนด้วยการสแกนลายนิ้วมือ ทาง กสทช. จะบังคับให้ดำเนินการเฉพาะการเปิดซิมการ์ดใหม่เท่านั้น ซึ่งกลุ่มผู้ใช้งาน โมบายเพย์เม้นต์ ที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 14 ล้านเลขหมาย จาก 110 ล้านเลขหมาย ในตลาด ทาง กสทช. จะไม่บังคับ แต่กลุ่มดังกล่าว คือกลุ่มเป้าหมายที่ กสทช. ต้องการโน้มน้าวให้มาลงทะเบียนเพิ่มเติมด้วยการสแกนลายนิ้วมือมากที่สุด

นายฐากร กล่าวว่า ขั้นตอนการลงทะเบียนลายนิ้วมือ เบื้องต้นจะเปิดให้ดำเนินการผ่านศูนย์บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และร้านค้าต่างๆที่จำหน่ายซิมการ์ดทุกแห่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ กสทช. ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยผู้ประกอบการทุกรายต่างเห็นพ้องในการปฏิบัติตามทั้งหมด คาดว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จะเริ่มในเดือนมกราคม 2560 หลังจากที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้างในการจัดทำระบบซอฟต์แวร์ต่างๆ แจ้ง กสทช. มาว่าซอฟต์แวร์จะเสร็จสมบูรณ์ราวเดือนมกราคม 2560 ทั้งนี้ เครื่องสแกนลายนิ้วมือ ในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเป็นผู้รับผิดชอบเอง

นายฐากร กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการที่ กสทช. มีการเพิ่มระบบสแกนลายนิ้วมือ ส่งผลให้ทางผู้ประกอบการจะมีรายจ่ายมากขึ้น ทางสำนักงาน กสทช. จะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) พิจารณา ลดการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี ในส่วนที่มีการจัดเก็บเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ(กองทุนยูโซ่) จากปัจจุบันที่มีการจัดเก็บอยู่ในอัตรา 3.75% จากรายได้รวมต่อปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image