‘เอสเอ็มอี’ ชี้ 7 ปัจจัยเสี่ยง เตือนระเบิดหนี้ 3 ลูก บอมบ์ ศก.ฐานราก

แฟ้มภาพ

‘เอสเอ็มอี’ ชี้ 7 ปัจจัยเสี่ยง เตือนระเบิดหนี้ 3 ลูก บอมบ์ ศก.ฐานราก

เมื่อวันที่ 3 มกราคม นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ประเมินสถานการณ์ของเอสเอ็มอีไทยในปี 2566 มี 7 ปัจจัยเสี่ยง และระเบิดหนี้ 3 ลูกที่ต้องเร่งถอดชนวน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 มกราคม นายแสงชัยเปิดเผยว่า 7 ปัจจัยเสี่ยงที่ประเทศไทยยังคงเผชิญอยู่และต้องวางแนวทางขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาเชิงรุกอย่างเร่งด่วน คือ 1.รายได้ลด จากการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจปี 2566 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่ละภูมิภาคของโลกยังมีหลายปัจจัยเสี่ยง การฟื้นฟูรายได้ของเอสเอ็มอียังต้องใช้ระยะเวลา ภาครัฐต้องใช้กลไกการสื่อสาร แพลตฟอร์มดิจิทัลสมัยใหม่ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แรงงานและประชาชนเข้าถึง เข้าใจ และใช้พัฒนาได้จริง และทำต่อเนื่องอย่างเร่งด่วน จะเป็นโอกาสเพิ่มรายได้ และยกระดับคุณภาพเอสเอ็มอี แรงงานและประชาชนสีเขียว

นายแสงชัยกล่าวว่า 2.ต้นทุนเพิ่ม การเพิ่มขึ้นของพลังงาน ก๊าซ น้ำมัน ไฟฟ้า และวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตนำเข้าเป็นผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่มีท่าทีจะจบในเวลาอันสั้น ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยได้รับผลกระทบต่อต้นทุนสินค้า บริการ การดำเนินธุรกิจอย่างรุนแรง จึงต้องนำมาปรับใช้ในบริบทของการพึ่งพาตนเอง 3.ค่าครองชีพพุ่ง จากต้นทุนเพิ่มส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง รายได้น้อย และผู้ประกอบการรายย่อยสายป่านสั้น ต้องแก้ไขด้านต้นทุนผู้ประกอบการและมาตรการดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อย อาทิ มุ่งเป้าแรงงานรายได้ต่ำ แรงงานคนละครึ่ง ช่วยเหลือค่าอาหาร ค่าเดินทาง เป็นต้น

นายแสงชัยกล่าวว่า 4.เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย เศรษฐกิจฝืด จากสถานการณ์ดอกเบี้ยปรับขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลต่อเอสเอ็มอีและกลุ่มรายได้น้อยมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น การออกแบบให้ระบบกองทุน สสว. กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ธนาคารรัฐที่มีอยู่เข้ามาสนับสนุนแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ ขับเคลื่อนฟื้นฟูเอสเอ็มอีแบบผ่อนปรน 5.หนี้เพิ่ม เอสเอ็มอีประสบกับปัญหาภาระหนี้จากโควิด-19 ถึง 2 ปีกว่า ขาดสภาพคล่อง ที่สำคัญคือการแก้ไขหนี้เสีย รหัส 21 คือ หนี้เสียในช่วงโควิด-19 ก่อนหน้านี้เป็นลูกหนี้ที่ดี ควรให้โอกาสฟื้นฟูสถานะของเอสเอ็มอี แรงงานและประชาชนที่เป็นหนี้เสียรหัส 21 อย่างเร่งด่วนให้กลับเข้าระบบเศรษฐกิจและสู่สภาวะปกติ

Advertisement

นายแสงชัยกล่าวต่อว่า 6.คนว่างงาน จากการประเมินของสภาพัฒน์ บัณฑิตจบใหม่ว่างงานไม่ต่ำกว่า 180,000 ราย ภาครัฐควรมีแผนเชิงรุกนำบัณฑิตที่มีความต้องการทำงานหรือเป็นผู้ประกอบการ ยกระดับทักษะ สมรรถนะสร้างงาน สร้างอาชีพให้ตรงตามความต้องการของตลาด ขึ้นทะเบียนออนไลน์ช่วยเหลือจับคู่งานทุกจังหวัด และ 7.เครดิตแรงงาน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รองรับการเพิ่มค่าแรงให้แรงงานตามทักษะ สมรรถนะ และเพิ่มรายได้ เครดิตการค้า สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่รวดเร็วขึ้นให้แรงงาน และเอสเอ็มอีอย่างเป็นระบบ และต้องบังคับใช้มาตรการ เครดิตเทอม mSMEs ไม่ให้เป็นภาระผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการหาแหล่งทุนมาหมุนเวียนในกิจการ

“ดังนั้น ทั้งธุรกิจและประชาชนเตรียมพร้อมรับมือ หรือจะรอระเบิดเวลา 3 ลูกทำลายระบบเศรษฐกิจฐานรากไทยในอนาคต 3 ด้าน คือ 1.หนี้ครัวเรือน 2.หนี้เสีย และ 3.หนี้นอกระบบ เพราะความเหลื่อมล้ำจะถ่างห่างออกไปยิ่งขึ้น หาก 7 ปัจจัยเสี่ยงไม่ได้รับการบริหารจัดการดูอย่างใกล้ชิดและเอาจริงเอาจัง” นายแสงชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image