โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ส่อแท้ง ระวังวิกฤตพลังงานลามเป็นไฟไหม้ฟาง

เกิดอาการมึนผสมงงกันเบอร์ใหญ่ในกระทรวงพลังงานต่อทิศทางการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหิน กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์

ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินกระบี่ ที่ขอให้ยุติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ว่ารัฐบาลได้มีการชะลอเรื่องไว้อยู่แล้ว อย่าต้องให้ใช้คำว่าระงับ วันนี้ใช้คำว่าชะลอไปก่อน แต่ก็ขอให้เป็นข้อสรุปมาว่าประชาชนในพื้นที่ต้องการอะไร เพราะรัฐบาลต้องทำตามความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ แต่ก็ระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ไม่ได้ไปข่มขู่ใคร เพียงแต่ว่าวันนี้ไฟฟ้าก็ยังติดๆ ดับๆ อยู่ในภาคใต้หลายแห่งเหมือนกัน

ซึ่งการออกมาพูดของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ แสดงให้เห็นท่าทีที่สามารถตีความได้หลากหลาย อาจตีความได้ว่ารัฐบาลต้องการให้ชะลอยาว จนกว่าจะมีข้อสรุปจากประชาชนในพื้นที่ หรืออาจตีความได้ว่ารัฐบาลต้องการส่งสัญญาณให้ทราบว่าหากผลการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อพิจารณาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2558 ออกมาเช่นไรก็ต้องยอมรับ

แต่สิ่งหนึ่งที่ตีความได้ คือ รัฐบาลยังไม่กล้าตัดสินใจต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงของการผลิตไฟฟ้าให้ลดลงไปเรื่อยๆ ก็เป็นได้

Advertisement

กลุ่มต้านถ่านหินเคลื่อนไหวหนัก

จับสัญญาณจากการตัดสินใจของรัฐบาล คงมาจากการเริ่มเคลื่อนไหวของกลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินกระบี่ที่มีการโกนหัวประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล จน คสช.ต้องออกมาปราม โดยทีมโฆษก คสช.ระบุว่า ได้รับทราบปัญหาเรื่องนี้และกำลังให้ติดตามดูแลจากส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่การประท้วงหรือชุมนุมในห้วงเวลานี้คงต้องระมัดระวัง ควรใช้กลไกของคณะกรรมการไตรภาคี หากผลการประชุมไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้เป็นผลสัมฤทธิ์อย่างที่ได้ตกลงกันไว้ ก็สามารถยื่นเรื่องผ่านไปให้หัวหน้า คสช.ดำเนินการตามที่ประชุมตกลงกันไว้

ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวคุกรุ่นขึ้นมาหลังกรรมการไตรภาคีทำงานได้ 8-9 เดือน ก็เริ่มมีความไม่พอใจจากกรรมการฝ่ายภาคประชาชน ที่รู้สึกว่าภาครัฐมีธงไว้แต่แรก ทำให้น้ำหนักไปกองอยู่ฝ่าย กฟผ. จนกรรมการจากภาคประชาชนบางคนขอลาออกช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา!!!

Advertisement

รมว.พลังงานยืนยันฟังเสียงส่วนใหญ่

ต่อปัญหาที่เกิดขึ้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน “พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์” เคยให้สัมภาษณ์ว่า สาเหตุที่กรรมการบางท่านลาออก เพราะไม่ยอมปฏิบัติตามคำแนะนำ ความเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ จะฟังเสียงคนใดคนหนึ่งไม่ได้

ขณะที่ตัวแทน กฟผ.ให้ข้อมูลว่า มีความสงสัยในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) หลายประเด็น อาทิ การเก็บข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม มีความครบถ้วนและสอบถามประชาชนในพื้นที่หรือไม่ เรื่องนี้ กฟผ.ได้มอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญ คือ บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เก็บข้อมูลในพื้นที่เป็นไปตามแนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด

บานปลายขอให้ล้มโครงการสร้างโรงไฟฟ้า

โดยเหตุผลเหล่านี้ คือ ชนวนเหตุที่ทำให้กลุ่มต่อต้านถ่านหินออกมาเคลื่อนไหว จนนายกรัฐมนตรีออกมาให้สัมภาษณ์ย้ำถึงคำว่า “ชะลอโรงไฟฟ้าถ่านหิน” เมื่อตอนต้น และทันทีที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งดังกล่าว ทางกลุ่มต้านก็รุกคืบขอให้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ออกไปเลย และเรียกร้องให้ จ.กระบี่ ทำพลังงานหมุนเวียนทดแทนถ่านหิน

กฟผ.แสดงผลกระทบค่าไฟพุ่ง

ขณะที่ กฟผ.ก็รุกคืบแสดงข้อมูลผลกระทบจากการเลื่อนโรงไฟฟ้าถ่านหินเช่นกัน โดยนายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. ระบุว่า การชะลอการก่อสร้างดังกล่าวจะส่งผลให้พื้นที่ภาคใต้ขาดความมั่นคงทางไฟฟ้า เพราะปัจจุบันภาคกลางต้องส่งไฟฟ้าไปช่วยเสริมระบบมากถึง 200-300 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 5-6% ต่อปี หากไม่สามารถใช้เชื้อเพลิงถ่านหินซึ่งมีราคาถูกได้ ก็อาจต้องใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติแทน ทำค่าไฟฟ้าทั้งประเทศปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่กว่า 4 บาทต่อหน่วย

แผนพีดีพีเพิ่มปริมาณไฟฟ้าเท่าตัว

ปัจจุบันการใช้ไฟฟ้าของไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว ทำให้รัฐบาลจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี) 2558-2579 หรือพีดีพี 2015 โดยกำหนดว่าเมื่อสิ้นสุดแผนในปี 2579 จะต้องผลิตไฟฟ้าถึง 70,410 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่อยู่ที่ 37,612 เมกะวัตต์ เกือบเท่าตัว เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

โดยในแผนพีดีพีได้กำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้สมดุลมากขึ้น ไม่พึ่งพาเชื้อเพลิงประเภทใดประเภทหนึ่งจนเกินไป โดยจะลดการใช้ก๊าซธรรมชาติจากสัดส่วน 64% ในปัจจุบันเหลือเพียง 30-40% และจะเพิ่มเชื้อเพลิงถ่านหินสะอาดจาก 20% เป็น 20-25% พลังงานหมุนเวียนเพิ่มจาก 8% เป็น 15-20% เพิ่มการซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศเป็น 15-20% จากเดิม 7% นิวเคลียร์ประมาณ 0-5% และลดดีเซลจาก 1% เหลือ 0%

โจทย์ใหญ่โรงไฟฟ้าถ่านหินต้องเกิด

ในแผนย่อยนั้น กฟผ.จะต้องดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 3 โรง กำลังผลิตรวม 2,800 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์ ก่อสร้างปี 2559 เข้าระบบปี 2562 โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 1 จ.สงขลา กำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ก่อสร้างปี 2561 เข้าระบบปี 2564 และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2 จ.สงขลา กำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ก่อสร้างปี 2564 เข้าระบบปี 2567

โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เป็นโรงที่สำคัญที่สุดเพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับความมั่นคงของไฟฟ้าภาคใต้ หากเกิดไม่ได้ก็จะมีผลต่อโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เหลือ โดยปัจจุบันภาคใต้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 3,059 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) อยู่ที่ 2,467 เมกะวัตต์ ซึ่งมีความเสี่ยง เพราะหากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หยุดเครื่องกะทันหัน ไฟฟ้าในระบบจะไม่เพียงพอ ต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากภาคกลางซึ่งยังมีปัญหาสายส่งที่ต้องลงทุนเพิ่ม ดังนั้น เครื่องมือสำคัญในการสร้างความมั่นคงไฟฟ้าให้พื้นที่ภาคใต้ คือ ต้องผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ให้เข้าระบบในปี 2562 และต้องสร้างภายในปีนี้!!!

พลังงานชงกพช.เพิ่มคลังแอลเอ็นจี

อย่างไรก็ตาม จากความไม่แน่นอนของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหิน ล่าสุดกระทรวงพลังงานเตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมวันที่ 8 ธันวาคมนี้ หารือประเด็นการชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ 800 เมกะวัตต์ ตลอดจนความคืบหน้าร่างกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ ที่คาดว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะใช้เวลาอีกพอสมควร และการเตรียมก่อสร้างคลังแอลเอ็นจีที่ จ.ระยอง และการศึกษาสร้างคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ 2 แห่ง ในประเทศพม่า และในอ่าวไทย เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า ทดแทนก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ลดลง รวมทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อาจเข้าระบบช้ากว่ากำหนด

โดยคาดว่าปี 2579 ไทยจะมีความต้องการใช้แอลเอ็นจีมากถึง 34-35 ล้านตันต่อปี เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์กลางปีนี้อยู่ที่ 31.5 ล้านตัน โดยปริมาณแอลเอ็นจีนั้นเพิ่มขึ้นมากจากครั้งแรกที่ทำแผนความต้องการช่วงปี 2558-2559 ซึ่งครั้งนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ 22-23 ล้านตันเท่านั้น

หวั่นไฟลามทุ่งโรงไฟฟ้าอื่นโดนต้าน

ด้วยผลจากการชะลอโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ล่าสุดเริ่มมีกระแสการต่อต้านในหลายโรงไฟฟ้า ทั้งของรัฐและเอกชน อาทิ โครงการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 อ.แม่เมาะ 655 เมกะวัตต์ จ.ลำปาง มูลค่า 36,800 ล้านบาทของ กฟผ. รวมทั้งการต่อต้านการทำประชาพิจารณ์โรงไฟฟ้าชีวมวลจะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นของเอกชนกระแสไฟลามทุ่งครั้งนี้มีวิธีการดับเพียงวิธีเดียว คือ รัฐบาลต้องเด็ดขาดว่าจะมีนโยบายด้านไฟฟ้าอย่างไร โดยเฉพาะเชื้อเพลิงถ่านหิน เพื่อยุติมหากาพย์ความขัดแย้งที่พูดกันมานาน แต่ก็มีแค่คำว่า “ชะลอ” จากรัฐบาล!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image