ความสอดคล้องของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กับการท่องเที่ยวเมืองรอง

ความสอดคล้องของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
กับการท่องเที่ยวเมืองรอง

ความเคลื่อนไหวที่ทั่วโลกจับตามองตอนนี้คือเรื่องที่จีนประกาศเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ มีการผ่อนคลายการเดินทางออกนอกประเทศ รัฐบาลจีนกลับมาออกหนังสือเดินทาง เพิ่มเที่ยวบิน และประเทศไทยก็เป็นจุดหมายหนึ่งที่นักท่องเที่ยวจีนจะหลั่งไหลเข้ามา เรื่องของมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่เชื้อจากการเดินทาง ก็ต้องทำให้รัดกุม มีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เพื่อบาลานซ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับผลกระทบแง่ลบที่อาจเกิดขึ้นจากการหลั่งไหลเข้ามา ซึ่งเราสามารถค่อยๆ ทยอยเปิดได้ โดยเฝ้าดูตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรายสัปดาห์ เพื่อนำนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาประเทศไทยอย่างยั่งยืน

หนึ่งเรื่องที่ผมเชื่อว่าประเทศไทยเรามีจุดขายเป็นจุดหมายที่สำคัญของนักท่องเที่ยวที่มีความต้องการหลากหลายก็คือการท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพ หรือเชิงการแพทย์

Advertisement

จากข้อมูลศูนย์วิเคราะห์ของ TTB เมื่อปลายปีจะเห็นได้ว่าการท่องเที่ยวรูปแบบนี้มีการเติบโตต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และคาดว่ามูลค่าจะขึ้นไปแตะกว่า 2.5 หมื่นล้านบาทในปีนี้ โดยต้องถือว่าไทยเรามีจุดขายตรงที่ระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐานที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในช่วงโควิดเราทำได้ดีถึงขนาดทำให้เราได้รับการยอมรับจาก Global Health Security (GHS) Index 2021 โดยไทยอยู่ในอันดับ 5 ของโลกและเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย เพราะไทยมีความพร้อมในการรับมือการแพร่ระบาดรวมทั้งระบบสาธารณสุขและการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลในภาพรวมอยู่ในระดับดี

นอกจากนี้แล้ว ต้องยอมรับครับว่าไทยยังมีข้อได้เปรียบหลายอย่าง นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มักจะมาเพื่อรักษาโรคเฉพาะทาง ตรวจสุขภาพ การรักษามีบุตรยาก และศัลยกรรมความงาม เนื่องจากบริการเหล่านี้ในไทยมีชื่อเสียงและมาตรฐานสูง ทั้งเรื่องเทคโนโลยี ระยะเวลาในการรอคิว จำนวนโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน การบริการที่ดีกว่า และค่าใช้จ่ายที่ประหยัดกว่าประเทศอื่นๆ อย่างเช่นค่าผ่าตัดบายพาสหัวใจของโรงพยาบาลเอกชนไทยที่ถูกว่าที่สิงคโปร์เกือบเท่าตัวเลยทีเดียว หรือการทำศัลยกรรมจมูกในไทยนั้น ราคาย่อมเยากว่าทำในสหรัฐถึง 2 เท่าเลยทีเดียว

นอกจากนี้การแพทย์แบบบูรณาการเพื่อฟื้นฟู ชะลอวัย (Wellness) ก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ไทยเราสู้ต่างชาติได้ไม่อายเลย ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่หรือองค์ความรู้ท้องถิ่นแผนโบราณ ก็ยิ่งทำให้จุดขายทางด้านนี้ของไทยเรามีความแตกต่างกว่าคนอื่นเยอะทีเดียว

Advertisement

แล้วแหล่งบริการทางการแพทย์ที่จะรองรับเพียงพอไหมสำหรับอนาคต ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนนั้น ผมคิดว่าไม่น่าห่วงในเรื่องการขยายตัว ถ้าหากมีอุปสงค์ความต้องการ ด้วยโครงสร้างของภาคธุรกิจนี้ที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่อยู่ไม่กี่รายเชื่อว่าคงไม่ยากเกินที่จะขยายหรือสร้าง Hub ในแต่ละภูมิภาค แต่ที่น่าสนใจสำหรับผมคือกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่อาจจะไปโฟกัสที่เรื่องของบริการด้านการแพทย์เฉพาะ เช่น ศัลยกรรม การแพทย์บูรณาการเพื่อฟื้นฟูชะลอวัย หรือการแพทย์แผนโบราณที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในโครงสร้างของโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่

ภาครัฐจะมีวิธีอย่างไรในการผลักดัน สนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ให้อยู่ได้ในสภาวะการแข่งขันที่รายใหญ่มีต้นทุนและสายป่านที่ยาวกว่า การดึงตัวแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญโดยรายใหญ่ เรามีกลไกในการบริหารให้สมดุลไหม มาตรการกระตุ้น ช่วยเหลือทางการเงินไม่ว่าจะเป็นเงินกู้อัตราพิเศษ ยกเว้นภาษีเฉพาะบางรายการ แผนงานระยะยาวในการยกระดับสถาบันศึกษาที่ป้อนผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้เข้าภาคธุรกิจ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้อาจจะดูเล็กน้อยแต่ผมเชื่อว่าควรรีบศึกษาและดำเนินการแต่โดยเร็วครับ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค

เรื่องของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนี้สอดคล้องกับอีกประเด็นหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจและได้เคยมีพูดไปบ้างก็คือการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง จากเดิมที่มีไม่กี่จังหวัดที่เป็นจุดหมายนักท่องเที่ยว ชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ สุราษฎ์ธานี และกรุงเทพฯ จริงๆ แล้วประเทศไทยมีอีกหลายจังหวัดที่มีศักยภาพในเชิงท่องเที่ยว โดยเฉพาะเรื่องของวัฒธรรมท้องถิ่นที่แตกต่างกันไป ซึ่งเราได้เริ่มการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และจัดกลุ่มเมืองรองสำหรับการท่องเที่ยวได้พอเห็นภาพว่ามีจังหวัดใดบ้าง มีการจัดคลัสเตอร์เมืองรองรอบๆ ที่สามารถต่อยอดการท่องเที่ยวจากหัวเมืองหลักๆ อย่างชัดเจน

เมื่อเอาทั้งเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการท่องเที่ยวของเมืองรองมารวมกัน ผมเชื่อว่าโอกาสในการสร้างจุดหมายใหม่ๆ ให้ชาวต่างชาติเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่กำลังจะกลับมาสู่ภาวะปกติเป็นเรื่องที่เราควรให้ความสำคัญ อย่าลืมนะครับว่านักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเหล่านี้ใช้เวลาเฉลี่ยอย่างต่ำก็ 30 วันในประเทศไทย

ดังนั้น ถ้าหากเราสามารถกระจายศูนย์กลางทางการแพทย์ที่รับรองนักท่องเที่ยวเหล่านี้ไปในเมืองท่องเที่ยวหลักๆ อย่างภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ ฯลฯ แล้วหาวิธีในการ “ฟีด” หรือเอื้ออำนวยให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปยังเมืองท่องเที่ยวรองที่อยู่ในคลัสเตอร์ใกล้ๆ เช้า-เย็นกลับ หรือจะค้างคืนก็ไม่ว่ากัน เราก็จะสามารถกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในเชิงท้องที่และภูมิภาคได้ทางอ้อมด้วยครับ

#Thailnd #ThisIsOurFuture

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image