มุมมองในการพัฒนาห้องสมุดชุมชน

มุมมองในการพัฒนาห้องสมุดชุมชน

ตั้งแต่ผมมารับตำแหน่งที่ OKMD ก็ได้รับการบรีฟจากลูกน้องอยู่หลายเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งที่ผมได้ฟังแล้วถึงกับร้องอ๋อเลยก็คือเรื่องแนวคิดในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ในระดับชุมชน เช่น ห้องสมุดชุมชนตามจังหวัดและอำเภอต่างๆ ที่ถึงกับร้องอ๋อออกมา ก็เพราะว่าเป็นคอนเซ็ปต์เดียวกันกับการพัฒนาพลังงานชุมชน (ที่เคยปลุกปั้นมากับมือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว) นั่นก็คือ การพัฒนาแบบมีส่วนร่วมที่เน้นการร่วมพัฒนา และร่วมแบ่งปันผลประโยชน์ นั่นเองครับ ซึ่งพอจะมีมุมมองตามแนวทางดังนี้ครับ

-การพัฒนาในระดับชุมชน มีเป้าหมายเพื่อบรรลุชีวิตที่ดีกว่าบนรากฐานของการกระทำร่วมกันของคนในชุมชน นับตั้งแต่ การตัดสินใจจนถึงการลงมือกระทำรอบด้าน เปิดทางให้ทุกคนได้ร่วมเริ่มต้นกระทำ จนถึงบรรลุเป้าหมายเพื่อแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ในเชิงสร้างสรรค์ นักคิดเพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมได้พยายามศึกษาและพัฒนารูปแบบของความสัมพันธ์แบบมีส่วนร่วมของคนในชุมชนต่างๆ จนมีข้อสรุป 3 แนวทางซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ในกรณีพัฒนาห้องสมุดชุมชน ได้แก่

1.การปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม โดยประมวลเอาองค์ความรู้ วัฒนธรรมท้องถิ่น เป้าหมายร่วม และทรัพยากรคนที่มีอยู่ในชุมชนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

Advertisement

2.การเชื่อมโยงทรัพยากรทางวัฒนธรรม คุณค่า และความตระหนักร่วมของสมาชิกในชุมชนทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เข้าด้วยกันเพื่อให้ห้องสมุดทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับการสร้างอนาคต

3.การหมุนเวียนใช้ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างมีคุณภาพ เพื่อการพัฒนา สร้างสรรค์ และต่อยอด สำหรับตอบสนองความต้องการของชุมชน พร้อมทั้งสำรวจค้นหาว่าสิ่งใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และขาดเหลือทรัพยากรอะไรบ้าง

เป้าหมายสำคัญแรกสุดของการกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมอยู่ที่การสร้างจิตวิทยาให้สมาชิกในชุมชน เกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้ของการพัฒนาห้องสมุดชุมชนที่ตนสังกัดอยู่ สิ่งที่ตามมาคือ ความเคารพซึ่งกันและกัน เป็นการเพิ่มบทบาท ในการตัดสินใจ และร่วมกำหนดปัญหาและหาทางออกผ่านข้อมูลข่าวสาร ที่รับรู้ร่วมกัน เป็นการเสริมสร้างจิตสำนึกของความเป็นเจ้าของชุมชน ที่แต่ละคนร่วมกันอย่างลึกซึ้ง ทำให้ชุมชนเกิดความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

Advertisement

คนทั่วไปจะคุ้นเคยกับห้องสมุดที่อยู่ในสถาบันการศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย ซึ่งจะแตกต่างจากห้องสมุดชุมชน ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านความรู้ ทำนองเดียวกับพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ อินเตอร์เน็ต โทรทัศน์ และวิทยุ คือ เป็นโครงสร้างพื้นฐานความรู้แบบไม่เป็นทางการ ซึ่งจะสนับสนุนแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ทุกคนมีโอกาสได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน เป็นการบ่มเพาะภูมิปัญญาในระดับบุคคลที่ทำให้ ความรู้และรสนิยมของผู้คนได้เติบโต ขณะเดียวกันก็ผลิตองค์ความรู้ที่หลากหลาย ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์เป็นการเตรียมพร้อมคนคุณภาพ เพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์

มุมมองด้านเศรษฐกิจในการพัฒนา “ห้องสมุดชุมชน” ในสหรัฐอเมริกา พบว่ามีการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายและผลตอบแทน ของการมีห้องสมุดประชาชน “ลงทุน 1 เหรียญได้คืนกว่า 4 เหรียญ” คือ บทสรุปอันมีชื่อเสียง ของเกลน ฮอลท์ (Glen Holt) ผู้อำนวยการห้องสมุดประชาชนเซนหลุยส์ ที่คำนวณออกมาให้เห็นว่า ทุกๆ หนึ่งเหรียญที่ได้รับการสนับสนุนจากภาษีประจำปี ห้องสมุดได้บริหารและก่อให้เกิดประโยชน์ทางตรง

ต่อผู้ใช้บริการเป็นมูลค่ามากกว่า 4 เหรียญ จากคำกล่าวด้านบนทำให้เห็นว่า ในประเทศที่เจริญแล้วมักเห็นความสำคัญ ของการมีห้องสมุด ซึ่งนำมาอธิบายในเรื่องการลงทุนสำหรับการพัฒนาห้องสมุด โดยจะเห็นว่า เงินทุกเหรียญที่ผู้ใช้บริการจ่ายภาษีและเป็นงบประมาณในการพัฒนาห้องสมุด ห้องสมุดจะตอบแทนกลับคืนเป็น 4 เท่า ผลตอบแทนที่ว่านี้อาจจะไม่ได้ตอบแทนเป็นเงินกลับสู่กระเป๋าผู้ใช้บริการหรอกนะครับ แต่เป็นการตอบแทนในเรื่องของการพัฒนาสื่อต่างๆ และพัฒนาการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการมากกว่า เช่น

-ไม่ต้องซื้อหนังสืออ่านเอง เพราะมาอ่านและยืมได้ที่ห้องสมุด
-ไม่ต้องซื้อนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์เอง เพราะมาอ่านได้ที่ห้องสมุด
-ไม่ต้องซื้อสื่อมัลติมีเดียเอง เพราะมาดู มาชม มาฟังได้ที่ห้องสมุด
-มานั่งเล่นคอมพิวเตอร์ มาค้นข้อมูลได้ที่ห้องสมุด

ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการวัดผล ประเมินความคุ้มค่า และผลตอบแทนของห้องสมุดออกมาเป็นตัวเลขที่เห็นชัดเจน ซึ่งจากบทสรุปของ เกลน ฮอลท์ ทำให้ทราบว่าบางแห่งให้ผลตอบแทนมากถึง 6 เหรียญ หลายคนคงสงสัยว่าตัวเลขในการคำนวณความคุ้มค่าเขาวัดจากไหน ผมจึงขอยกตัวอย่างสักเรื่องนะครับ “ในปี 2010 ห้องสมุดแห่งหนึ่งมีผู้ใช้บริการจำนวน 3.5 ล้านคน และมีจำนวนการยืมสื่อในห้องสมุดจำนวน 6.4 ล้านรายการ หากตรวจสอบข้อมูลดูแล้วจะพบว่าหากผู้ใช้บริการจ่ายเงินเพื่อซื้อสื่อเหล่านี้ พวกเขาจะต้องจ่ายเงินมากถึง 378 เหรียญต่อคน” นอกจากนี้ ยังมีโปรแกรมในการคำนวณ ผลตอบแทนของห้องสมุดด้วย ซึ่งห้องสมุดต่างๆ ก็เพียงแค่กรอกข้อมูลลงในแบบฟอร์มต่างๆ แล้วให้โปรแกรมคำนวณออกมาก็จะรู้แล้วครับว่า ห้องสมุดตอบแทนผู้ใช้บริการคืนกลับมาเท่าไหร่ สำหรับเมืองไทยเองเราก็น่าจะมีการวัดผลความคุ้มค่าของการมีห้องสมุด แบบนี้บ้างก็ดีนะครับ

หอสมุดกลางซีแอตเติล (Seattle Public Library) คือหนึ่งในประจักษ์พยานที่โดดเด่นที่สุดในยุคนี้ซึ่งในโปรแกรมการท่องเที่ยวสหรัฐอมริกาโดยเรือสำราญของบริษัททัวร์แห่งหนึ่งระบุว่าห้องสมุดย่านดาวน์ทาวน์แห่งนี้เป็นหนึ่งในไฮไลต์ของการเที่ยวชมเมืองซีแอตเติล ด้วยผลงานทางสถาปัตยกรรมที่น่าทึ่งแห่งยุค ออกแบบโดย เรม คูลฮาร์ส สถาปนิกชาว ฮอลแลนด์ มีเก้าอี้หลากสีสัน พื้นไม้ไผ่และโครงเหล็ก พรมที่ทำเป็นรูปต้นไม้ มีงานศิลปะอยู่ในเกือบทุกๆ จุด วัสดุตกแต่งภายใน เป็นวัสดุที่สามารถทดแทนได้และเกิดจากการผลิตที่ไม่เป็นพิษต่อธรรมชาติ (Sustainable Materials) ร้อยละ 32 ของนักท่องเที่ยวที่ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าห้องสมุดประชาชนคือ “เหตุผลแรก” ของพวกเขาในการมาเยือนย่านดาวน์ทาวน์ของซีแอตเติล และอีกร้อยละ 55 กล่าวว่า พวกเขาจะแวะเยี่ยมเยือนจุดที่น่าสนใจแห่งอื่นๆ ของเมืองเช่นกัน สถิติล่าสุดของผู้ที่มาเยี่ยมชมห้องสมุดประชาชนกลางซีแอตเติล คือ 12,000 คนต่อวัน ประชากรทั้งหมด 80 เปอร์เซ็นต์ของเมืองมีบัตรห้องสมุด ผู้คนมาที่นี่เหมือนมานั่งพักผ่อนด้วยกิจกรรมที่เปี่ยมไปด้วยปัญญาแต่บรรยากาศเป็นไปอย่างง่ายๆ ไม่เป็นทางการและเคร่งครัดมากเหมือนกับห้องสมุดทั่วๆ ไป ชั้นล่างสุดคือชั้นเด็กเล็กๆ ที่มีกิจกรรมและพื้นที่หลากสีสำหรับเด็กๆ โดยมีที่เล่นและส่งเสียงดังได้ตามสบาย การถือกำเนิดห้องสมุดยุคใหม่ในเมืองต่างๆ ทั่วโลก

หากเมืองไทย จะกลับมาจริงจังกับการพัฒนาห้องสมุดชุมชน ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ให้มีชีวิตชีวาเกิดความกระตือรือร้นเพื่อพัฒนาทักษะใหม่ สร้างความรู้ความสามารถในการทำมาหากิน เพื่อสร้างธุรกิจสร้างชีวิต สร้างโอกาส สร้างอนาคต ก่อเกิดเป็นความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ภายในชุมชนที่สร้างคุณค่า ที่มีความหมายอย่างยั่งยืน ที่จะทำให้ ห้องสมุดชุมชน มีบทบาทเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่นั่นเองครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image