‘อนุดิษฐ์’ ค้านประมูลวงโคจรดาวเทียม เตือน กสทช. ให้ชะลอ จี้ ‘บิ๊กตู่’ เร่งทบทวน

แฟ้มภาพ

‘อนุดิษฐ์’ ค้านประมูลวงโคจรดาวเทียม เตือน กสทช. ให้ชะลอ จี้ ‘บิ๊กตู่’ เร่งทบทวน

เมื่อวันที่ 14 มกราคม น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นกรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดประมูลสิทธิการใช้ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม ในวันที่ 15 มกราคมนี้ ว่า ขอให้ กสทช. ชะลอการประมูลดาวเทียมฯ ออกไปก่อน เนื่องจากตามกฎหมายการพิจารณาการให้สิทธิการใช้ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมนั้น สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ต้องเจาะจงว่าต้องใช้วิธีเปิดประมูลเพียงอย่างเดียว 

“ผมจะยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (ดีอีเอส) เพื่อขอให้เรียก กรรมการ กสทช. เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการดีอีเอส เพื่อให้พิจารณาทบทวน ให้ชะลอการเปิดประมูลการให้สิทธิตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมไว้ก่อน ซึ่งคณกรรมการดีอีเอสสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากอยู่ในขอบเขตของอำนาจตามกฎหมายที่ให้ดำเนินการ” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า การพิจารณาให้สิทธิใช้ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม สามารถทำได้หลายวิธี โดยเสนอใช้วิธีการจัดสรรให้หน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงดีอีเอส เป็นต้น โดยให้สิทธิหน่วยงานรัฐเหล่านี้เพื่อนำไปจัดสรรเพื่อใช้ประโยชน์ที่สอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงฯ หากมีสล็อตที่เหลือก็สามารถนำไปให้เอกชนไปใช้งานโดยใช้วิธีสัมปทานต่อไปได้ 

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด ที่จะต้องพิจารณาเป็นลำดับแรกในการกำหนดเงื่อนไขการให้สิทธิฯ วิธีนี้จะเกิดประโยชน์กับการพัฒนาประเทศ และสร้างรายได้ให้รัฐได้ด้วย  

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า คณะกรรมการ กสทช.ชุดที่ผ่านมาที่มี พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร เป็นประธานกสทช. ก็ได้เคยเปิดประมูลการใช้สิทธิตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมมาแล้วครั้งหนึ่ง และได้มีการยกเลิกการประมูลในครั้งนั้นไป เนื่องจากเห็นว่าจำเป็นต้องทบทวนหลักเกณฑ์การให้ใช้สิทธิวงโคขจรดาวเทียมเป็นวิธีอื่น แต่เหตุใด กรรมการ กสทช.ชุดนี้ เมื่อเข้ามารับตำแหน่ง ยังคงเดินทางตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ กสทช.ชุดเดิมยกเลิกไปแล้ว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบผลการตรวจสอบคุณสมบัติ ประสบการณ์ และความสามารถทางด้านการเงินของผู้ขอรับอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (package) เพื่อเป็นผู้เข้าร่วมการคัดเลือก จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด ทำให้ทั้ง 3 บริษัท มีสิทธิที่จะเข้าร่วมประมูลในวันที่ 15 มกราคม 2566 โดยจะมีการประมูลสาธิต (mock auction) ให้ผู้เข้าร่วมประมูลในวันที่ 14 มกราคม ที่ สำนักงาน กสทช.

สำหรับการประมูลครั้งนี้ ใช้วิธี Sequential Ascending Clock Auction โดยผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องตัดสินใจตามระยะเวลาที่กำหนดในแต่ละรอบ (20 นาที) ด้วยการเคาะซึ่งจะทำให้ราคาสูงขึ้นครั้งละ 5% ของราคาขั้นต่ำ โดยผู้ชนะ คือ ผู้ให้ราคาสุดท้ายสูงสุด อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมประมูลจะไม่ทราบว่าผู้ร่วมแข่งขันรายใดต้องการสิทธิวงโคจรชุดใดและมีความต้องการกี่ชุด รวมทั้งลำดับชุดในการการประมูลนั้น กสทช.จะกำหนดลำดับในวันประมูล เพื่อป้องกันการสมยอมกันระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งการประมูลในลักษณะนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด รวมทั้งรายได้ที่เกิดขึ้นหลังหักค่าใช้จ่ายในการประมูล กสทช.จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินทั้งหมด

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image