ชี้ทิศทางประเทศไทย : เส้นทางไปสู่สังคมรถยนต์ไฟฟ้า

เส้นทางไปสู่สังคมรถยนต์ไฟฟ้า

ชี้ทิศทางประเทศไทย : เส้นทางไปสู่สังคมรถยนต์ไฟฟ้า


ช่วงปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มีความคึกคักอย่างมาก ดูตัวเลขยอดจองจากมหกรรมยานยนต์ที่จัดเมื่อปลายปีแค่งานเดียวมียอดจองเกือบ 6 พันคัน และเชื่อว่าในอีก 2-3 ปีที่จะถึงนี้เราจะเห็นการเติบโตของตลาดรถ EV อย่างมหาศาล โดยดูจะเป็นเรื่องที่สอดคล้องกันระหว่างด้านอุปสงค์ ความสนใจและความต้องการฝั่งผู้บริโภค รวมไปถึงอุปทาน การเรียงคิวเตรียมเปิดตัวของแบรนด์ผู้ผลิตรถไฟฟ้าอีกหลายราย หลายรุ่น หลายราคาที่น่าจะจับต้องได้มากขึ้น

นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการพยายามเปลี่ยนผ่านของตลาดรถยนต์ในประเทศไทยไปยังรถ EV ซึ่งเทียบกับตัวเลขของปีก่อนๆ แล้วสร้างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในเชิงการเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ต้องบอกว่าระยะทางยังอีกยาวไกล เพราะกลไกตลาดของรถ EV ไม่ใช่แค่ว่ามีความสมดุลระหว่างอุปสงค์ อุปทานแล้วตลาดจะโตได้อย่างยั่งยืน ยังมีองค์ประกอบอีกหลายเรื่องที่เราต้องพิจารณา

เราลองไปดูกรณีตัวอย่างของประเทศนอร์เวย์กันครับ ว่าปัจจัยอะไรนอร์เวย์ถึงเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่จะยกเลิกการขายรถยนต์เครื่องสันดาป (ตั้งเป้าไว้ภายในปี 2025 ซึ่งดูแล้วน่าจะเกิดขึ้นเร็วกว่านั้นด้วยซ้ำ) และเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนระหว่างจำนวนรถ EV ต่อประชากรสูงที่สุดในโลกตอนนี้ ทั้งๆ ที่เมื่อ 10 ปีที่แล้วยอดขายรถ EV มีแค่ 3% แต่ตอนนี้กลายเป็นมากกว่า 80% ต่อปีไปแล้ว

Advertisement

สิ่งสำคัญคือ นอร์เวย์มีการสนับสนุนทางสังคมและเศรษฐกิจที่ถูกออกแบบมาให้รถยนต์ EV มีจุดขายที่ผู้บริโภคต้องหันมามอง ในขณะเดียวกันก็ลดกลไกสนับสนุนที่ให้กับรถยนต์สันดาปให้น้อยลงๆ เรื่อยๆ

ตัวอย่างเบื้องต้นที่รัฐบาลนอร์เวย์ให้การสนับสนุนผู้บริโภคที่ใช้รถยนต์ EV คือที่จอดรถสาธารณะฟรี ไม่เก็บค่าใช้จ่าย (ในยุโรปการจอดรถตามที่สาธารณะมักจะมีค่าบริการ) มีการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษสำหรับรถ EV รวมไปถึงภาษีที่ลดหย่อนให้กับผู้ใช้รถ EV ทั้งในส่วนภาษีที่เกิดจากการซื้อขายและภาษีรถยนต์ประจำปี ในขณะเดียวกันกลับไปเพิ่มภาษีนี้ในกลุ่มรถยนต์สันดาป

เมื่อกลไกสนับสนุนดังกล่าวทำหน้าที่ ผู้บริโภคหันมาซื้อรถยนต์ EV กันมากขึ้น โครงสร้างพื้นฐานเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องยอมรับว่านอร์เวย์ทำได้เยี่ยมมาก ถึงแม้ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่จะอัดประจุไฟรถ EV ที่บ้านตัวเอง แต่ด้วยจำนวนสถานีอัดประจุไฟ Fast Charge (ชาร์จไฟรถแบบกำลังสูง อัดประจุไฟได้เร็ว) มากถึงกว่า 5,600 สถานี ครอบคลุมระยะทางกว่า 1,700 กิโลเมตรทั่วประเทศ ณ ขณะนี้ ทำให้ผู้ใช้รถ EV ไม่ต้องกังวัลเรื่องการหาจุดชาร์จรถแต่อย่างใดเลย

Advertisement

ลองมองย้อนมาที่ประเทศไทยบ้าง เราเคยมีมาตรการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ออกมาเมื่อปีที่แล้ว ก็เป็นเรื่องดีครับที่รัฐบาลสามารถกระตุกให้ผู้บริโภคหันมาสนใจรถ EV แต่ผมไม่อยากให้เป็นแค่แทคติคชั่วคราวที่จบแค่นั้น

การที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้จำเป็นต้องมองให้หลากมิติมากกว่าที่จะยื่นส่วนลด ของแถมให้แค่ครั้งเดียว แต่คือนโยบายที่ต่อเนื่องและสอดคล้องกันในระยะยาว ซึ่งผมว่ารัฐบาลอาจจะต้องดูตัวอย่างของนอร์เวย์แล้วมาประยุกต์ใช้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดภาษีที่พูดไว้ข้างต้น หรือจะรวมไปถึงการลดหย่อนภาษีพิเศษประจำปี หากมีการซื้อรถ EV รวมถึงพิจารณาอัตราค่าใช้ไฟพิเศษสำหรับการชาร์จรถตอนกลางคืนที่บ้าน

นอกจากการสร้างความต้องการฝั่ง EV แล้ว ผมคิดว่าภาครัฐก็ต้องทยอยพิจารณาใช้มาตรการที่เพิ่มภาระทางภาษี เพิ่มข้อเสียเปรียบให้กับรถยนต์สันดาปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น เข้มงวดกับการคัดกรองมลภาวะของรถในแต่ละปี เพิ่มค่าตรวจสภาพ การตรวจที่ไม่หละหลวม มีการปรับจริงในอัตราที่สูงขึ้นสำหรับรถยนต์สันดาปที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น

ในส่วนของการลงทุนเพิ่มจุดอัดประจุไฟนั้นก็ยิ่งสำคัญ ไม่มีใครมาเป็นตัวกลางที่สร้างระบบนิเวศที่ win-win ให้กับทุกฝ่าย มีผู้เล่นในตลาดเยอะ แข่งกันขยายสถานีชาร์จของตัวเอง ซึ่งภาครัฐเองน่าจะนำประสบการณ์การทำ PromptPay ที่ภาครัฐสร้างเป็นแพลตฟอร์มการโอนเงินกลาง และเปิดให้ทุกธนาคารพาณิชย์เชื่อมต่อ เป็นการลดภาระการโอนเงินของผู้บริโภค ส่งเสริมสังคมไร้เงินสด ไปสร้างตัวกลางฐานข้อมูลสถานีชาร์จ EV โดยเปิดให้ทุกสถานีชาร์จเชื่อมต่อและจ่ายเงินระหว่างกันได้ผ่านตัวกลางนี้ ซึ่งลดความจำเป็นที่จะต้องสมัครหลายแอพพลิเคชั่น และเอื้อรายย่อยให้เปิดสถานีชาร์จได้ โดยไม่ต้องลงทุนในการทำแอพพ์แพลตฟอร์มใหม่เอง

กลไกการสนับสนุนภาคเอกชนที่จะมาช่วยสร้างระบบนิเวศตรงนี้ให้สมบูรณ์ก็ต้องมีบ้าง บทบาทของรัฐบาลในการจับมือกับรัฐภาคีสนับสนุน และช่วยเอกชนเจรจาต่อรองซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นในการสร้างโครงข่ายจุดอัดประจุไฟในแบบบูรณาการ เป็นไปได้ไหม แทนที่จะให้เอกชนต่างคนต่างคุยตามดีลเล็กๆ ของแต่ละคน

เรื่องเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้เราต้องมานั่งคิดกันจริงจัง เพื่อขยายการใช้รถยนต์ EV ให้เป็นไปได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งมีผลกระทบยาวต่อเนื่องไปยังเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น มลพิษ ความรู้ความสามารถของคนไทย สถาบันศึกษาเองก็จะถูกบังคับให้ปรับตัวให้เร็วยิ่งขึ้น

 

#Thailand #ThisIsOurFuture

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image