อัพเดตอีวี ออน เทรนอัพเกรด ‘รถไฟ’ รักษ์โลก

อัพเดตอีวี ออน เทรนอัพเกรด ‘รถไฟ’ รักษ์โลก

เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือสถานีกลางบางซื่อ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีทดสอบการใช้งานรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบอีวี ออน เทรน (EV on Train) เป็นครั้งแรกของไทย
การทดสอบในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

นับเป็นข่าวดีที่ประเทศไทยสามารถประกอบติดตั้งระบบแบตเตอรี่สำหรับหัวรถจักรรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าเองได้ การทดสอบครั้งนี้ใช้หัวรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ลากจูงขบวนรถโดยสารขึ้นมาบนสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถือว่าประสบความสำเร็จเรียบร้อยดี ซึ่งการรถไฟฯจะพิจารณานำไปลากจูงรถโดยสารและรถสินค้าในโอกาสต่อไป

การทดสอบการใช้งานรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train เพื่อใช้ในระบบสับเปลี่ยนขบวน (Shunting) เป็นไปตามนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะด้วยการนำเทคโนโลยียานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (อีวี) แทนที่ยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของกระทรวงคมนาคม

รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในแผนการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพ การให้บริการและสร้างรายได้ของการรถไฟฯ ถือเป็นรถจักรพลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ คุณภาพสูง ที่ผลิตโดยคนไทย

Advertisement

ในระยะแรกการรถไฟฯจะนำรถจักรดังกล่าวมาใช้ลากเป็นบริการรถสับเปลี่ยน ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อลดมลพิษในอาคารสถานีชั้นที่ 2 จากขบวนรถโดยสารทางไกล ที่ยังเป็นรถไฟดีเซล จากผลการทดสอบของ รฟท. สามารถลากขบวนรถจากย่านสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไปที่ชานชาลาสถานีที่ชั้น 2 ได้ 12 เที่ยว ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ระยะเวลาการชาร์จจนแบตเตอรี่เต็มประมาณ 1 ชั่วโมง

จากนั้นในระยะต่อไป จะทดลองวิ่งในระยะทางใกล้ เช่น ขบวนรถโดยสารชานเมือง ระยะทางประมาณ 30-50 กิโลเมตร (กม.) และระยะทางที่ไกลมากขึ้น เช่น ขบวนรถข้ามจังหวัด ระยะทางประมาณ 300 กม. และขบวนรถขนส่งสินค้า จาก ICD ลาดกระบัง ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น

ขณะนี้จุดชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าดำเนินการติดตั้งที่บริเวณย่านบางซื่อ และในอนาคตมีแผนจะติดตั้งจุดชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่สถานีอื่นๆ เพิ่ม เพื่อชาร์จไฟตามแนวเส้นทางรถไฟต่อไป รองรับการใช้หัวรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่จะพ่วงไปกับขบวนรถโดยสาร

Advertisement

ก่อนหน้านี้ได้ทำการทดสอบลากจูงขบวนรถในระยะใกล้ เส้นทางวิหารแดง-องครักษ์ (ไป-กลับ) ระยะทาง 100 กม. มาแล้ว นอกจากนี้ ยังทดสอบวิ่งรถจักร Battery ตัวเปล่าคันเดียว รวมทั้งการลากขบวนรถโดยสารขึ้นและลงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยใช้ความเร็วตลอดการทดสอบเฉลี่ย 25 กม./ชม. เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี

ปัจจุบันมีรถต้นแบบที่อยู่ระหว่างการทดสอบ 1 คัน ซึ่งจะต้องทดสอบให้ครอบคลุมถึงความปลอดภัยทุกด้าน ทั้งระบบเบรก และแรงปะทะในกรณีที่เกิดเหตุต่างๆ

เบื้องต้นกระทรวงคมนาคมมีแผนจะจัดหาหัวรถจักรอีวีมาให้บริการ 50 คัน ภายในปีนี้ หากการทดสอบรถต้นแบบประสบผลสำเร็จด้วยดี ทั้งนี้ เพื่อยกระดับบริการรถไฟแก่ประชาชน ลดมลพิษทางอากาศ อีกทั้งหัวรถจักรไฟฟ้ายังลดต้นทุนได้สูง 40-60% หากเทียบกับหัวรถจักรดีเซลในปัจจุบัน

“ศักดิ์สยาม” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เรื่องงบประมาณยังไม่ได้มีการประเมินเป้าหมายการจัดหาหัวรถจักรอีวี ทั้งหมดจะเป็นมูลค่าเท่าไร แต่ในช่วงของการเริ่มพัฒนา เป็นการร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาหัวรถจักรอีวี ยังไม่ได้สรุปชัดเจนว่าแต่ละหัวรถจักรอีวีใช้งบประมาณเท่าใด

สำหรับจุดเด่นของรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ดังกล่าว ถูกออกแบบและผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัย และในอนาคตหากจะใช้งานด้วยนวัตกรรมระบบชาร์จ Ultra Fast Charge ในเวลา 1 ชม. ในระยะแรก และ Battery Swapping Station เพื่อการสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ในเวลาไม่เกิน 10 นาที เพื่อลดเวลาการรอชาร์จ และนำมาขยายผลใช้งานในระบบขนส่งได้จริง ถือเป็นก้าวแรกของการรถไฟฯในการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการทดสอบรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train

นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศไทยที่คิดค้นนวัตกรรม และเทคโนโลยีของคนไทยที่ทัดเทียมกับนานาชาติได้อย่างก้าวกระโดด เป็นเทคโนโลยี Zero emission ไม่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลด carbon footprint สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Asian Logistics Hub และตอบสนองนโยบาย Thai First ของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมการผลิต ทดสอบ ประกอบยานยนต์ โดยใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตได้ในประเทศ

ด้าน “อมร ทรัพย์ทวีกุล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรืออีเอ ให้ข้อมูลเสริมว่า บริษัทร่วมกับ CRRC Dalian ผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่จากประเทศจีน ได้รับโอกาสจากกระทรวงคมนาคม โดย รฟท.และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผลักดันนโยบายอีวี ออน เทรน พร้อมร่วมมือกับภาควิชาการ โดยเริ่มทดสอบระบบสับเปลี่ยนขบวน ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยหัวรถจักรไฟฟ้า หรือ MINE Locomotive แบตเตอรี่ขนาด 4.1 MWh สามารถวิ่งได้ระยะกว่า 300 กม. ผสานเทคโนโลยีการอัดประจุ Ultra-Fast Charge ของ EA Anywhere ใช้เวลาชาร์จเพียง 1 ชม.
อีกทั้ง อีเอเล็งเห็นว่าเทรนด์โลกกำลังเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานไฟฟ้า นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของไทยที่จะส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ยกระดับผลิตภัณฑ์โดยฝีมือของคนไทยที่ทัดเทียมกับนานาชาติได้อย่างก้าวกระโดด

“ที่ผ่านมาอีเอได้มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ Green Product ยกระดับการขนส่งด้วยยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งรถโดยสารไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า เรือโดยสารไฟฟ้า และหัวรถจักรไฟฟ้า เพื่อตอบโจทย์การคมนาคมด้าน รถ-เรือ-ราง และจะกลายเป็นนวัตกรรมสำคัญที่จะช่วยสร้างอุตสาหกรรมให้กับประเทศไทยบนพื้นฐานความยั่งยืนให้เดินหน้าพร้อมสร้างความสมดุล ในการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อม” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทอีเอสรุป

ถือเป็นอีกก้าวสำคัญ ที่ภาคเอกชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต (New S-curves) เพื่อพัฒนาประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตามนโยบายภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (บีซีจีโมเดล)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image