ผู้เขียน | สุโชติ ถิรวรรณรัตน์ |
---|
เริ่มปี 2566 ด้วยความหวัง
ท่องเที่ยวดันเศรษฐกิจไทย
บทความ “คิด เห็น แชร์” นี้ ผมจะเขียนถึงคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ที่ได้รับปัจจัยบวกสำคัญต่อเนื่องจากการเปิดประเทศต้อนรับการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย ที่หยุดชะงักไปตั้งแต่วิกฤตการณ์โควิด-19 ปี 2562 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกมาตรการ “Zero Covid” หรือ “โควิดเป็นศูนย์” ของจีน เร็วกว่าที่ทุกฝ่ายคาดการณ์ไว้มาก
การบริโภคภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัวชัดเจนตั้งแต่ 4Q65 จากการกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ และภาวะการใช้ชีวิตประจำวันกลับมาเกือบใกล้เคียงกับภาวะปกติก่อนวิกฤตโควิด-19 รวมทั้งการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวขึ้นมาต่อเนื่องในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของไทย แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนจะยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเต็มที่ เนื่องจากทางรัฐบาลจีนยังคงมาตรการโควิดเป็นศูนย์ในช่วง 4Q65 อย่างไรก็ดีรัฐบาลจีนตัดสินใจยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์และเริ่มเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.66 ที่ผ่านมา ส่งผลบวกเป็นอย่างมากต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย ที่เป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวชาวจีน ล่าสุดฝ่ายวิจัยฯ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ปรับสมมุติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 ขึ้นเป็น 28 ล้านคน (จากเดิมใช้สมมุติฐาน 25 ล้านคน) และปรับคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หรือ GDP ปี 2566 ขึ้นเป็น 4.4% (จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 4.1%) โดยการเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าคาดนี้เอง ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าไทยปีนี้จะมากขึ้นกว่าสมมุติฐานเดิม และจะส่งผลให้ปี 2566 นี้ ไทยจะมีรายได้ดุลบริการสูงถึง 1.69-1.99 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2557-2558
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 ล้านคน จะมีผลให้ GDP เพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 0.28% นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) คาดการณ์ว่า การเลือกตั้งทั่วไปที่คาดจะมีขึ้นในเดือน พ.ค.66 จะช่วยหนุน การบริโภคในประเทศได้อีกราว 0.3-0.4% ของ GDO โดยคาดเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 60,000-70,000 ล้านบาท จะเข้ามาในระบบเศรษฐกิจช่วงก่อนการเลือกตั้ง ทั้งธุรกิจโฆษณา ป้ายโฆษณา ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี แม้ในภาพรวมของเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวเด่น และหนุนให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าไทยอย่างต่อเนื่องทั้งในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องคำนึงถึงในปี 2566 นี้ ก็คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสถาณการณ์เศรษฐกิจในภาพรวมจะดีขึ้นแต่ฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจขนาดเล็กเป็นจำนวนมากยังไม่ได้ประโยชน์ทั่วถึงจากเศรษฐกิจที่กลับมาดีขึ้น มิติของความทั่วถึงและคุณภาพของการเพิ่มขึ้นของรายได้แม้ดีขึ้นแต่ยังห่างไกลไม่เท่าก่อนช่วงวิกฤตโควิด รายได้และกระแสเงินสดของครัวเรือนและธุรกิจขนาดเล็กส่วนมากยังไม่พอต่อการชำระภาระหนี้
ขณะเดียวกันสถานการณ์หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มที่จะย่ำแย่ขึ้น จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งคาดว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% เป็น 1.75% ใน 1Q66 (ไตรมาสแรก 2566) ทำให้ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นตามไปด้วย และซ้ำเติมหนี้ครัวเรือนให้มีความเสี่ยงที่จะตกชั้นเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มากขึ้นในปีนี้ นอกจากนี้แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียจะมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการเปิดประเทศของจีน แต่ในทางกลับกันแนวโน้มเศรษฐกิจของยุโรปมีแนวโน้มถดถอย โดยคาด GDP ยุโรปจะลดลงราว 2% ในปี 2566 ซึ่งสัดส่วนการส่งออกสินค้าไทยไปยุโรปคิดเป็นราว 10% ของมูลค่าส่งออกรวม
ในภาพรวม ผมยังคงประเมินการลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วง 1H66 (ครึ่งปีแรก 2566) ยังมีปัจจัยบวกหนุน โดยเฉพาะปัจจัยในประเทศ อาทิ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการเลือกตั้งทั่วไป ที่จะทำให้เม็ดเงินกระจายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ไปยังภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ นอกจากนี้การที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเด่นกว่าประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศตะวันตก ทำให้คาดว่าเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ ยังมีแนวโน้มไหลเข้าสู่ตลาดทุนไทยต่อเนื่องในช่วง 1H66
อย่างไรก็ดีปัจจัยลบที่รออยู่ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในยุโรปที่เริ่มมีสัญญาณถดถอยตั้งแต่ 4Q65 (ไตรมาส 4/2565) และจะมีแนวโน้มถดถอยมากขึ้นในปีนี้ กดดันบรรยากาศการลงทุนตลาดไทย รวมทั้งผลกระทบด้านลบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ที่คาดจะเริ่มเห็นผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและธุรกิจขนาดเล็กในปี 2566 นี้