
ที่มา | ฉบับพิเศษเฉลิมฉลองตรุษจีน 2566, มติชนรายวัน อาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2566. |
---|---|
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการ 'หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน' |
นับเป็นองค์กรอันมั่นคงเข้มแข็งของคนไทยเชื้อสายจีนผู้ประกอบธุรกิจการค้าอย่างแท้จริง สำหรับ หอการค้าไทย-จีน (Thai-Chinese Chamber of Commerce หรือ Thai CC) ซึ่งยืนหยัดผ่านห้วงเวลากว่า 113 ปี บนแผ่นดินสยาม
ศักราชแล้วศักราชเล่า ผ้านพ้นเรื่องราวมากมาย ฝ่าฟันเหตุการณ์สำคัญ ทั้งสุขและทุกข์ ทั้งรุ่งเรืองและยากเข็ญบนสถานการณ์ทางสังคมเศรษฐกิจเมืองในแต่ละยุคสมัย
ปรากฏนามในยุคแรกตั้งเมื่อพุทธศักราช 2453 ว่า หอการค้าชิโน-สยาม ก่อตั้งโดย สยามพานิชจีนสโมสร ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาทำการค้าในสยามและประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สิงคโปร์ ภายใต้จุดมุ่งหมายสำคัญ คือการสมัครสมานสามัคคี กระชับสัมพันธ์และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยมี เกา เสวียซิว เจ้าของโรงสีข้าว ดำรงตำแหน่งประธานคนแรก

วิทยานิพนธ์เรื่อง สมาคมชาวจีนในกรุงเทพฯ พ.ศ.2440-2488 โดย ปรารถนา โกเมน บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังระบุถึงปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดสมาคมดังกล่าวด้วยว่า การค้าระหว่างเมืองท่าต่างๆ ในภูมิภาคนี้ขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้การติดต่อทางเศรษฐกิจระหว่างสมาคมพาณิชย์จีนในเมืองต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้า
ครั้นเกิดเหตุภัยพิบัติจากพายุไต้ฝุ่นที่ตำบลฉาวซ่าน ทางมณฑลกวางตุ้ง ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2467 เลียว เป่าซาน ประธานหอการค้าไทย-จีน ในขณะนั้นเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเงินช่วยเหลือ ยังความปลาบปลื้มแก่กลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นล้นพ้น ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดการร่วมบริจาคขึ้นทั่วราชอาณาจักร
14 มกราคม พ.ศ.2473 หอการค้าไทย-จีน กราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดที่ทำการแห่งใหม่

3 มิถุนายน พ.ศ.2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พร้อมด้วยพระอนุชา ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินเยือนการค้าไทย-จีน
26 มกราคม พ.ศ.2546 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎร และได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนหอการค้าไทย-จีน โดยมี ดร.บุญทรง ศรีเฟื่องฟุ้ง ประธานหอการค้าไทย-จีนในขณะนั้นเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ
12 ธันวาคม พ.ศ.2558 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานฉลองครบรอบ 105 ปี หอการค้าไทย-จีน
6 ธันวาคม 2562 หอการค้าไทย-จีน ร่วมกับสมาคมคนไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย กราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ใต้ร่มพระบารมี สดุดีมหาจักรีวงศ์ ที่เยาวราช

อีก 1 หน้าประวัติศาสตร์ของหอการค้าไทย-จีน คือการร่วมจัดงานฉลองครบรอบ 60 ปี แห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อ พ.ศ.2552
กว่า 1 ศตวรรษที่ผ่านมา หอการค้าไทย-จีน มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมระหว่าง 2 ชาติ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งยังมีโอกาสให้การต้อนรับผู้นำและบุคคลสำคัญจากสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผู้นำรัฐบาลท้องถิ่นของจีน
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับหอการค้าสิงคโปร์ และหอการค้าฮ่องกง ร่วมเป็นผู้จัดงานชุมนุมนักธุรกิจเชื้อสายจีนนานาชาติที่จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี รวมถึงรับมอบหน้าที่การเป็นสำนักเลขาธิการการประชุมผู้ประกอบการชาวจีนโลก ทั้งยังเป็นสมาชิกของหอการค้าสากลอีกด้วย
สำหรับสมาชิกของหอการค้าไทย-จีนมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ จึงเป็นองค์กรใหญ่ที่มีสมาชิกและกิจกรรมมากมาย สร้างความสามัคคีปรองดองในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีน
ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด แนวนโยบายจุดมุ่งหมายหลักของหอการค้าไทย-จีนในการบริการประเทศชาติและชาวไทยเชื้อสายจีน ส่งเสริมมิตรภาพไทย-จีนนั้นยังคงไม่เปลี่ยน นั่นคือการสนับสนุนและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทย และอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ให้แก่นักธุรกิจจีนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ภายใต้พันธกิจการสืบสานเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษคนรุ่นก่อนที่มุ่งมั่นประกอบธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ขยันอดทน สืบสานประเพณีอันดีงาม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ส่งเสริมความสามัคคีกลมเกลียวในสังคมไทย-จีน ปลูกฝังและสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาหอการค้าไทย-จีนให้เจริญก้าวหน้า สอดคล้องกับการพัฒนาของสังคมและเทคโนโลยี
อีกทั้งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับความร่วมมือระหว่างไทย-จีนในด้านต่างๆ เช่น อุตสาหกรรม SME การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ กระชับมิตรภาพ บนพื้นฐานแนวคิดและวิธีการใหม่ๆ ให้การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและวัฒนธรรม รวมถึงความร่วมมือในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างคุณูปการต่อความสัมพันธ์ไทย-จีน
Thai-CC จากสำเพ็งสู่สาทร ที่ทำการหอการค้าไทย-จีน
ก่อนก่อเกิดอาคารหอการค้าไทย-จีน Thai CC สูง 35 ชั้นตั้งตระหง่านบนถนนสาทรเฉกเช่นวันนี้
หอการค้าไทย-จีน ผ่านการโยกย้ายมาหลายครั้ง ตั้งแต่ยุคแรกซึ่งตั้งสำนักงานในบ้านเช่าย่าน ‘สำเพ็ง’ โดยได้รับการรับรองตามกฎหมาย ต่อมาขอบเขตกิจกรรมที่หอการค้ารับผิดชอบพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว พื้นที่สำนักงานเริ่มไม่เพียงพอ จึงมีการขยับขบายโดยมีแนวคิดจัดซื้อที่ดินและก่อสร้างอาคารสำนักงานของตนเอง
จุดเปลี่ยนสำคัญ คือการย้ายที่ทำการมายังถนนสาทร ที่ตั้งห้างบอมเบย์เบอร์ม่า ของพ่อค้าชาวอังกฤษ มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธี
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สำนักงานของหอการค้าถูกยึดเป็นศูนย์บัญชาการของญี่ปุ่น หอการค้าไทย-จีน ต้องย้ายไปเช่าอาคารบนถนนสี่พระยา เป็นการชั่วคราว

ข้อมูลจาก สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า อาคารดังกล่าวมี 3 ชั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเรอเนสซองส์รีไววัลผสมอิทธิพลจีน โดดเด่นที่มุขหน้าลักษณะคล้ายหอคอย ส่วนบนสุดเป็นแผงประดับรูปโค้งคล้ายแผงทรงระฆังของอาคารดัทช์ หน้าต่างโค้ง ตกแต่งด้วยคิ้วบัวปูนปั้นและมีกันสาดยื่นคลุมหน้าต่างชั้นสองและชั้นสาม ซึ่งเป็นส่วนที่ต่อเติมในช่วงหลัง

หอการค้าไทย-จีน ใช้อาคารงดงามหลังนี้เรื่อยมา กระทั่ง พ.ศ. 2536 ดร.บุญทรง ศรีเฟื่องฟุ้ง ประธานหอการค้าไทย-จีนในขณะนั้น มีวิสัยทัศน์ให้จัดกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อการระดมทุนก่อสร้างอาคาร Thai-CC ให้ใช้ประโยชน์เสถียรสถาวรบนความทันสมัย ตั้งอยู่ด้านหลังของอาคารเดิม
วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2538 หอการค้าไทย-จีน เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้ประกอบการชาวจีนโลกครั้งที่ 3 (The 3rd World Chinese Entrepreneurs convention-WCEC) ซึ่งเป็นทั้งการฉลองครบรอบปีที่ 85 และพิธีเปิดอาคารใหม่พร้อมๆ กัน
ส่วนอาคารหอการค้าไทย-จีนเดิม ได้รับการอนุรักษ์ และกลายเป็นที่ตั้งภัตตาคารบลูเอลเลแฟนท์อันมีชื่อเสียง ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ เมื่อ พ.ศ.2544 เนื่องด้วยเป็นตัวอย่างการปรับใช้สอยของอาคารที่น่าสนใจ ทำให้โบราณสถานยังคงมีประโยชน์ใช้สอย ได้รับการดูแลรักษา และยังคงความมีชีวิตชีวา