ความมั่นคงทางด้านอาหาร อาหารแห่งอนาคต (Future Food) คือพระเอกจริงหรือ

ความมั่นคงทางด้านอาหาร อาหารแห่งอนาคต (Future Food) คือพระเอกจริงหรือ

ความมั่นคงทางด้านอาหาร
อาหารแห่งอนาคต (Future Food) คือพระเอกจริงหรือ

ประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ซึ่งว่ากันสั้นๆ หมายถึง “การเข้าถึงอาหารที่มีอย่างเพียงพอสำหรับการบริโภคของประชาชนในประเทศ อาหารมีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสม”

เท่าที่เห็นข้อมูล จะมีตัวชี้วัดที่เรียกว่าดัชนีวัดความมั่นคงทางด้านอาหารโลก (Global Food Security Index:มี 113 ประเทศที่มีการประเมินจัดทำดัชนี) ซึ่งเรียกได้ว่าประเทศไทยเราทำไม่ได้ดีนัก จากในปี 2021 อยู่อันดับที่ 51 ด้วยคะแนน 64.5 มาในปีที่แล้วเราตกลงมาเป็นอันดับที่ 64 ด้วยคะแนน 60.1 ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเราเป็นประเทศหนึ่งที่มีการส่งออกอาหารจำนวนมาก โดยที่น่าตกใจเลยคือเราแพ้สิงคโปร์ (อันดับ 28) ทั้งๆ ที่ประเทศเขาเป็นเกาะขนาดเล็ก ขาดแคลนพื้นที่ในการเพาะปลูก และจัดเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางด้านศูนย์กลางการค้าและเทคโนโลยีมากกว่าที่จะเน้นด้านเกษตรกรรม

หลายๆ คนบอกว่า Future Food หรืออาหารแห่งอนาคต จะเป็นหนึ่งในหนทางแก้ปัญหาเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารได้อย่างยั่งยืน ผ่านนวัตกรรมใหม่ๆ ผลิตวัตถุดิบใหม่ๆ ที่จะสามารถนำมาปรุงอาหารในรูปแบบใหม่ได้ โดยถ้าหาข้อมูลดู จะเห็นว่าภาครัฐของไทยเราจัดแบ่งแนวคิดของอาหารแห่งอนาคตออกเป็น 4 อย่างด้วยกัน ประกอบด้วย 1) การนำนวัตกรรมองค์ความรู้มาใช้ยกระดับวัตถุดิบผลิตเป็น “อาหารทางเลือก” รูปแบบใหม่ๆ เช่นเนื้อเทียมจากโปรตีนทางเลือก 2) การเพิ่มคุณประโยชน์ทางโภชนาการหรือตัดลดข้อเสียออกจากอาหาร (Functional Food) เช่น นม Lactose Free สำหรับผู้แพ้นมวัว 3) แนวคิดเกษตรอินทรีย์ (Organic Food) อาหารที่ปราศจากสารอันตรายทางเกษตรและการตัดต่อพันธุกรรม และ 4) อาหารทางการแพทย์ (Medical Food) ที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่เหมาะกับโรคภัย ยังมีนอกเหนือจากนี้เช่นอาหารที่เสริมภูมิคุ้มกัน เสริมสภาพจิตใจ การออกแบบโภชนาการเฉพาะสำหรับร่างกายแต่ละคน ฯลฯ

Advertisement

แต่ถ้าลองพิจารณาดูให้ดีๆ จะเห็นว่าเรื่องการนำนวัตกรรมมาพัฒนายกระดับอาหารดังกล่าวอาจจะยังไม่ค่อยใกล้ตัวคนหมู่มากหรือสอดคล้องกับสภาพสังคมเศรษฐกิจของไทยเรา ณ ปัจจุบันเสียเท่าไหร่ เนื่องจากอาหารแห่งอนาคตมักจะมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนและนำมาซึ่งราคาที่สูงกว่าอาหารปกติ อีกทั้งยังเป็นเทรนด์ซึ่งผู้บริโภคที่ “มีกำลังซื้อ” ให้ความสนใจ ส่งผลให้ผู้ผลิตสามารถตั้งราคาที่สูงกว่าได้ ซึ่งถ้าเราลองไปเดินดูตามซุปเปอร์มาร์เก็ตก็จะเห็นได้ชัดเลยทีเดียว

ดังนั้น สำหรับผมเองแล้ว ไม่แน่ใจว่าแนวคิดของอาหารแห่งอนาคตด้านต้นจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศเราได้จริงๆ เพราะดูเหมือนจะเป็นเพียงแค่แนวคิดในการสร้างอุปทานใหม่ๆ เพียงด้านเดียว เป็นเพียงแค่ “ตัวเลือก” ที่เพิ่มขึ้นมาสำหรับคนบางกลุ่มที่มีความมั่งคั่งพอที่จะเข้าถึงอาหารแห่งอนาคตเหล่านั้นได้ ยังมิได้ตอบโจทย์ของคนหมู่มาก

ลองมาดูตัวเลขอีกอันซึ่งสื่อถึงความจริงที่ใกล้ตัวกันบ้าง จากรายงานของธนาคารโลก เขาบอกว่าราคาค่าอาหารที่ดีต่อสุขภาพและปลอดภัยเฉลี่ยต่อวันสำหรับกลุ่มประเทศรายได้ต่ำจะอยู่ที่ประมาณ 109 บาทต่อวัน ในขณะที่ตัวเลขของประเทศไทยเมื่อ 3 ปีก่อนบอกว่าเส้นความยากจนของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 90 บาทต่อคนต่อวัน ดังนั้น เราจะเห็นว่ากลุ่มคนไทยที่เปราะบางกลุ่มนี้หมดสิทธิที่จะเข้าถึงอาหารที่ถูกสุขภาพไปเรียบร้อยแล้วประมาณ 4.8 ล้านคน (ตัวเลขปี 2563)

Advertisement

นอกจากนี้แล้ว ความจริงที่ย้อนแย้งและน่ารันทดก็คือ เกษตรกรไทยคือคนหมู่มากที่อยู่บนเส้นความยากจนของไทย ซึ่งกลายเป็นว่าผู้ผลิตอาหารเองนั่นแหละที่กลับไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ มีโภชนา และมีความปลอดภัย ตามความหมายพื้นฐานเรื่องความมั่นคงทางอาหารได้

สำหรับประเทศที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงอย่างประเทศไทย ก่อนที่เราจะทุ่มทรัพยากรไปที่นวัตกรรมการพัฒนาอาหารแห่งอนาคต ซึ่งผมว่าเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนบางกลุ่มที่มีความมั่งคั่ง แต่อยู่บนความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารของคนเปราะบางอีกจำนวนมาก ผมว่าเรามาโฟกัสที่เรื่องใกล้ๆ ตัวก่อนอย่างเรื่องของการเพิ่มประสิทธิผลในการทำเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มผลผลิตพืชผลและลดต้นทุน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร เราอาจต้องเริ่มมองเรื่องการนำเทคโนโลยีที่จับต้องได้มาใช้ เช่นเครื่องมือการพยากรณ์โรคพืชต่างๆ เครื่องกระจายน้ำอัตโนมัติ รวมไปถึงการส่งเสริมด้านการวิจัยค้นคว้าเพิ่มเติม

ซึ่งการจะผลักดันให้เกษตรหันมาใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ก็ต้องพึ่งพิงองค์ประกอบอื่นๆ เช่น เสนอสินเชื่อให้เกษตรกรในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยให้พวกเขาเปลี่ยนไปสู่รายได้ที่สูงกว่าปัจจุบัน รวมไปถึงการกระจายเทคนิคทางการเกษตรที่ดีขึ้น โดยรัฐอาจจะดึงสถาบันศึกษาและหน่วยงานเอกชนชั้นนำต่างๆ มาช่วยตรงนี้เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น

คำจำกัดความของความมั่นคงทางอาหารที่ว่า “ต้องเข้าถึงอาหารที่มีอย่างเพียงพอสำหรับการบริโภคของประชาชนในประเทศ อาหารมีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสม” ก็เหมือนเรื่องอื่นๆ นั่นแหละครับที่ต้องเน้นเรื่องพื้นฐานก็คือ “การเข้าถึง” อย่างเหมาะสม เท่าเทียม เสมอภาค ถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้ตรงกัน ยังไม่ต้องไปลงทุนกับอาหารแห่งอนาคตอะไรมากมายหรอกครับ

#Thailand #ThisIsOurFuture

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image