จอดป้ายประชาชื่น : ดอดขึ้นค่าไฟไม่บอกประชาชน!!

จอดป้ายประชาชื่น : ดอดขึ้นค่าไฟไม่บอกประชาชน!! เมื่อวันที่ 18 มกราคม

จอดป้ายประชาชื่น : ดอดขึ้นค่าไฟไม่บอกประชาชน!!

เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้ามกราคม-เมษายน 2566 สำหรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) เรียกเก็บ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยกลุ่มเปราะบาง ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ประมาณ 19.66 ล้านราย ประกอบด้วย จำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ตั้งแต่ 1-150 หน่วย ส่วนลดค่าไฟฟ้า 92.04 สตางค์ต่อหน่วย และจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ตั้งแต่ 151-300 หน่วยส่วนลดค่าไฟฟ้า 67.04 สตางค์ต่อหน่วย วงเงินช่วยเหลือประมาณ 7,500 ล้านบาท

อ่านแล้วฉงนสงสัย ทำไมแยกผู้ใช้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1-150 หน่วย กับ 151-300 หน่วย ที่สำคัญส่วนลดไม่เท่ากัน กลุ่ม 151-300 หน่วย จ่ายแพงกว่า!!

พบข้อมูลน่าตกใจ สรุป กบง.ช่วยกลุ่มเปราะบาง แต่ลดการช่วยเหลือกลุ่ม 151-300 หน่วย และเลิกช่วยกลุ่ม 301-500 หน่วย เท่ากับว่ากลุ่มนี้ต้องจ่ายเต็มจำนวนกับค่าไฟอัตราปัจจุบัน 4.72 บาทต่อหน่วย ซึ่งมีจำนวน 2.1 ล้านครัวเรือนเลยทีเดียว

Advertisement

จากต้นทุนค่าไฟย่อมเข้าใจได้ เพราะขนาดกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ครัวเรือน อาทิ อุตสาหกรรม ยังโดนค่าไฟปาไป 5.33 บาทต่อหน่วย (ลดจากเดิม 5.69 บาทต่อหน่วย) แต่ทำไมรัฐบาลไม่บอกความจริงประชาชน ให้เตรียมตัวรับมือเรื่องนี้

ลงลึกถึงเหตุผลมาจากข้อเสนอของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุว่า มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ให้ช่วยเหลือค่าไฟกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟต่ำกว่า 500 หน่วยต่อเดือน ซึ่งบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เสนอให้เพิ่มการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยโดยไม่ผ่านกระบวนการแยกก๊าซของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ (bypass gas) แทนการจัดสรรรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาตินั้น ไม่น่าจะสอดคล้องกับมติ กพช. เพราะเป็นการลดต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติไปยังผู้ใช้ก๊าซทุกราย ไม่ได้เจาะจงกลุ่มเปราะบางโดยตรง แต่หาก กบง.จะดำเนินการช่วยรูปแบบเดิมจะต้องเสนอ กพช.ให้มีมติสั่งการ กกพ.อีกครั้ง

สรุปคือ กกพ.ไม่เห็นด้วย แม้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะพยายามคัดค้านแต่ไม่เป็นผล

Advertisement

นอกจากนี้ กกพ.ยังเสนอแนวทางดูแลค่าไฟ 4 กรณีศึกษา ประกอบด้วย 1.ลดค่าไฟเช่นเดียวกับงวดตุลาคม-ธันวาคม 2566 ใช้วงเงิน 9,700 ล้านบาท 2.ช่วยกลุ่ม 150 หน่วยแรกเท่าเดิม และปรับปรุงกลุ่ม 151-500 หน่วย วงเงิน 8,000 ล้านบาท 3.ช่วยเฉพาะ 300 หน่วยแรก วงเงิน 7,500 ล้านบาท และ 4.ช่วยครึ่งหนึ่งของกรณีศึกษา 1 วงเงิน 4,800 ล้านบาท

ก่อนจะเคาะที่กรณี 3 เพราะวงเงินช่วยเหลืออยู่ในความสามารถที่ ปตท.จ่ายได้ คือ 4,000 ล้านบาท และกระทรวงพลังงานของบกลางอีก 3,500 ล้านบาท หากกระทรวงพลังงานอยากช่วยทั้งหมดก็ทำไม่ได้อยู่ดี เพราะใช้เงินถึง 9,700 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงพลังงานพยายามบากหน้าของบกลางถึง 5,700 ล้านบาทแล้ว แต่ถูกปฏิเสธ

กบง.จึงจำยอมต้องมีมติตามที่ กกพ.เสนอ คือ ช่วยค่าไฟกลุ่มเปราะบางบางส่วน พร้อมขึ้นค่าไฟแบบที่ประชาชนเองก็ไม่รู้ตัว!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image