‘แลนด์ลอร์ด’ แห่จำแลงที่ดิน ตะลึงนำที่ร้างติด ’บีทีเอสบางหว้า’ เลี้ยงวัว เลี่ยงจ่ายภาษีแพง

‘แลนด์ลอร์ด’ แห่จำแลงที่ดิน ตะลึงนำที่ร้างติด ’บีทีเอสบางหว้า’ เลี้ยงวัว เลี่ยงจ่ายภาษีแพง

ยังคงมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ สำหรับการแปลงสภาพที่ดินรกร้างว่างเปล่าใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ให้เข้าเกณฑ์ที่ดินเกษตรกรรม เพื่อจ่ายภาษีในอัตราที่ถูกลงจาก 0.3% เหลือ 0.01%

โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ซึ่งกำหนดพืช 51 ชนิด และสัตว์อีก 9 ชนิด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าจากเกณฑ์ดังกล่าวทำให้ ”แลนด์ลอร์ด-เจ้าสัว” มีที่ดินจำนวนมากในมือนอกจากแบ่งที่ดินเป็นแปลงย่อยและแตกบริษัทลูกกระจายถือครองที่ดินแล้ว ยังนำที่ดินในเมืองมูลค่าสูงจากที่รกร้างมาจำแลงหลากหลายรูปแบบเพื่อลดภาระ

ไม่ว่าปลูกกล้วย มะนาว มะม่วง ในย่านเกษตร-นวมินทร์ เพลินจิต สาทร พระราม 9 รัชดาภิเษก เทียมร่วมมิตร สะพานควาย ย่านเจริญนครติดแม่น้ำเจ้าพระยา ทำตลาดนัด ปล่อยเช่าระยะสั้น ระยะยาวและปักป้ายขาย

Advertisement

นอกจากนี้ มีลงทุนเลี้ยงวัวเพียง 1 ตัว โดยสร้างพื้นที่คอก หรือเรือนนอน ขนาด 7 ตารางเมตรต่อตัว ก็เท่ากับเป็นการใช้ที่ดิน 5 ไร่ เป็นที่ดินเกษตรกรรม โดยมีให้เห็นแล้วบนที่ดินเปล่าติดสถานีบางหว้ารถไฟฟ้าบีทีเอส นับเป็นย่านทำเลทอง เพราะเป็นจุดเชื่อมต่อของรถไฟฟ้า 2 สาย ทั้งบีทีเอสและสายสีน้ำเงิน

ว่ากันว่าภายในปี 2566 นี้คงจะมีให้เห็นการปรับพื้นที่ร้างที่ยังคงมีอยู่ 131,793 แปลงมากขึ้นเรื่อยๆ ให้รับกับการเสียภาษีอัตราใหม่ในปี 2567 หลังอัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบันจะครบกำหนดในปีนี้แล้ว

Advertisement

ประกอบด้วย 1.ที่ดินเกษตรกรรม จัดเก็บ 0.01-0.1% 2.ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย จัดเก็บ 0.02-0.1% 3.ที่ดินอื่นๆ เช่น การพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม จัดเก็บ 0.3-0.7% และ 4.ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์จัดเก็บ 0.3-0.7% หากยังไม่มีการใช้ประโยชน์ใน 3 ปี จะเก็บเพิ่ม 0.3% รวมเป็น 0.6%

ซึ่งอัตราดังกล่าวยังไม่เต็มเพดานที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ 1.ที่ดินเกษตรกรรมอยู่ที่ 0.15% 2.ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยอยู่ที่ 0.3% 3.ที่ดินอื่นๆ เช่น พาณิชยกรรมอยู่ที่ 1.2% และ 4.ที่ดินรกร้างว่างเปล่าอยู่ที่ 1.2%

ส่วนอัตราใหม่จะใช้ในปี 2567 จะเป็นเท่าไหร่ รอกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยทบทวนอัตราอีกครั้งเพื่อให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image