‘สมโภชน์’ โชว์ยุทธศาสตร์อีเอ ทางรอดวิกฤตพลังงาน

‘สมโภชน์’
โชว์ยุทธศาสตร์อีเอ
ทางรอดวิกฤตพลังงาน

หมายเหตุ – นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรืออีเอ ร่วมเสวนาในหัวข้อ เดินหน้า New S-curve ซึ่งเป็นหนึ่งในเวทีเสวนาใหญ่ก้าวสู่ปีที่ 46 “Thailand : New Episode บทใหม่ประเทศ 2023” จัดโดยเครือมติชน ที่ห้องอินฟินิตี้ 1-2 โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์


ทุกคนน่าจะเห็นภาพแล้วว่าประเทศไทยตอนนี้กำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความลำบากมากๆ เพราะบุญเก่าที่มีกำลังจะหมดไป ทำให้ในอีกไม่กี่ปีนี้ ไทยยังไม่สามารถทำอะไรได้แบบเป็นชิ้นเป็นอัน อาจเห็นลูกหลานไม่สามารถมีโอกาสได้เหมือนกับรุ่นของเรา เหมือนอย่างตัวเองที่เกิดมาแล้วเห็นเลยว่าเต็มไปด้วยโอกาส แต่ตอนนี้ความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ ไม่ได้มีโอกาสเหมือนที่เคยเห็นมาในอดีต แต่สิ่งที่พยายามจะบอก คือ ในวิกฤตมีโอกาสเสมอ หากสามารถมองภาพออกทั้งในอุตสาหกรรม หรือเศรษฐกิจ จะทำให้เห็นภาพว่ามีโอกาสตรงไหน แต่หากมีวิกฤตที่ต้องปรับปรุง จะสามารถเข้าไปอยู่ในจุดนั้นได้อย่างไร

ยกตัวอย่างวันที่บริษัทเติบโตขึ้นมานั้น ภาพรวมอุตสาหกรรมของไทยช่วงนั้น มีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เหลือเฟือมาก มีกำลังการผลิตที่มาก
กว่าความต้องการ (ดีมานด์) เป็น 10% ถือเป็นการดำเนินนโยบายในการวางแผนพลังงานที่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นสาเหตุของค่าไฟฟ้าในไทยวันนี้มีราคาแพง รวมถึงพึ่งพาพลังงานจากก๊าซธรรมชาติมากเกินไป ถือว่าเราโชคไม่ดีที่ต้องเจอสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นผลของการนำเข้าเป็นจำนวนมาก หากจะกลับมาพัฒนาในอ่าวไทยก็ต้องใช้เวลา เป็นสิ่งที่กำลังจะบอกว่า ค่าไฟฟ้าจะไม่ลดลงง่ายๆ ก็คือ ต้องใช้ของแพงไปก่อน จนกว่าจะสามารถนำพลังงานที่ผลิตจากในประเทศมาใช้ได้

Advertisement

ราคาพลังงานในประเทศไทยยังไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง เพราะโครงสร้างการใช้ไฟฟ้าไม่ได้เปลี่ยนแปลงมานาน ทั้งที่ผ่านมากว่า 20 ปีแล้ว รวมถึงโครงสร้างสายส่งของไทยก็ถือเป็นอุปสรรคในการทำให้อุตสาหกรรมเดินไปข้างหน้า เพราะไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลก ที่อุตสาหกรรมการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าแบ่งออกมาเป็น 3 การไฟฟ้า ทำให้ไม่สามารถบูรณาการในการบริหารและผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงในมุมของภูมิรัฐศาสตร์ เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ต้องประเมินภาพใหม่ เพื่อมองหาการดำเนินนโยบายอย่างไร เพื่อให้ได้โอกาสกลับมา

วิธีคิดในการบริหารที่ยังเริ่มจากถูกไปหาแพง แต่ยังไม่ได้มองในภาพใหญ่ ว่าหากนำของแพงมารวมกันอาจถูกกว่าก็ได้ ตรงนี้ขึ้นอยู่กับแนวคิดเดิมๆ ที่มีอยู่ในอุตสาหกรรม ราคาค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นไม่ได้มาจากต้นทุนวัตถุดิบหรือเชื้อเพลิงอย่างเดียว แต่มาจากการที่เรายังไม่ได้บริหารไปให้ถึงจุดเหมาะสมที่สุด เป็นช่องว่างในสังคมไทยด้วย เพราะข้อมูลที่มีอยู่ไม่ได้มีมากเท่าที่ควร และกว่าจะรู้ก็เป็นข้อมูลที่ผ่านไปแล้ว

ปัญหาหลักตอนนี้คือ โลกกำลังเปลี่ยนไป ทำให้จำเป็นต้องใช้พลังงานที่มีความบริสุทธิ์มากขึ้น สาเหตุที่ประเทศไทย มีการเข้ามาลงทุนหรือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) เพียง 1 ใน 3 ส่วนของเวียดนามเท่านั้น สาเหตุหนึ่งคือค่าพลังงานของไทยที่สูงกว่า และไม่มีพลังงานสะอาดให้ใช้ เพราะอุตสาหกรรมใหม่ๆ ต้องการใช้พลังงานสะอาดในการทำธุรกิจ เมื่อไทยไม่มีก็ต้องเลือกไทยเป็นตัวเลือกหลังๆ การที่ไทยมีโรงไฟฟ้าจำนวนมาก แต่เป็นพลังงานฟอสซิล มีราคาที่สูง ถือเป็นอุปสรรคหากไม่มีนโยบายพลังงานที่ชัดเจนว่าจะหลุดจากบ่วงกับดักนี้ได้อย่างไร ถ้าเดินเหมือนเดิมจะทำให้การลงทุนไม่เข้ามาประเทศไทย หากประเมินจากสถิติที่ไหลเข้ามาในภูมิภาคอาเซียน กว่า 50% ไหลไปประเทศสิงคโปร์ ทั้งที่แทบไม่มีอะไรเลย หากมองวิกฤตออกก็จะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้

Advertisement

การหาทางออกของวิกฤตพลังงานคือ green diesel bio-jet fuel จะเป็นคำตอบ เพราะจากการวิเคราะห์มาถือว่าดีกว่า โดยบริษัทได้พัฒนาเทคโนโลยีชาร์จเร็ว หรืออัลตราฟาสต์ชาร์จขึ้นมา เพื่อใช้ตอบสนองธุรกิจยานยนต์ขนาดใหญ่ ที่ต้องการการชาร์จแบตเตอรี่แบบรวดเร็วกว่าเดิม อีกด้านคือเรื่องคนจะใช้น้ำมันน้อยลง แต่ถือว่าประเทศไทยจะนำเข้าน้ำมันน้อยลง ไม่ต้องเสียดุลการค้า แต่มีเกษตรกรอีก 2 กลุ่มที่ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง เพื่อเป็นซัพพลายในการผลิตน้ำมันปาล์ม และไบโอดีเซล หากทุกคนหันไปใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น 2 กลุ่มนี้ก็จะเป็นปัญหา ทำให้ต้องเปลี่ยนปัญหานี้ไม่ให้เป็นวิกฤต และหาโอกาสที่มีอยู่ อาทิ บริษัทมีการพัฒนาน้ำมันพืชมาทำเป็นน้ำมันเครื่องบิน หรือน้ำมันที่สามารถใช้ในยานยนต์อื่นๆ ได้ ถือเป็นการใช้ผลิตภัณฑ์ในประเทศที่มีอยู่

ความท้าทายของเศรษฐกิจไทย ที่แม้มีวิกฤตแต่ก็มีโอกาสเช่นกัน เหมือนภาพในสิงคโปร์ ก็เจอแบบไทย แต่เขามีมันสมอง สามารถวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ รู้ว่าควรใช้อะไร ใช้แบบไหน และใช้ตอนไหน เพื่อให้ชนะประเทศอื่น ความท้าทายของไทย มีทั้งความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงทุกวัน ประชากรมีอายุมากขึ้น ภูมิรัฐศาสตร์ และภาวะโลกร้อน จะนำประเด็นนี้มาใช้ในการกีดกันทางการค้า และไทยก็อยู่ในตำแหน่งที่ไม่ดี เพราะใช้พลังงานสะอาดที่สู้ประเทศอื่นไม่ได้ แถมยังมีค่าไฟฟ้าสูงกว่าด้วย

หากแก้ไขเรื่องต้นทุนพลังงานไม่ได้ ไม่มีประเทศไหนมาลงทุนในไทยเพิ่มเติมแน่นอน เพราะต้นทุนเริ่มต้นบรรทัดแรกก็สู้เขาไม่ได้แล้ว หากไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน จะเดินต่อไม่ได้แน่นอน วิธีแก้ไขคือ เริ่มต้นที่แนวคิดก่อน หากยังคิดเหมือนเดิม บริหารเหมือนเดิม ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร จึงต้องมองวิกฤตให้เป็นโอกาส

วิธีที่จะทำให้พลังงานถูกลง คือ การใช้ของที่มีอยู่ แต่ทำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อาทิ การมีข้อมูลแบบเปิดเผยที่เป็นเรียลไทม์ที่สุด จะช่วยให้สามารถบริหารพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากสุด ส่งผลให้ต้นทุนปรับลดลงไปในตัว รวมถึงการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น อาทิ การใช้พลังงานจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ถ้าเปิดให้มีการซื้อขายได้อย่างเสรีมากขึ้น เพราะไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มีราคาถูกมาก รวมถึงต้องส่งเสริมพลังงานไบโอเจทด้วย เพื่อไม่ให้กระทบกับพืชชีวภาพ หากเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ได้ จะสร้างโอกาสและทำให้เศรษฐกิจมีความสมดุลมากยิ่งขึ้น

ความจริงประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 มองว่ากำหนดจุดได้ดี รู้ว่าควรโฟกัสอะไร ปัญหาของประเทศอยู่ที่ใด ปัญหามีอยู่อย่างเดียวคือ เป้าหมายที่จะทำนั้นต้องทำอย่างไร เพราะที่ผ่านมามีแผนและเป้าหมายแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการพูดคุยถึงวิธีการเดินไปให้ถึงเป้าหมายเท่าที่ควร เปรียบเทียบกับสิงคโปร์ ที่มีเป้าหมายและวิสัยทัศน์ชัดเจน หากต้องการอะไร จะออกไปหารือและทำให้จบตามเป้าหมายทันที มีกำหนดระยะเวลาไว้ชัดเจน แตกต่างจากประเทศไทยที่ไม่มีตรงนี้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล นโยบายหลักก็มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้หมุดหมายที่วางไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจไม่สามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง

ประเทศไทยไม่สามารถเติบโตตามปกติหรือตามธรรมชาติได้แล้ว เพราะแต่ก่อนมีธรรมชาติที่ดี ประชากรวัยรุ่นที่ดี ความต้องการ (ดีมานด์) ในประเทศยังดีอยู่ ทำให้ไทยมีความหอมหวนมาก และไม่มีคู่แข่ง แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว เพราะประชากรแก่ลง ดีมานด์ในประเทศไม่โต ทำให้โตตามปกติไม่ได้แล้ว ต้องโตแบบอาศัยยุทธศาสตร์ สิ่งที่ต้องมีคือ รัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ ในรูปแบบที่เป็นที่พึ่งพา หรือเป็นส่วนสนับสนุนอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องเป็นส่วนเดินนำด้วย ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก รวมถึงการบอกวิธีทำให้เดินไปถึงเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ชาติได้

อีกเรื่องเป็นตัวเลขเคพีไอที่มองว่ายังไม่ค่อยถูกต้องมากนัก เพราะเดิมมักดูที่ตัวเลขการส่งออกหรือการนำเข้าเท่านั้น แต่ไม่ได้ดูว่าสุทธิแล้ว ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุดเท่าใด อาทิ การผลิตรถยนต์ 1 คัน หรืออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ที่บอกว่า เกิดการจ้างงาน 7 แสนคน รถยนต์ 1 คัน ราคาเป็นล้านบาทนั้น คิดเป็นค่าจ้างแรงงานอยู่ในนั้นไม่เกิน 5,000 บาทเท่านั้นเอง ทำให้ต้องเข้ามาโฟกัสมากขึ้นว่าทำอย่างไรให้เศรษฐกิจ หรือการเติบโตของไทย สามารถหมุนเวียนเงินไปให้คนหรือสังคมได้ประโยชน์มากขึ้น

โดยการแข่งขันระหว่างประเทศต่อจากนี้จะเปลี่ยนแปลงเป็นการเติบโตอย่างสร้างสรรค์ คนที่จะเป็นคนจัดระเบียบก็คือรัฐบาล เราควรต้องหารัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ และกล้าที่จะคิดและทำในสิ่งใหม่ เพื่อก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคในปัจจุบัน โดยเฉพาะคำว่าไทยแลนด์เฟิร์สต์ ทุกคนต้องร่วมมือกัน

เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้ทุกคนตื่นมา หากสามารถข้ามไปได้จะเกิดเป็นนิวไทยแลนด์ทันที หากทำสำเร็จ สิ่งที่จะเห็นคือ ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยจะน้อยลง ความเสี่ยงที่มีอยู่จะหายไปหรือลดลง โอกาสดีๆ จะเหลือให้กับคนรุ่นต่อไป มองว่าคนรุ่นใหม่ที่เริ่มมีการขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้น เป็นเพราะมองไม่เห็นว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ทำให้หากสามารถสร้างตรงนี้ให้เขาได้ สังคมก็จะสงบ คนรุ่นหลังมีอนาคตเมื่อใด ประเทศไทยก็จะเจริญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image