‘ซันสวีท’ ทุ่ม 150 ล้าน ปั้น ‘ไร่ตะวันหวาน’ เวลเนสเซ็นเตอร์ แหล่งท่องเที่ยว เกษตรครบวงจร

‘ซันสวีท’ ทุ่ม 150 ล้าน ปั้น ‘ไร่ตะวันหวาน’ ฮับเวลเนสเซ็นเตอร์ แหล่งท่องเที่ยงเชิงสุขภาพ เกษตรครบวงจร

วันที่ 27 มกราคม นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN ยักษ์ใหญ่ทางด้านอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร กล่าวเปิดการจัดงานวันข้าวโพดหวาน (ครั้งที่7) ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 มกราคม 2566 ที่ผ่านมาว่า บริษัทได้นำพื้นที่ 1,007 ไร่ อำเภอแม่วาง เชียงใหม่ ผุด ‘ไร่ตะวันหวาน’ เพื่อปั้นเวลเนสเซ็นเตอร์ หวังให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพเกษตรกร เรียกว่า ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านเกษตรกร พร้อมขยายพื้นที่ทำเป็นสถานที่พักผ่อน ท่องเที่ยวสุขภาพ-เชิงเกษตรครบวงจร มูลค่าลงทุนมากกว่า 150 ล้าน คาดเปิดเต็มรูปแบบใน 5 ปี

“เรากำลังพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้พร้อมเป็นสนามวิ่งเทรล ทางวิ่ง ทางปั่นจักรยาน แคมป์ปิ้ง ร้านกาแฟ อาหารสุขภาพ แปลงเกษตร ฟาร์มผัก พืชผล โรงเรือนสุดล้ำทางด้านเทคโนโลยี สระหลวงมรกตพื้นที่กว้างกว่าสนามฟุตบอล 7 ไร่ พร้อมสระน้ำรูปข้าวโพดหวานขนาดใหญ่ ลานสันทนาการ จุดเช็คอินแห่งใหม่ที่รายล้อมไปด้วยแนวเขา ‘ดอยอินทนนท์’ พร้อมเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งจะมีทั้งวัดเก่าที่มีเจดีย์ขาวตั้งเรียงรายขึ้นไปตามเนินเขากว่า 200 องค์ เจดีย์ชเวดากอง พระธาตุอินทร์แขวนจำลอง สถานปฏิบัติธรรมตามแนวพุทธศาสนาของชุมชนชาวกระเหรี่ยง”

นายองอาจกล่าวว่า ทั้งหมดกำลังเร่งดำเนินการก่อสร้าง เพื่อยกระดับการทำการเกษตรที่ทันสมัย คือ ทำได้ อยู่ได้ อย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต ทั้งเลี้ยงตัวเอง พนักงาน และลูกไร่ในพื้นที่ภาคเหนือที่ปลูกข้าวโพดป้อนให้โรงงานกว่า 20,000 ราย โครงการใหม่ ณ ไร่ตะวันหวานนี้ จะเป็นโครงการที่ทำรองรับคนรักสุขภาพอย่างแท้จริง โดยเราเป็นแหล่งความรู้ ชูเทคโนโลยี และนำนวัตกรรมทางการเกษตรที่ทันสมัยเข้ามาบริหารจัดการเต็มที่

Advertisement

“สภาพอากาศก็เปลี่ยน เดี๋ยวฝน หนาว แล้ง ผลผลิตขึ้นลงไม่สม่ำเสมอ สงครามก็มี ค่าเงินบาทผันผวน ไม่มีอะไรแน่นอนหรือควบคุมได้เลย SUN จึงอยากสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร ด้วยการสร้างพื้นที่ให้ความรู้ ไม่ใช่การปลูกไปเรื่อยเหมือนอดีต เราจึงต้องสอนวิธีการปลูก ให้เครื่องมือเป็นตัวช่วย สร้างตัวเลือก ทำให้เขามีงานทำ ต้องตั้งคำถามด้วยว่า ปลูกแล้วจะขายใคร ก่อนอื่นเลยต้องรู้ต้นทุน จัดหาแหล่งน้ำ เมล็ดพันธุ์ที่ดี เพื่อผลตอบแทนที่ดีกลับมา และ SUN รับซื้อแน่นอน”

นายองอาจกล่าวว่า ผลประกอบการของ SUN ในปี 2565 อยู่ที่กว่า  2,000 ล้านบาท และปี 2566 คาดว่าจะเติบโตขึ้น 10% จากปีก่อน โดยมีการแปรรูปข้าวโพดเป็นรายได้หลัก คือ ข้าวโพดกระป๋อง ภายใต้แบรนด์ KC จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ จาก 1.2 แสนตันต่อปี เป็น 2 แสนตันต่อปี ในส่วนของผลิตภัณฑ์ Ready to eat กว่า 14 ชนิด กำลังผลิต 80,000-100,000 ชิ้นต่อวัน

Advertisement

เช่น กล้วยหนึบ ถั่วลายเสือต้ม มันหวานญี่ปุ่น ธัญพืชรวม ข้าวต้มมัด ฟักทองย่าง ฯลฯ ที่ส่งขายผ่านร้านค้าปลีก 7-11 ถือเป็นสัดส่วนรายได้ 10% ของผลประกอบการทั้งหมด ถือว่ามีการเติบโตที่ก้าวกระโดด ภายใน 3 ปี โตขึ้นถึง 300% คือ ปีแรก 30% ปีที่สอง 70% ปีที่สาม 150% และคาดว่าจะดีขึ้นอีก ซึ่งตอนนี้บริษัทเพิ่มกำลังผลิตในเรื่องผักสลัด และส่งขายให้ Sizzler ร้านอาหาร และซุปเปอร์มาร์เก็ต

นายองอาจกล่าวว่า แปลงเกษตรภายในไร่ตะวันหวาน จะปลูกข้าวโพดหวาน 400-600 ไร่ ส่วน 100-300 ไร่ เราหันมาปลูกพืชที่ให้มูลค่าสูง ใช้ระยะเวลาสั้น แต่คืนทุนเร็ว คือ ถั่วลายเสือ แตงกวา ถั่วฟักยาวสีม่วงพันธุ์สิรินธรเบอร์ 1 บวบ และ ที่กำลังดีวันดีคืน คือ มะเขือเทศเชอร์รี่ ที่เราดึงนวัตกรรมสุดล้ำจากเนเธอร์แลนด์ มาใช้ในโรงเรือนเนื้อที่ 1,000 ตารางเมตร มูลค่า 6 ล้าน

“ภายในโรงเรือนจะใช้พลังงานน้อยมาก สั่งการผ่านคอมพิวเตอร์ในการให้น้ำและปุ๋ย ควบคุมคุณภาพทุกจุด รวมทั้งอุณหภูมิ และระดับแสง เป็นการปลูกแบบไฮโดรโปรนิก ระยะเวลา 2 เดือน ให้ผลผลิตลูกสีแดงสด กรอบ ความหวานระดับ 7 เก็บเกี่ยวได้นาน 4 เดือน หรือ 350-500 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ได้ราคาดีเพราะมีตลาดรองรับแน่นอน คือ ส่งไปเนเธอร์แลนด์เกือบ 100%”

นายองอาจกล่าวว่า โดยทิศทางในการขยายตัวของ SUN คือ การลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น ขณะนี้เครื่องจักรใหม่ ที่เรียกว่า หม้อฆ่าเชื้อแบบหมุน หรือ Rotary Retort มูลค่า 125 บาท จากประเทศฝรั่งเศสมาถึงแล้ว เป็นหม้อฆ่าเชื้อภายใต้ความดัน ภายในมีกลไกการหมุน บรรจุภัณฑ์ที่ปิดผนึกสนิท เพื่อเร่งการถ่ายเทความร้อน ทำให้มีการเคลื่อนที่ของอาหารภายในบรรจุภัณฑ์ระหว่างการฆ่าเชื้อ ช่วยลดเวลาในการฆ่าเชื้อ ทำให้อาหารมีคุณภาพดีขึ้น ลดการไหลของอาหารในบริเวณที่ติดกับภาชนะ เหมาะกับอาหารเหลวที่เนื้อข้นสามารถฆ่าเชื้อโรคที่มีคุณภาพดีขึ้น ทำให้ต้นทุนพลังงานลดลง ซึ่ง 3 เดือนนับจากนี้จะติดตั้งแล้วเสร็จ

อีกทั้งมีส่วนต่อขยายโรงงานเพิ่มขึ้น เพิ่มผลิตภัณฑ์แช่แข็ง และผลิตภัณฑ์ Ready to eat พร้อมเตรียมลงทุนอีก 30-100 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงบรรจุพืชผักและอาหารสด นอกจากผลผลิตจากไร่แล้ว ก็รับซื้อผลผลิตคุณภาพจากเกษตรกรมาร่วมด้วย และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทุ่มทุน 70 ล้านบาท ทำแปลงเพื่อกำจัดและเก็บเศษวัสดุทางการเกษตรที่เรียกว่า BCG

“ทั้งหมดที่กล่าวมาระหว่างปี 2023-2025 จะลุยเต็มที่ แล้วเสร็จเป็นรูปร่างใน 3 ปี และประสบความสำเร็จภายในเวลา 5 ปี นี่คือเวลาที่ตั้งเป้าไว้ เพราะเชื่อว่า อาหารเพื่อสุขภาพ คือ ความต้องการของคนทั้งโลก เราก็ต้องทำ ‘อาหารของโลก’ เสิร์ฟผู้คน”นายองอาจกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image