ผู้เขียน | อัมพวัน อยู่กระทุ่ม |
---|
‘ดีป้า’ บินลัดฟ้าสู่ญี่ปุ่น
อัพเดตเทรนด์เทคโนโลยี ยุค Society 5.0
เปลี่ยนผู้บริโภค-ธุรกิจในอนาคต
การระบาดของโควิด-19 ไม่สามารถฉุดความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้ และประเทศ “ญี่ปุ่น” ถือเป็นอีกหนึ่งดินแดนแห่งเทคโนโลยีที่ทั่วโลกยอมรับ
ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังพัฒนาเข้าสู่สังคมยุค 4.0 แต่ญี่ปุ่นมุ่งหน้าสู่ยุค Society 5.0 หรือยุค Super Smart Society หรือเรียกง่ายๆ ว่าสังคมที่ฉลาดสุดๆ เพราะเป็นการควบรวมระหว่างโลกทางกายภาพ ซึ่งเป็นโลกที่มนุษย์ใช้ชีวิตผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 เข้ากับโลกเสมือนที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อทุกด้านของชีวิตมนุษย์ เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตอย่างอัจฉริยะ โดยมีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และหุ่นยนต์ เป็นเทคโนโลยีสำคัญในการขับเคลื่อน
ญี่ปุ่น ประกาศนโยบายพร้อมใช้เมื่อปี 2561 เพื่อแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญและอาจสร้างวิกฤตมากขึ้นในอนาคต คล้ายกับไทย คือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและอัตราเกิดลดลง, ภัยธรรมชาติ และคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อมและแหล่งพลังงานที่มีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ภาคธุรกิจพากันปรับตัวอย่างขะมักเขม้น เพื่อเตรียมรับมือ
เมื่อเร็วๆ นี้ ผศ.ดร.ณัฐพล นิมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) พร้อมด้วย ดร.ปรีสาร รักวาทิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ จึงพาสื่อมวลชนบินลัดฟ้า อัพเดตเทรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำ และทบทวนความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับไทยในด้านต่างๆ
โดยเข้าพบ Mr.Tawara Yasuo, Director-General Global Strategy Bureau กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือทับศัพท์คือ โซมุโช หรือ MIC เป็นกระทรวงที่รับผิดชอบในกรอบความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประเทศ เช่น องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ทั้งนี้ ดีป้า และ MIC เคยร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการเปลี่ยนแปลง เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ภายใต้กรอบความร่วมมือการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง เช่น มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชน และชุมชน การร่วมดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างกัน และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้
การเยือนครั้งนี้ จึงได้หารือถึงแนวทางความร่วมมือกันในการส่งเสริมการพัฒนาดิจิทัลสตาร์ตอัพไทยในทุกระยะการเติบโต พร้อมแนะนำโครงการไทยแลนด์ดิจิทัลวัลเลย์ รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่นักลงทุน โดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่นจะได้รับ รวมถึงชักชวน MIC และนักลงทุนญี่ปุ่นร่วมลงทุนในดิจิทัลสตาร์ตอัพ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ รวมถึงความร่วมมือในการจัดกิจกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ต ซึ่งดีป้าจัดเป็นอีเวนต์ใหญ่ในประเทศไทย
ผศ.ดร.ณัฐพลได้กล่าวถึงอีกบทบาทการดำเนินงาน คือ การพัฒนากำลังคนดิจิทัลที่มีทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูง รองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม อาทิ เอไอ, บล็อกเชน รวมถึงพัฒนา Data Science และ Data Engineer ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในภาคอุตสาหกรรม และยังมีแผนจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (National Big Data Institute: NBDi) เพื่อการขับเคลื่อนประเทศด้วยข้อมูล
การมาเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ คณะมีโอกาสได้เยี่ยมชม HarvestX Lab (Future Farming) มหาวิทยาลัยโตเกียว ได้รับฟังจุดเริ่มต้นของ HarvestX และแนวทางการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการเกษตร จาก Mr.Yuki Ichikawa Co-founder/CEO HarvestX Inc.
HarvestX คือหนึ่งในโครงการวิจัยนำร่องของมหาวิทยาลัยโตเกียว เพื่อเพาะปลูกพืชผักผลไม้เป็นอาหารแก่มนุษยชาติ ตอบสนองความต้องการอาหารของโลก โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาประยุกต์ใช้ มีการก่อตั้ง HarvestX Lab เป็นสถานที่สำหรับวิจัยระบบหุ่นยนต์ปลูก “สตรอเบอรี่” อัตโนมัติ โดยการนำข้อมูลต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยีเอไอมาพยากรณ์การเพาะปลูก และใช้หุ่นยนต์ในการผสมเกสร จนถึงขั้นตอนการเก็บผลผลิต ช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตเป็น 83.7% มากกว่าการผสมเกสรโดยธรรมชาติ (ผึ้ง) ที่ได้ผลผลิต 16.6%
ขณะที่รสชาติจากการชิมสตรอเบอรี่จากระบบหุ่นยนต์นี้ คอนเฟิร์มได้ว่า หวานฉ่ำมาก จนต้องปรบมือให้ HarvestX Inc. ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพวิจัย พัฒนาหุ่นยนต์ และซอฟต์แวร์โซลูชั่นด้านการเกษตรสำหรับ Indoor Farming เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2563 มีมูลค่าลงทุนปัจจุบันอยู่ที่ 100 ล้านเยน หรือประมาณ 25 ล้านบาท โดยเริ่มแรก HarvestX เกิดขึ้นใน Hongo Tech Garage ซึ่งเป็นพื้นที่คิดค้นนวัตกรรมสำหรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยโตเกียวกับโจทย์ธรรมดาที่ต้องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อการเกษตร
โดยแนวคิดเกิดขึ้นจากการสัมภาษณ์บุคคลที่อยู่ในกลุ่มผู้ปลูกพืชในระบบปิด หรือ Plant Factory และผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงการทดลองต่างๆ เห็นถึงศักยภาพของกลุ่ม Plant Factory ผู้ปลูกผลไม้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการผสมเกสรสำหรับต้นสตรอเบอรี่ได้เป็นครั้งแรกของโลก ตามด้วย HarvestX Lab ก่อตั้งปี 2564 และยังมีแผนนำโซลูชั่นพร้อมฮาร์ดแวร์ขยายสู่ตลาดต่างประเทศ ภายในปี 2566
กำหนดการต่อไปของคณะดีป้า คือเข้าพบ Mr.Zaif Siddiqi, Director Global Business Business Solution Division, NTT docomo เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างกันในอนาคตด้านการพัฒนา 5G Application และ 6G
NTT docomo ถือเป็นบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และเป็นผู้พัฒนาเครือข่าย 5G ชั้นนำของโลก ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการมากกว่า 73 ล้านรายในญี่ปุ่น ผ่าน Advanced Wireless Networks รวมถึงเครือข่าย LTE ทั่วประเทศ และเครือข่าย LTE-Advanced network ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายที่ล้ำสมัยของโลก
Mr.Zaif เล่าว่า เทคโนโลยี 5G ถือเป็นเสาหลักสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น เอไอ, อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) และคลาวด์ ส่วนสำคัญของ Digital Transformation ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่าง UI หรือย่อมาจาก User Interface คือการออกแบบที่เชื่อมประสานระหว่างผู้ใช้งานกับระบบหรือผลิตภัณฑ์ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่หน้าตาการออกแบบ เช่น การวางภาพ ปุ่ม หรือขนาดตัวอักษร เป็นต้น
และ UX ที่ย่อมาจาก User Experience คือ การออกแบบประสบการณ์ใช้งานเพื่อให้ผู้ใช้เกิดความพึงพอใจสูงสุด เช่น ใช้งานง่าย มีลำดับขั้นตอนชัดเจน เป็นการสร้างความรู้สึกจดจำให้ผู้ใช้งานอยากกลับมาใช้งานอีก
Mr.Zaif เล่าต่อว่า 6G จะถูกพัฒนาและนำมาใช้ในหลายมิติ ซึ่งจะเปลี่ยนคำว่า Smart ในสังคมยุค 5G ไปสู่ Well-being พร้อมประเมินว่า ในปี 2573 เทคโนโลยี 5G และ 6G จะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย
จากนั้นคณะได้เยี่ยมชม docomo FUTURE STATIoN เพื่อเปิดให้สัมผัสประสบการณ์เทคโนโลยี 5G/6G ที่ประยุกต์ใช้งานด้านต่างๆ อาทิ 5G Live Streaming และแนวคิดการใช้เทคโนโลยี 6G เพื่อส่งผ่านประสาทสัมผัส ต่อยอดสู่การทำกายภาพ เป็นต้น
คณะสื่อมวลชนไทยมีโอกาสได้เข้าชม Sony Square พื้นที่จัดแสดงเทคโนโลยี ณ สำนักงานใหญ่ Sony Group Corporation พร้อมรับฟังแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเกมจาก Sony Interactive Entertainment (SIE) บริษัทในเครือ SONY ผู้ดูแลรับผิดชอบแบรนด์ PlayStation รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ โดยผู้แทนจาก Sony Interactive Entertainment ได้นำเสนอความเป็นมาขององค์กร กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ต โดยเฉพาะการจัด E-SPORTS Tournament ในเกมลีกใหญ่ระดับโลก อาทิ Playstation Tournament, EVO, FIFA NBA LEAGUE และ CAPCOM ProTour ฯลฯ และยังนำเสนอ แพลตฟอร์มเทคโนโลยีอย่าง Repeat.gg ที่ SIE ประกาศเข้าซื้อกิจการ
Repeat.gg คือแพลตฟอร์มเกมคอมมิวนิตี้ที่มาพร้อมบริการต่างๆ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ต อย่างการจัดทำ Leader Board และการจัดทัวร์นาเมนต์แข่งขัน เป็นต้น ปัจจุบัน Repeat.gg จัดการแข่งขันไปมากกว่า 1 แสนทัวร์นาเมนต์ รองรับการจัดการแข่งขันเกมจากหลากหลายค่ายเกม มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 2.3 ล้านคน
ทั้งนี้ ผศ.ดร.ณัฐพลได้ร่วมแลกเปลี่ยนแผนการดำเนินงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ตในประเทศไทย โดยดีป้าได้ดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพของนักพัฒนาเกม การส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพด้านอีสปอร์ต รวมถึงได้แลกเปลี่ยนกับ SIE ถึงแนวคิดการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคด้านการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ต และหารือแนวทางความร่วมมือในอนาคต
เนิ่นนานกว่าจะได้อัพเดตเทรนด์เทคโนโลยีและประสบการณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟแบบนี้ จึงอดสงสัยไม่ได้ว่า เทคโนโลยีในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร โลกจะเปลี่ยนขนาดไหน สิ่งที่เคยเห็นจากภาพยนตร์ที่พูดถึงอนาคต พร้อมสิ่งประดิษฐ์สุดล้ำนั้นจะมีอะไรที่เป็นไปได้บ้าง โดยเฉพาะอนาคตอันใกล้ที่เทคโนโลยีคืบคลานเข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์เพิ่มขึ้น จะเป็นตัวเร่งให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านวิถีชีวิตและระบบต่างๆ ช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดและพัฒนาไปไกลกว่าเดิม จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ได้เกือบทุกด้านขนาดไหน
จะเกิดการกระจายเทคโนโลยีให้เข้าถึงคนได้ทุกกลุ่มเพื่อทำให้อนาคตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กันอย่างทั่วถึง ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่…ต้องติดตาม