วันนี้ ‘กกร.’ บุกหารือ ‘กกพ.’ เจาะลึกลดค่าไฟ ชี้งวดใหม่ต้องต่ำกว่า 5 บาท

วันนี้ ‘กกร.’ บุกหารือ ‘กกพ.’ เจาะลึกลดค่าไฟ ชี้งวดใหม่ต้องต่ำกว่า 5 บาท

เมื่อวันที่ 31 มกราคม คณะทำงานค่าไฟฟ้าของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย จะหารือกับ นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) รวมทั้งตัวแทนจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อหาทางออกปัญหาค่าไฟแพง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 มกราคม นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า วันที่ 31 มกราคมนี้ คณะทำงานค่าไฟฟ้าของ กกร.จะไปหารือกับสำนักงาน กกพ. รวมทั้งตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะพิจารณาเจาะลึกร่วมกันในการคำนวณค่าไฟฟ้าแปรอัตโนมัติ หรือเอฟที ในงวดที่เหลือของปี 2566 หรือตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ธันวาคมนี้

“ที่ผ่านมา กกพ.เคยหารือร่วมกับ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แต่ครั้งนี้ภาคเอกชนจะคุยกับ กกพ.และหน่วยงานเกี่ยวข้องแบบเจาะลึก หาแนวทางทำให้ต้นทุนการผลิตค่าไฟฟ้าปรับลดลง จะดูปัจจัยทั้งต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การจ่ายหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะดูว่าจุดไหนที่ปรับลดลงได้อีกเพื่อให้ทุกฝ่ายมีทางออกร่วมกัน” นายอิศเรศกล่าว

นายอิศเรศกล่าวว่า กรณีค่าไฟงวดใหม่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ที่ระบุว่าหากสมมุติฐานต่างๆ ไม่เปลี่ยนแปลงจากที่คาดการณ์ในงวดก่อน อัตราค่าไฟฟ้าจะอยู่ในระดับ 5.24 บาทต่อหน่วยนั้น เอกชนมองว่าสูงเกินไป ค่าไฟงวดใหม่ไม่ควรเกิน 5 บาทต่อหน่วย เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ในการคำนวณค่าไฟงวดใหม่ปรับลดลงต่อเนื่อง อาทิ ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากก่อนหน้านี้ 37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เหลือ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทำให้ต้นทุนถูกลง รวมทั้งราคาก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจีเหลือ 20 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จากที่ผ่านมาราคาเคยสูงถึง 50 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู

Advertisement

ด้าน นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่มีการหยิบยกกรณีเวียดนามเก็บค่าไฟฟ้าแค่ 2.50 บาทต่อหน่วย ถูกกว่าไทยที่เก็บ 4.72 บาทต่อหน่วย เนื่องจากประเทศเวียดนามมีสัดส่วนหลักของการผลิตไฟฟ้ามาจากถ่านหิน ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติที่ประเทศไทยใช้อยู่เป็นหลัก โดยราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สื่อของเวียดนามคาดการณ์ว่าอาจมีการพิจารณาปรับค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และไม่ได้ปรับค่าไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี ค.ศ.2019 ทำให้การไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) ขาดทุนและได้ยื่นขอปรับค่าไฟฟ้าต่อกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ส่วนที่ว่าค่าไฟฟ้าของเวียดนามลดลงนั้นเป็นผลการคำนวณเทียบกลับมาเป็นเงินบาทที่อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

นายสมภพกล่าวว่า อัตราค่าไฟฟ้าแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน มีอัตราค่าไฟฟ้าหลากหลายตามประเภทผู้ใช้ ปริมาณการใช้ และช่วงเวลา มาจากปัจจัยที่ต่างกัน อาทิ เรื่องความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน เสถียรภาพของระบบไฟฟ้า และทรัพยากรที่มีในประเทศ หากพิจารณามิติความน่าเชื่อถือและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของไทย ทางธนาคารโลกได้สำรวจคุณภาพการบริการไฟฟ้าของกลุ่มอาเซียน หมายถึงค่าเฉลี่ยความถี่ที่เกิดไฟฟ้าขัดข้อง พบว่าประเทศไทยมีดัชนีคุณภาพการบริการไฟฟ้าอยู่ในลำดับต้นๆ ดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียนหลายเท่าตัว แสดงให้เห็นถึงความมีเสถียรภาพและคุณภาพของระบบไฟฟ้า ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทำได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการตัดสินใจของนักลงทุน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image