พิมพ์เขียวกม.สู้บัญชีม้า ตัดวงจรโกงออนไลน์

พิมพ์เขียวกม.สู้บัญชีม้า ตัดวงจรโกงออนไลน์

ปัจจุบันปัญหาภัยออนไลน์ สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินประชาชนต่อเนื่อง จากการหลอกลวงของมิจฉาชีพ มีกลโกงหลายรูปแบบผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ที่ล้วนแต่หวังโจรกรรมเงินของผู้เสียหายออกจากบัญชีธนาคาร ถือเป็นอาชญากรรมทางไซเบอร์ ที่แก๊งอาชญากรทำเป็นขบวนการ

หากดูข้อมูลจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่เปิดระบบให้มีการแจ้งความผ่านออนไลน์ www.ThaiPoliceOnline.com ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม-31 ธันวาคม 2565 มีประชาชนแจ้งความแล้ว 181,466 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหาย 27,305 ล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะเปอร์เซ็นต์สำเร็จยังสูง

ต้นตอสำคัญที่ทำให้มิจฉาชีพขโมยเงินสำเร็จคือ บัญชีม้า ที่ใช้สำหรับผ่องถ่ายเงิน หรือรับโอนเงินเป็นทอดๆ และส่งต่อไปที่บัญชีของมิจฉาชีพตัวจริง รวมถึงโอนเงินออกนอกประเทศที่เป็นปลายทางสุดท้าย โดยใช้เวลาเพียงชั่วพริบตาเดียว!

ขณะเดียวกัน การแก้สถานการณ์ระหว่างที่มิจฉาชีพกำลังดูดเงินออกจากบัญชีผู้เสียหาย โดยตัวกลางอย่าง สถาบันการเงิน ไม่สามารถระงับการโอนเงินผิดปกติของผู้เสียหายได้ และไม่สามารถระงับบัญชีปลายทางรับโอนเงินได้ทันที เนื่องจากไม่มีอำนาจและขัดต่อข้อกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ที่สถาบันการเงินไม่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลหากไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของบัญชี

ADVERTISMENT

รวมถึงข้อจำกัดอีกประการที่ระบุชัดเจนว่าผู้เสียหายต้องมีใบแจ้งความออกโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมากำกับ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันการระงับการทำธุรกรรมบัญชีดังกล่าว เพราะสถาบันการเงินต้องป้องกันความเสียหายจากการฟ้องร้องของเจ้าของบัญชีปลายทาง

ดังนั้น เพื่อแก้เหตุให้ตรงจุด และสกัดต้นตอปัญหาบัญชีม้า หรือผู้รับจ้างเปิดบัญชีม้า โดยหน่วยงานหลักอย่าง ดีอีเอส จัดทำร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. … เพื่อแก้ปัญหาซิมผี บัญชีม้า ที่เสนอผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566

ADVERTISMENT

ขณะนี้ ขั้นตอนอยู่ระหว่างที่กระทรวงได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบและพิจารณาข้อกฎหมาย พ.ร.ก.ให้ถี่ถ้วนแต่จะใช้ระยะเวลาไม่นาน เพราะเป็นกฎหมายที่ต้องจัดการอย่างเร่งด่วน เนื่องจากประชาชนได้รับความเสียหายต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาแล้วเสร็จจะประกาศให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด ซึ่งคาดว่าไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์นี้

เรื่องนี้ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการดีอีเอส ให้รายละเอียดว่า การจัดทำกฎหมายฉบับนี้ เป็นความร่วมมือหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นต้น

เบื้องต้น พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงให้ประชาชนโอนเงินโดยผ่านการติดต่อทางโทรศัพท์ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และผู้ทำการเปิดบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้อำนาจแก่หน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลธุรกรรมทางการเงิน สามารถระงับ หรือหน่วงการทำธุรกรรมทางการเงินในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในกรณีที่พบพฤติกรรมผิดปกติ หรือเมื่อมีผู้ร้องเรียนต่อธนาคารโดยไม่ต้องมีใบแจ้งความมายืนยันการขอระงับบัญชีต้องสงสัยเป็นมิจฉาชีพ
และให้อำนาจธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเปิดเผย เชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดออนไลน์ผ่านระบบฐานข้อมูลกลางแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงผู้ให้บริการโทรคมนาคม เนื่องจากการทำธุรกรรมผ่านอี-แบงกิ้งจะใช้ซิมในการเปิดการใช้งาน และมีการโอนผ่านเครือข่ายมือถือ โดยในร่างกฎหมายได้ระบุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงาน ปปง.รวมถึงหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตเข้าถึงข้อมูลที่มีการแลกเปลี่ยนเข้าถึงได้ เพื่อให้เห็นชุดข้อมูลมิจฉาชีพร่วมกัน เพื่อใช้ในการป้องกัน ระงับ ยับยั้ง การก่ออาชญากรรมออนไลน์

รวมทั้งได้ยกเว้นอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) อันเป็นการขจัดปัญหาข้อกฎหมายบางประการที่ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ต้องติดขัดหรือล่าช้าออกไป เพื่อให้สามารถใช้งานตาม พ.ร.ก.ได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ได้กำหนดบทลงโทษ แบ่งเป็น 2 กรณี 1.สำหรับบุคคลที่รับจ้างเปิดบัญชีม้า โดยให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 2.ในส่วนผู้เป็นธุระจัดหาบัญชีม้าโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 200,0000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากตรวจพบว่ามีการเดินบัญชีม้าแล้วจะต้องถูกจับกุมทุกกรณี ซึ่งคาดหวังว่าจะสามารถลดปัญหาการรับจ้างเปิดบัญชีม้าให้น้อยลงได้

ขณะที่แวดวงการเงินอย่าง เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้ความเห็นว่า สำหรับ พ.ร.ก.ดังกล่าว ในส่วนการมอบอำนาจให้สถาบันการเงินสามารถตรวจสอบบัญชีม้า หลังจากมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ เป็นเรื่องที่สะท้อนถึงความตั้งใจในการดูแลของระบบสถาบันการเงิน รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้เปลาะหนึ่ง

ขณะเดียวกัน สำหรับเรื่องที่ให้อำนาจสถาบันการเงินระงับบัญชีของผู้ต้องสงสัยหลังจากมีผู้เสียหายแจ้งขอตรวจสอบบัญชี หรือเป็นบัญชีที่มีการโอนเงินออกไปสู่บัญชีปลายทาง สามารถทำได้โดยที่ไม่มีใบแจ้งความนั้น มองว่าสามารถทำได้ แต่ในด้านการดำเนินงานของผู้ให้บริการในนามสถาบันการเงินต่างๆ อาจดึงเงินกลับสู่บัญชีผู้เสียหายได้ไม่ทัน

เนื่องจากการโจรกรรมเงินที่ใช้ระบบอินเตอร์เน็ตมีความรวดเร็วและเกิดขึ้นได้เพียงเสี้ยววินาที ซึ่งระหว่างที่ผู้เสียหายติดต่อกับระบบธนาคาร เพื่อแจ้งเรื่องระงับบัญชีอาจใช้เวลา เพราะเป็นระบบคอลเซ็นเตอร์ที่ต้องรอสาย เพื่อติดต่อกับพนักงานผู้ให้บริการโดยตรง ซึ่งขั้นตอนนี้จะเป็นอีกปัญหาที่ทำให้ระยะเวลาล่าช้าจนระงับบัญชีไม่ทัน นอกจากนี้ หากการระงับบัญชีมิจฉาชีพใช้บัญชีต่างธนาคารกับผู้เสียหาย อาจทำให้การระงับบัญชีติดอุปสรรคทำให้เสียเวลามากขึ้น

ดังนั้น การพัฒนาระบบของสถาบันทางการเงินเพื่อตัดอุปสรรคที่ต้องใช้เวลาในการติดต่อระบบ เช่น ธนาคารอาจเพิ่มฟังก์ชั่นในระบบคอลเซ็นเตอร์ที่มีเบอร์ติดต่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อเป็นทางลัดให้กับผู้เสียหายให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ได้เร็วขึ้น รวมถึงการพัฒนาระบบกลางที่จะมีการแชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกัน ซึ่งส่วนนี้จะใช้เวลาในการดำเนินการในลักษณะใดก็ตามก็ต้องมีความรวดเร็ว เพื่อหยุดเส้นทางการเดินเงินของมิจฉาชีพได้ในทันที

อย่างไรก็ตาม ทุกกระบวนการต้องทำควบคู่ไปกับการให้ความรู้ทุกด้านกับประชาชนให้รู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ หรือให้รู้ถึงวิธีการใช้สื่อสังคมมีเดียให้รัดกุมมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ

“เพราะสุดท้ายแล้วจุดเริ่มต้นของปัญหาคือ เจ้าของข้อมูล ยินยอม ให้มิจฉาชีพเข้าถึงข้อมูลเองกับมือ จนนำไปสู่ความเสียหายในที่สุด” เกวลินกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image