‘เกียรตินาคินภัทร’ ปรับเป้าจีดีพีไทยโต 3.6% รับท่องเที่ยวบูม ชี้ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจโตช้า

‘เกียรตินาคินภัทร’ ปรับเป้าจีดีพีไทยโต 3.6% รับท่องเที่ยวบูม ชี้ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจโตช้า

เมื่อวันที่ 31 มกราคม นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) ได้ปรับคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จาก 2.8% เป็น 3.6% โดยมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัว และการเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาดของจีน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้จะไปแตะระดับ 25 ล้านคน จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 19 ล้านคน เป็นสัญญาณที่ดีขึ้น หลังปี 2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยวถึง 11 ล้านคน เนื่องจากนักท่องเที่ยวหลายประเทศเริ่มกลับเข้าไทยมากขึ้น รวมถึงการเปิดประเทศจีนเป็นอานิสงส์ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว แม้จะมีความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจภายนอกประเทศ

นายพิพัฒน์กล่าวว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจโลก อย่างที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มองไว้ว่าปีนี้ยังเป็นปีที่ยากลำบาก คาดการณ์เศรษฐกิจโลกโตช้ากว่าค่าเฉลี่ยและโตต่ำกว่าปีก่อนที่ 2.9% จากปี 2565 ที่ 3.4% มีโอกาสที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยในบางประเทศ เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงแม้จะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ทำให้ดอกเบี้ยยังปรับขึ้นแล้วส่งผลต่อค่าครองชีพอยู่ ขณะที่เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวดีขณะที่เศรษฐกิจประเทศอื่นเริ่มชะลอตัวลง ดังนั้น จึงต้องมองหาปัจจัยใหม่ๆ ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ต่อเนื่องท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม

นายพิพัฒน์กล่าวด้วยว่า สำหรับภาคการส่งออกยังเป็นปัญหาสำคัญ จากตัวเลขการส่งออกเดือนธันวาคม 2565 ติดลบ 14% ซึ่งติดลบติดต่อกัน 3 เดือน และคาดการณ์ว่าส่งออกจะขยายตัวได้ 1-2% แม้การส่งออกช่วงต้นปี 2565 การส่งออกดีมาก แต่เริ่มแผ่วลงจากภาวะการซึมตัวเศรษฐกิจโลก การขยับพฤติกรรมจากการบริโภคภาคบริการมากกว่าการใช้สินค้า รวมถึงการค้าโลกทยอยปรับตัวลดลง

“ดังนั้น ภาคการค้า การส่งออก จึงได้รับผลกระทบส่งผลให้หลายประเทศส่งออกหดตัว อาทิ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เวียดนาม รวมถึงไทย ซึ่งผลกระทบนี้ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่ทั่วถึง และไม่เท่าเทียม เพราะจะเห็นภาคบริการจากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวมากขึ้น ขณะเดียวกันการส่งออก ภาคการผลิตจะหดตัวลง” นายพิพัฒน์กล่าว

Advertisement

นายพิพัฒน์กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ในภาพรวมความเสี่ยงเศรษฐกิจที่ต้องติดตามในปีนี้ ได้แก่ 1.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะมาถึงเร็วและรุนแรงแค่ไหน และกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างไร 2.เงินเฟ้อโลกและเงินเฟ้อไทยที่ยังอยู่ในระดับสูงจะสามารถกลับมาสู่ระดับปกติได้เร็วเพียงใด ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลของธนาคารกลางทั่วโลก และ 3.การเปิดเมืองของจีนจะราบรื่นตลอดทั้งปีหรือไม่ รวมไปถึงความเสี่ยงจากการระบาดของโควิดที่ยังไม่สามารถมองข้าม นอกจากนี้ ในปีนี้ยังเป็นปีที่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งซึ่งอาจเพิ่มตัวแปรที่กระทบต่อเศรษฐกิจเช่นกัน

นายพิพัฒน์กล่าวถึง “ทิศทางอัตราดอกเบี้ย” ด้วยว่า แม้เงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงและอาจกลับเข้าสู่เป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ที่ 1-3% ช่วงกลางปี 2566 แต่ด้วยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ขยับขึ้นช้ากว่าประเทศอื่นๆ ที่คงดอกเบี้ยระดับสูง จึงเชื่อว่า ธปท.ยังคงทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะปกติแบบค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ คาดว่า ธปท.จะปรับอัตราดอกเบี้ยไปสู่ 2% ในไตรมาสที่ 3/2566 ซึ่งดอกเบี้ยสูงขึ้นจะเป็นปัญหาและแรงกดดันหนึ่งส่งผลให้ต้นทุนด้านการเงินของผู้ประกอบการสูงขึ้น รวมถึงรายย่อย หรือเอสเอ็มอี จะได้รับผลกระทบอยู่มากเช่นกัน

Advertisement

“ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนั้น คาดการณ์ว่า ธปท.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ระดับกว่า 2% ในไตรมาส 3 และอัตราเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบของ ธปท.ในครึ่งปีหลัง ดังนั้น จึงเป็นช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอยู่ในช่วงต้นปี ขณะที่การส่งออกที่ชะลอลงนั้น จะเป็นตัวหลักในการฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก แต่ครึ่งปีหลัง เมื่อจีนเปิดประเทศเต็มที่ก็กระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ภาพรวมแล้วยังคงติดลบ” นายพิพัฒน์ระบุ

นายพิพัฒน์กล่าวว่า ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตช้าลงจากวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น เรื่องสำคัญที่ต้องพัฒนาในระยะยาวและยังเป็นความท้าทายเศรษฐกิจไทย คือ การผลักดันให้เกิดการแข่งขันในระดับประเทศมากขึ้น ซึ่งไทยจะโตไปข้างหน้าได้นั้นเป็นความท้าทายตั้งแต่เรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจ นโยบายการแข่งขัน การผลักดันการส่งออก โดยประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นเชิงโครงสร้างที่ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งประเด็นที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงคือการเลือกตั้ง มองว่ามีความหวังเพราะประเด็นเหล่านี้ จะถูกหยิบยกให้เกิดการแก้ปัญหา หรือจัดการกับความท้าทายเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอย่างไร

“อยากฝากไว้กับพรรคการเมืองในประเด็นที่ทำนโยบายก็อาจตั้งคำถามให้กับผู้ที่เสนอตัวเข้ามาทำหน้าที่ผู้นำประเทศนี้ นอกเหนือจากจะมีนโยบายที่เป็นประชานิยมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นแล้ว จะมีการเพิ่มประเด็นนโยบายเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอย่างไร เพราะถ้ายังไม่ทำอะไรก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะเติบโตช้าลงเรื่อยๆ และมีปัญหาตามมา อาทิ โอกาส การขยับชนชั้นทางสังคมและเศรษฐกิจ และความสามารถการแข่งขันระยะยาวของประเทศ” นายพิพัฒน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image