‘แบงก์ชาติ’ เผยบาทแข็งกระทบส่งออกน้อย ชี้ไหวตามกลไกตลาด-สะท้อนศก.ฟื้น

‘แบงก์ชาติ’ เผยบาทแข็งกระทบส่งออกน้อย ชี้เคลื่อนไหวตามกลไกตลาด-สะท้อนเศรษฐกิจฟื้น

เมื่อวันที่ 31 มกราคม นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงิน เดือนธันวาคม 2565 ว่า สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน โดยค่าเงินบาทในเดือนธันวาคม 2565 เฉลี่ยแข็งค่าขึ้น เพราะตลาดการเงินอยู่ในภาวะเสี่ยง เพราะนักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอัตราที่ชะลอลงหลังจากตัวเลขตัวเลขเงินเฟ้อลดลง และต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์

รวมถึงนักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทย มาจากที่ประเทศจีนออกมาผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ทำให้เฉลี่ยแล้วดัชนีค่าเงินบาทยังแข็งค่า ขณะเดียวกัน ในเดือนมกราคม 2566 ค่าเงินบาทยังคงภาพเดิม โดยเป็นผลจากทิศทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และการเปิดประเทศของจีน รวมถึงนักลงทุนได้ปรับสัดส่วนสินทรัพย์ ทำให้ดัชนีค่าเงินแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง

“ปัจจัยพื้นฐานค่าเงินแข็งค่าขึ้นมีทั้งปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายในที่พื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเป็นไปตามพื้นฐานเศรษฐกิจดีขึ้น โดยที่ค่าเงินจะเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด”นางสาวชญาวดี กล่าว

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทแข็งค่าเป็นปัจจัยเล็กๆ ที่กระทบต่อการส่งออก แต่สิ่งที่ส่งผลกระทบหนักต่อการส่งออกคือปัจจัยจากประเทศคู่ค้าที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ค่าเงินบาทยังคงมีความผันผวน ถึงแม้มีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นจากปัจจัยการท่องเที่ยว หรือมุมมองจากปัจจัยภายนอกจากที่ตลาดคาดการณ์ ซึ่งถ้ามีความผันผวนมากๆ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาจมีการเข้าดูแล เพื่อช่วยแบ่งเบาไม่ให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบมากเกินไป

Advertisement

นางสาวชญาวดี กล่าวว่า เดือนธันวาคม 2565 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน แม้ได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง โดยมีแรงส่งจากภาคบริการที่ขยายตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ โดยมีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 2.241 ล้านคน เป็นการเพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวทุกสัญชาติ รวมถึงเดือนนี้เป็นฤดูกาลท่องเที่ยวส่งผลให้นักท่องเที่ยวทั้งปี 2565 อยู่ที่ 11.15 ล้านคน ซึ่งจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นแรงส่งให้ภาคบริการกลับมาดีขึ้น ตัวเลขโตจากเดือนก่อนหน้าที่ 2.5% ยกเว้นภาคการค้าที่ยังได้รับความกดดันจากภาคการส่งออก

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

อย่างไรก็ตาม จากภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการที่ดีขึ้น ทำให้การบริโภคภาคเอกชนได้รับอานิสงส์ สะท้อนจากเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ระดับ 1.4% หลักๆ มาจากการบริโภคในหมวดบริการมีทั้งโรงแรม ภัตตาคาร และการขนส่งผู้โดยสารที่ขยายตัวสอดคล้องกับการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว

“ขณะเดียวกัน การส่งออกแม้กลับมาดีขึ้น แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำจากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลง สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐของรัฐบาลกลางทรงตัว”นางสาวชญาวดี กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ สำหรับเศรษฐกิจในปี 2566 มีทั้งเชิงบวกและลบ โดยเชิงบวกคือภาคการท่องเที่ยวดีขึ้นจึงได้ปรับตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ 25.5 ล้านคน อย่างไรก็ดี เชิงลบหากดูการส่งออกเดือนธันวาคม 2565 ที่ลดลงส่งผลให้แรงส่งการส่งออกจะน้อยลงยังคงมีอยู่ และอาจเป็นผลที่ทำให้เศรษฐกิจไม่เข้าเป้า ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจอาจต้องรอดูผลช่วงครึ่งหลังปี 2566 ที่ความกดดันจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่เริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้น

นางสาวชญาวดี กล่าวว่า เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 5.89% จาก 5.5% ในเดือนพฤศจิกายน 2565 เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดและพลังงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ 3.3% จากเดือนก่อนที่ 3.2% สาเหตุหลักมาจากอาหารสำเร็จรูปที่ทรงตัวระดับสูงตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภาพเงินเฟ้อในอนาคต โดยเงินเฟ้อพื้นฐานจะเป็นส่วนที่มาจากเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นเป็นสัดส่วนที่เยอะขึ้น และเป็นเหตุผลมุมมองต่อนโยบายการเงินที่ค่อยๆ ปรับเข้าสู่ภาวะปกติ และช่วยดูแลไม่ให้เงินเฟ้อเร่งตัวจนเกินไป ซึ่งเป็นนโยบายที่เหมาะสมในการใช้เครื่องมือนโยบายการเงินดูแลเงินเฟ้อที่เกิดจากฝั่งอุปสงค์ โดยช่วงที่ผ่านมา สัดส่วนของเรื่องราคาพลังงานส่วนใหญ่ทยอยลดลง จึงเน้นดูแลเรื่องเงินเฟ้อพื้นฐานที่อาจทรงตัวต่อไปอีกสักพักหนึ่ง และคาดว่าเงินเฟ้อทั้วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมายได้ในช่วงครึ่งหลังปีที่ 2566

ขณะที่ ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลตามดุลการค้าที่ 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ สาเหตุจากดุลการค้าที่เกินดุล และการนำเข้าที่ปรับลดลงมาก ขณะที่ ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลเล็กน้อยจากรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น หากดูทั้งไตรมาสที่ 4/2565 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลที่ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และทั้งปี 2565 ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 16.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ข่าวน่าสนใจอื่น:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image