17 สาขาอาชีพเฮ ครม.เคาะค่าจ้างสูงสุดวันละ 715 บาท คนมีบ้านอ่วมดอกเบี้ยขึ้น 1%

17 สาขาอาชีพเฮ ครม.เคาะค่าจ้างสูงสุดวันละ 715 บาท ไอเอ็มเอฟชี้ ศก.ปี’66 ชะลอตัว ไทยคาดจีดีพีโต 3.6% คนมีบ้านอ่วมดอกเบี้ยขึ้น 1% ผ่อนบ้านเพิ่ม 8%

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 31 มกราคม ว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ สำหรับแรงงาน 3 กลุ่มอาชีพ 17 สาขา เพื่อส่งเสริมให้แรงงานที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ในแต่ละสาขาอาชีพและแต่ละระดับได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม เป็นธรรม สอดคล้องกับทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ และการจ้างงานในตลาดแรงงาน

สำหรับแรงงาน 3 กลุ่มอาชีพ 17 สาขา ได้แก่ กลุ่มช่างอุตสาหการ อาทิ ช่างระบบส่งถ่ายกำลัง ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 495 บาท ช่างเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 545 บาท ระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 635 บาท และระดับ 3 ไม่ต่ำกว่าวันละ 715 บาท กลุ่มสาขาอาชีพช่างเครื่องกล อาทิ สาขาช่างซ่อมรถแทรกเตอร์การเกษตร ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 465 บาท ระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 535 บาท และระดับ 3 ไม่ต่ำกว่าวันละ 620 บาท ฯลฯ

อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ได้มีการประกาศก่อนหน้านี้แล้ว 112 สาขา และเมื่อมีประกาศเพิ่มอีก 17 สาขา รวมเป็น 129 สาขา ทำให้ครอบคลุมสาขาอาชีพที่ต้องการแรงงานฝีมือแรงงานมากยิ่งขึ้น

ศก.ไทยฟื้นไม่ทั่วคาดจีดีพีโต 3.6%

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคิน ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) ได้ปรับคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จาก 2.8% เป็น 3.6% แรงส่งจากภาคท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว และการเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาดของจีน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้คาดแตะระดับ 25 ล้านคน ผลักดันเศรษฐกิจไทยขยายตัว แม้มีความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกยังเป็นปัญหาสำคัญ จากตัวเลขการส่งออกเดือนธันวาคม 2565 ติดลบ 14% ติดลบติดต่อกัน 3 เดือน และคาดการณ์ว่าส่งออกจะขยายตัวได้ 1-2% จากการซึมตัวเศรษฐกิจโลก ผลกระทบนี้ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่ทั่วถึงและไม่เท่าเทียม จะเห็นภาคบริการภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว ขณะที่ส่งออก ภาคการผลิตจะหดตัวลง

Advertisement

นายพิพัฒน์กล่าวว่า ด้านทิศทางอัตราดอกเบี้ย แม้เงินเฟ้อแนวโน้มชะลอตัวลงและอาจกลับเข้าสู่เป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 1-3% ช่วงกลางปี 2566 แต่ด้วยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ขยับขึ้นช้ากว่าประเทศอื่นๆ ที่คงดอกเบี้ยระดับสูง จึงเชื่อว่า ธปท.ยังคงทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะปกติแบบค่อยเป็นค่อยไป

“อยากฝากไว้กับพรรคการเมืองในประเด็นที่ทำนโยบาย อาจตั้งคำถามให้กับผู้ที่เสนอตัวเข้ามาทำหน้าที่ผู้นำประเทศนี้ นอกเหนือจากนโยบายประชานิยมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นแล้ว จะมีการเพิ่มประเด็นนโยบายเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอย่างไร เพราะถ้ายังไม่ทำอะไร เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะเติบโตช้าลงเรื่อยๆ และมีปัญหาตามมา อาทิ โอกาส การขยับชนชั้นทางสังคมและเศรษฐกิจ และความสามารถการแข่งขันระยะยาวของประเทศ” นายพิพัฒน์กล่าว

เลื่อนประกาศผลบัตรคนจนใหม่

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังระบุถึงความคืบหน้าการตรวจสอบคุณสมบัติ โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) รอบใหม่ ปี 2565 เดิมกำหนดประกาศผลภายในเดือนมกราคมว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าจำเป็นต้องเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากข้อมูลการตรวจสอบคุณสมบัติ ต้องมีการตรวจสอบจากหน่วยตรวจสอบสิทธิหลายหน่วยงาน เพื่อให้การตรวจสอบมีความถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ ดังนั้น การประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติบัตรคนจนรอบใหม่ จะเลื่อนออกไปก่อน ทั้งนี้ จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จและประกาศให้ประชาชนทราบโดยเร็วต่อไป ทั้งนี้ ผู้ลงทะเบียนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดโครงการได้ผ่านเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https://welfare.mof.go.th เบื้องต้นคาดว่าจำนวนผู้ได้รับสิทธิเพิ่มจากปัจจุบัน 13 ล้านคน เป็นเกือบ 20 ล้านคน

Advertisement

ดอกเบี้ยขึ้นผ่อนบ้านเพิ่ม 8%

น.ส.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA กล่าวว่า การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ต่อปี กระทบต่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีต้นทุนเพิ่มขึ้นและผู้ซื้อบ้านราคาแพงและมีภาระผ่อนบ้านเพิ่มขึ้น ซึ่งดอกเบี้ยปรับขึ้นทุก 1% ทำให้มีภาระผ่อนบ้านเพิ่ม 7-8 % ส่วนค่าไฟที่เพิ่มขึ้นนั้นสำหรับการทำธุรกิจของเสนาไม่ได้รับผลกระทบมากนัก อาจจะดีในแง่ที่ทำให้คนหันมาติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือของบริษัทมากขึ้น เพื่อหยุดค่าไฟ แต่ตลาดมีการแข่งขันด้านราคากันมหาศาล

ไอเอ็มเอฟชี้ ศก.ปี’66 ชะลอตัว

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แถลงว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวในปีนี้ ก่อนที่จะฟื้นตัวในปีหน้า แต่ได้มีการปรับเพิ่มตัวเลขการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจระดับโลกในปี 2566 ขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งทำให้ต้นทุนด้านพลังงานมีความผ่อนคลายมากขึ้น และการเปิดประเทศของจีนหลังจากที่มีการยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์

ไอเอ็มเอฟปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงมาอยู่ที่ 2.9% จากปี 2565 ที่ 3.4% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นเล็กน้อยจากเดือนตุลาคมที่ผ่านมาที่ 2.7% พร้อมเตือนว่าโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจได้อย่างง่ายดาย ขณะที่ปี 2567 ไอเอ็มเอฟชี้ว่าการเติบโตทั่วโลกจะฟื้นขึ้นเล็กน้อยที่ 3.1%

นายอิแยร์-โอลิวิเอร์ กูรินชาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า ความเสี่ยงที่โลกจะเผชิญการถดถอยทางเศรษฐกิจลดลง ธนาคารกลางหลายแห่งมีความก้าวหน้าในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ แต่ยังคงจำเป็นต้องมีการทำงานให้มากขึ้นเพื่อควบคุมราคา และการหยุดชะงักครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นจากสงครามในยูเครนที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น รวมถึงการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีน โดยเศรษฐกิจของจีนและอินเดียซึ่ง 2 ประเทศสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเอเชียจะครองสัดส่วนกว่า 50% ในการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้

 

 

อ่านข่าวน่าสนใจ:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image