ปธ.สมาคมเอสเอ็มอี กาง 6 ปัจจัยรุมเร้า กระเทือนธุรกิจแบกรับหนี้ท่วม

ปธ.สมาคมเอสเอ็มอี กาง 6 ปัจจัยรุมเร้า กระเทือนธุรกิจแบกรับหนี้ท่วม

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความผันผวนแปรปรวนรอบด้านที่รุมเร้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญและร่วมบริหารความเสี่ยงลดผลกระทบเชิงลบที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจฐานรากในวงกว้าง คือ

1.ค่าเงินบาทผันผวน สถานการณ์ค่าเงินบาทแข็ง ที่กระทบกับเครื่องยนต์เศรษฐกิจในภาคการส่งออก แม้จะส่งผลบวกต่อภาคการนำเข้าก็ตาม การบริหารความเสี่ยงค่าเงินที่เหมาะสมจะสามารถประคองธุรกิจภาคการส่งออกให้ลดผลกระทบลงได้ แม้เอสเอ็มอีภาคการส่งออกจะมีเพียงราว 13% ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด หรือ 1.093 ล้านล้านบาท จากมูลค่าส่งออกไทยทั้งหมด ปี 2565 มูลค่า 8.202 ล้านล้านบาท แต่ในยามฐานต้นทุนต่างๆที่ปรับตัวสูงขึ้นล้วนส่งผลต่อทั้งรายได้และการทำกำไรที่ลดลง ขณะที่มูลค่าการนำเข้าไทยปี 2565 สูงถึง 8.8 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ขาดดุลการค้าเกือบ 600,000 ล้านบาท

2.ค่าไฟฟ้าที่ส่งผลกระทบต่อภาคการอุตสาหกรรมสูงถึงกว่า 54% ซึ่งเอสเอ็มอีในภาคการผลิตมีกว่า 523,327 ราย หรือ 16% ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งหมด และยังส่งผลต่อต้นทุนภาคการค้า 1,326,053 ราย 42% ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งหมด ภาคบริการ 1,278,014 ราย 40% ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งหมดโดยสัดส่วนรวมกันภาคการค้าและบริการถึง 82% หรือ 2,614,067 ราย หรือ 98% ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งหมดหากไม่มีมาตรการระยะสั้น

และระยะยาวในการบริหารแหล่งวัตถุดิบพลังงานต้นทุนต่ำ การจัดการต้นทุนในห่วงโซ่อุปทานของพลังงานในแต่ละส่วนอย่างเหมาะสมเป็นธรรมกับผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ประชาชน รวมทั้งมาตรการส่งเสริมพลังงานสีเขียว พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และภาคประชาชนสามารถลดต้นทุนได้ จะทำให้วิกฤติพลังงานเป็นกับดักของการฉุดขีดความสามารถของภาครัฐและภาคเอกชนที่ทำให้สภาวะเศรษฐกิจถดถอยรวดเร็วยิ่งขึ้น

Advertisement

3.ดอกเบี้ยขาขึ้น จากสถานการณ์โควิด19 ที่ผ่านมาระบบธนาคารพาณิชย์แสดงถึงความแข็งแกร่งและมีความพร้อมต้านทานวิกฤติ มีขีดความสามารถในการบริหารต้นทุน การทำกำไรได้ในระดับที่ดีเยี่ยม ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่การที่ดอกเบี้ยนโยบายขยับ และจะส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินในระบบสถาบันการเงิน ธนาคารต่างๆ เป็นสิ่งที่ต้องพึงระมัดระวัง และต้องมีกลไกแพลตฟอร์มทางการเงินต้นทุนต่ำที่เป็นทางเลือกให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

โดยเฉพาะรายย่อยให้เข้าถึงใช้ประโยชน์แหล่งทุนในระบบมากยิ่งขึ้น อาทิ กองทุนรัฐต่างๆที่มี โดยต้องเร่งด่วนปรับแก้กฎหมาย บสย ให้สามารถค้ำประกันผู้ประกอบการรายย่อย หรือ เอสเอ็มอีที่ไปใช้แหล่งทุนต้นทุนต่ำผ่านกองทุน แทนที่จะไปใช้แหล่งทุนต้นทุนดอกเบี้ยสูงถึง 28-34% ในระบบอื่น ซึ่งจากการสำรวจของ สสว พบว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่กว่า 45.5% รับอัตราดอกเบี้ยได้ที่ 1-5% และ 44.3% รับอัตราดอกเบี้ยได้ที่ 6-8% เป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องนำมาทบทวนอัตราดอกเบี้ย SME อย่างเร่งด่วนก่อนสายเกินแก้

4.หนี้ครัวเรือน จากข้อ 1 ถึง 3 ล้วนส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมกับหนี้ครัวเรือน ที่กระทบต่อขีดความสามารถในการชำระหนี้และการบริหารหนี้ครัวเรือนที่มีคุณภาพ เพื่อลดหนี้เสียและหนี้นอกระบบที่จะตามมา การพัฒนาภาคประชาชน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งแรงงานให้มีทักษะด้าน Financial literacy เป็นสิ่งที่เร่งด่วนและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลไกภาครัฐที่มีความพร้อมหลายหน่วยงานในการออกแบบมาตรการเชิงรุกนี้ หนี้ครัวเรือนเกือบ 90% ของ GDP ไม่มีปัญหา ถ้าเป็นหนี้ที่มีคุณภาพและเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

Advertisement

5.สถานการณ์ท่องเที่ยวเอื้อจริงหรือ ? ปี 2562 สัดส่วน GDP ภาคการท่องเที่ยวสูงถึง 18% หรือ มูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านบาทมีบทบาทความสำคัญต่อการสร้างรายได้เศรษฐกิจฐานราก โรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร ขนส่ง ช้อปปิ้ง ธุรกิจบันเทิง เป็นต้น แม้ธุรกิจในเครื่องยนต์เศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวจะปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมาในช่วงระยะเวลาเดียวกัน แต่ความพร้อมของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

ภาคการท่องเที่ยว 4 ปัจจัยหลักที่นโยบาย มาตรการภาครัฐต้องชัดเจนและเร่งด่วน คือ

1.บ่มเพาะขยับขีดความสามารถ การเพิ่มสมรรถนะ ทักษะใหม่ Re skills – Up skills – Future skills ผู้ประกอบการและแรงงานภาคการท่องเที่ยวแบบคู่ขนาน ทั้งทางด้านดิจิทัลเทคโนโลยี การตลาด การบริหารการจัดการดำเนินธุรกิจ และการวางแผนธุรกิจใหม่ เป็นต้น ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคการท่องเที่ยว แรงงานภาคการท่องเที่ยวที่เดิม ปี 2562 มีถึง 4.366 ล้านคน หรือราว 12% ของการจ้างงานทั้งหมด อีกทั้ง ผลิตภัณฑ์มวลรวมทางตรงของการท่องเที่ยวมีมูลค่าสูงถึง 1,225,741 ล้านบาทในปี 2562 คิดเป็น 7.25% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

ส่วนภาพรวมแรงงานไทย มีแรงงานนอกระบบสูงถึงกว่า 50% ทำอย่างไรให้จูงใจเข้าระบบเพื่อการพัฒนาแรงงาน 37.5 ล้านคน 57% ของประชากรทั้งประเทศ มีระดับการศึกษาประถมศึกษาและต่ำกว่าถึง 15.6 ล้านคน หรือ 42% และอีก 13.4 ล้านคน 36% มีระดับการศึกษามัธยมศึกษา มีเพียง 8.5 ล้านคน 23% เท่านั้นที่มีการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ความเหลื่อมล้ำการศึกษานี้ต้องเร่งบดช่องว่างพัฒนาทุนมนุษย์ให้เพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

2.จากข้อ 1 ต้องนำความรู้มาควบคู่แหล่งทุนต้นทุนต่ำ ฟื้นฟูกิจการภาคการท่องเที่ยว และซัพพลายเชนด้วยแหล่งทุนต้นทุนต่ำ โดยใช้ระบบกองทุนที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้ผลกระทบเกือบ 3 ปี กลับมา Restart ธุรกิจโฉมใหม่ที่สามารถใช้ความสร้างสรรค์นวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจเพิ่มขึ้นที่มุ่งการท่องเที่ยวคุณภาพสูงและเชิงสุขภาพ

3. จากข้อ 1 และ 2 นำมาสู่การยกระดับมาตรฐานการให้บริการ สุขอนามัยสาธารณสุขที่ไทยมีความโดดเด่น ระบบความปลอดภัย พร้อมส่งเสริมเมืองนวัตกรรมท่องเที่ยวอัจฉริยะ แบบ World Class การ Branding มุ่งสร้างอัตลักษณ์ คุณค่าความไว้วางใจในการท่องเที่ยวเมืองไทยทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ

4. ภาครัฐต้องส่งเสริมแพลตฟอร์มดิจิทัลท่องเที่ยวไทยให้มีระบบนิเวศน์การท่องเที่ยวเชื่อมโยงทั้งจังหวัดหลัก จังหวัดรอง กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เพื่อให้สามารถใช้ฐานข้อมูลภาคการท่องเที่ยวเพื่อการพัฒนารูปแบบนโยบายการส่งเสริม เงินรายได้อยู่ในประเทศไทย และลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างชาติสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจไทย

นายแสงชัย กล่าวว่า 6 .บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประชานิยมที่ดีแต่ไม่มีความยั่งยืน ควรเปลี่ยนแนวคิดนโยบายสาธารณะนี้ ในกลุ่มวัยแรงงานที่มีศักยภาพและสร้างความตระหนักพร้อมในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มทรัพยากรมนุษย์ชายขอบ เปลี่ยนจาก รอ (ความช่วยเหลือ) รับ (เงิน) เป็น เร่ง (พัฒนา) รุก (สร้างงานสร้างอาชีพ) กล่าวคือ

กลุ่มแรก สร้างความเป็นผู้ประกอบการเริ่มต้นท้องถิ่นที่บ่มเพาะอาชีพหรือธุรกิจที่มีความต้องการภายในท้องถิ่น และมีทุนประเดิมเบื้องต้นเพื่อดำเนินกิจการแบบรายย่อย กลุ่มสอง สร้างความพร้อมในการทำงาน บ่มเพาะทักษะที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นนั้น และเขื่อมโยงแรงงานกับผู้ประกอบการท้องถิ่นให้ได้ทำงาน และกลุ่มสาม สร้างจิตสำนึกบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ให้กับชุมชน ท้องถิ่น สังคมในรูปแบบต่างๆทดแทนแลกกับการรับเงินสวัสดิการ และสร้างคุณค่าแทนการให้เงินแบบเปล่า

สำหรับทางรอดเอสเอ็มอี คือ ยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการนำพาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเปลี่ยนผ่านคลื่นเศรษฐกิจนวัตกรรมสู่ดิจิทัล และการสร้างความยั่งยืนด้วย BCG D 5F กล่าวคือ เศรษฐกิจชีวภาพ ที่ใช้ทรัพยากรทางชีวภาพมาผลิตผลิตภัณฑ์ บริการที่มีมูลค่าเพิ่มด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มี 2 นัย คือ นัยแรกธุรกิจที่มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ บริการให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด มีการหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่อย่างเต็มวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์

ส่วนอีกนัย คือ การส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี และรายใหญ่ไทยในประเทศผลิตสินค้าและบริการที่พึ่งพาทรัพยากร ส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่น โดยมุ่งเป้าใช้วัตถุดิบในประเทศให้มากที่สุด เพื่อลดการนำเข้า ลดปัจจัยเสี่ยงความผันผวนของค่าเงินและการขาดดุลการค้าต่างประเทศ เศรษฐกิจสีเขียว ในการมุ่งเน้นธุรกิจที่ผลิตสินค้า บริการ กระบวนการ รูปแบบธุรกิจ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ที่ต้องมุ่งพัฒนาการยกระดับขีดความสามารถเอสเอ็มอีให้มีความตระหนัก เพิ่มทักษะการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อการบริหารบัญชีการเงิน การดำเนินธุรกิจ และการตลาดดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ ให้เข้าถึงง่าย ใช้งานเป็น มุ่งเน้นการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ
5 F การนำจุดแข็งของกลุ่มธุรกิจ 5F มาต่อยอดพัฒนาสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากการส่งเสริมคุณค่าผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจซอฟพาวเวอร์ (Soft power)

1. Food อาหารไทย ศิลปะการประกอบอาหาร การคัดสรรเลือกใช้ส่งเสริมวัตถุดิบท้องถิ่นภายในประเทศ และมีอัตลักษณ์กรรมวิธีปรุง รสชาติที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นอย่างแตกต่าง

2. Fashion แฟชั่นผ้าไทย เครื่องประดับ งานหัตถศิลป์ หัตถกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มจากการออกแบบลวดลายที่มีเอกลักษณ์วิจิตรบรรจงไทย การใช้วัตถุดิบท้องถิ่นที่มีคุณภาพ พิถีพิถันในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนและสามารถเพิ่มมูลค่าส่งออกไทย

3. Festival การจัดงานนิทรรศการ การแสดงศิลปะโดยการนำวัฒนธรรม ประเพณีไทยที่มีคุณค่า ถ่ายทอดเรื่องราวอย่างสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมการเติบโตภาคท่องเที่ยวในท้องถิ่นที่มีวัฒนธรรม ประเพณีที่งดงามนั้นๆให้สามารถขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ

4 .Fight กีฬาการต่อสู้ในรูปแบบมวยไทย ที่สามารถสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่ม เผยแพร่มวยไทยสู่สากล และสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสมัยใหม่ที่ผสมผสานการกีฬาต่อสู้แบบไทย

5. Film ภาคธุรกิจบันเทิงไทยมีความแข็งแรงและมีความสร้างสรรค์ รวมทั้งความพร้อมในการส่งออกภาพยนตร์ ละคร รายการเกมส์โชว์ บันเทิงต่างๆ เพื่อสามารถสร้างธุรกิจบันเทิงและต่อเนื่องให้เติบโตต่างประเทศได้ แต่ต้องสร้างแต้มต่อ เขื่อมโยงสนับสนุนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

เป้าหมายไทยที่จะเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านบาทจากธุรกิจ BCG ภายในปี 2568 หรือเพิ่มขึ้นจาก 21% เป็น 24% ของ GDP BCG ซึ่งจากผลการสำรวจของ สสว พบว่า SME ที่รู้จักและเข้าใจ BCG มีเพียง 10% เท่านั้น และมูลค่าการเติบโต Digital Economy สัดส่วน GDP 30% ภายในปี 2570 จากปัจจุบันธุรกิจ e-commerce มีสัดส่วนอยู่ราว 25% ของ GDP

การมีเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งสำคัญกว่า คือ การทำให้บรรลุเป้าหมายของประเทศไทยร่วมกันทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง

“หลายเรื่องเรานำเสนอหน่วยงานและรัฐบาลมาตลอด ในการกใกล้เลือกตั้ง ก็อยากให้พรรคการเมือง เห็นถึงปัญหาและข้อเสนอของเอสเอ็มอีโดยแค่จริง ที่เรากังวลคือปัญหาที่สะสมมานาน ไม่แค่ก่อหนี้สะสมให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก ระยะยาวการอยู่รอดของรายเล็กจะน้อยลง ส่วนทางกับรัฐเองต้องการสร้างธุรกิจขนาดเล็ก เชื่อว่าหลายพรรคการเมือง จะเห็นถึงปัญหาและข้อเสนอที่สมาคมฯอยากให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง” นายแสงชัย กล่าว

ข่าวน่าสนใจอื่น:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image