บีโอไอ จับมือ ก.ต่างประเทศ-ไจก้า ติดอาวุธหน่วยส่งเสริมการลงทุนอาเซียน-เอเชียใต้

บีโอไอ จับมือ ก.ต่างประเทศ-ไจก้า ติดอาวุธหน่วยส่งเสริมการลงทุนอาเซียน-เอเชียใต้

น.ส.ซ่อนกลิ่น พลอยมี รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่าปัจจุบันบริบทในด้านต่าง ๆ ของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สังคม ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวให้ทันต่อแนวโน้มดังกล่าวสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในฐานะหนึ่งในหน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจจึงให้ความสำคัญอย่างมากกับการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐให้สามารถปรับตัวให้ทันกับกระแสโลก ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในกิจการเป้าหมายที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวหลังผลกระทบจากวิกฤตต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในการสนับสนุนนั้นคือการยกระดับความสามารถของหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนร่วมกันในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียใต้
<span;>ทั้งนี้ กองพัฒนาผู้ประกอบการไทยจึงได้ร่วมกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) จัดการอบรมหลักสูตร “Workshop on Investment Promotion and Enhancing Industrial Competitiveness for Mekong and South Asian Countries” ให้แก่เจ้าหน้าที่ระดับสูง ของหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา บังคลาเทศ เนปาล และศรีลังกา ระหว่างวันที่ 6 – 17 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน (OSOS) ชั้น 18 อาคารจามจุรีสแควร์ ซึ่งการอบรมลักษณะนี้ บีโอไอให้การสนับสนุนต่อเนื่องมาหลายปี ยิ่งเป็นการเพิ่มความสัมพันธ์กับหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของแต่ละประเทศในการทำงานร่วมกันด้วย

“ที่ผ่านมาบีโอไอให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกและเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน และมีการปรับตัวทางด้านนโยบายและการบริการอย่างต่อเนื่องตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ โดยล่าสุดได้ประกาศใช้ยุทธศาสตร์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566 – 2570) ภายใต้แนวคิดส่งเสริมการลงทุน เพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ เพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญ พร้อมทั้งพัฒนาและปรับประสิทธิภาพการให้บริการเพื่อยกระดับการให้บริการแก่นักลงทุนและลดภาระของผู้รับบริการ ครอบคลุมกระบวนงานหลักของสำนักงานตั้งแต่การให้บริการข้อมูล การให้คำปรึกษาด้านการลงทุนผ่านระบบนัดหมายและประชุมออนไลน์ การขอรับส่งเสริมการลงทุน ไปจนถึงสิทธิประโยชน์ หรือแม้กระทั่งการเชื่อมโยงการซื้อขายชิ้นส่วน โดยการจับคู่ธุรกิจออนไลน์และในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและธนาคารแห่งประเทศไทย จัดตั้งบริการช่องทางอำนวยความสะดวกออนไลน์ สำหรับกิจการสำนักงานภูมิภาคครบวงจร หรือ HQ Biz Portal ซึ่งการเชื่อมโยงการทำงานนี้จะเป็นตัวอย่างการปรับปรุงการบริการ เพื่อตอบโจทย์การเคลื่อนย้ายการลงทุน อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของโลกในปัจจุบัน” น.ส.ซ่อนกลิ่นกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image