ก.เกษตรฯ ตื่น! แก้เกมสหรัฐแบนถุงมือยาง ตั้งคณะทำงานสางปม หวั่นส่งออก 2.7 หมื่นล.วูบ

ก.เกษตรฯ ตื่น! แก้เกมสหรัฐแบนถุงมือยาง ตั้งคณะทำงานสางปม หวั่นส่งออก 2.7 หมื่นล.วูบ

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจถึงประสิทธิภาพ คุณภาพ และความปลอดภัยของการใช้ถุงมือยางธรรมชาติ รวมถึงกำหนดแนวทางขยายการส่งออกถุงมือยางธรรมชาติ

เนื่องมาจากกรณีที่รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐฯ ประกาศกฎหมายห้ามใช้ถุงมือยางลาเท็กซ์ ในกลุ่มธุรกิจบริการอาหาร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา และในกลุ่มให้บริการทางการแพทย์ ในวันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งอาจส่งผลต่อผู้ผลิตและผู้ประกอบการถุงมือยางธรรมชาติ

โดยปัญหาดังกล่าว กยท. ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่มี พล.เอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รับทราบแล้วและเห็นชอบ กยท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการหาแนวทางแก้ไข เตรียมมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตในระบบการผลิตยางธรรมชาติได้ เนื่องจากการปริมาณการผลิตและการส่งออกน้ำยางของไทยนั้นเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

Advertisement

“ยอมรับว่าต้นตอสาเหตุที่สหรัฐฯห้ามใช้ถุงมือยางธรรมชาติ นั้น เพราะพบว่ามีการปนเปื้อนโปรตีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ที่แพ้ ปัญหานี้กยท.รับทราบมานาน และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิจัยและพัฒนาจนปัจจุบันสามารถผลิตถุงมือยางที่ไม่มีโปรตีนปนเปื้อน หรือลดปริมาณลงให้อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย การส่งออกสินค้าประเภทนี้ จะต้องผ่านการรับรองจากมาตรฐานองค์การอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่จะต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องต่อไป” นายณกรณ์ กล่าว

สำหรับตลาดยางสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดใหญ่ที่นำเข้าถุงมือยางธรรมชาติมากที่สุด โดยในปี 2565 มีมูลค่า 3,275 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.18 แสนล้านบาท ส่งผลให้สหรัฐฯผลักดันและสนับสนุนให้ใช้ถุงมือที่ทำจากยางสังเคราะห์ที่สามารถผลิตได้เอง รวมทั้งยังช่วยลดพึ่งพาการนำเข้า ขณะที่ประเทศไทยส่งออกในตลาดนี้ 27,000 ล้านบาท มีสัดส่วนการตลาด 23% เป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย ที่มีสัดส่วนการตลาดที่ 49% จีน 17% อินโดนีเซีย 6% ศรีลังกา 2% และเวียดนาม 1%

อย่างไรก็ตาม กยท.ยืนยันว่าแนวโน้มการใช้ถุงมือยางยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ธุรกิจขาลงแต่อย่างใดซึ่งปัจจุบันยังพบการใช้มากที่สุดทั้งในครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในขณะที่ประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้ผลิตที่มีผลผลิตวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมถุงมือยางรายใหญ่ โดยตลาดส่งออกยังสะท้อนว่าไทยมีแนวโน้มขยายตัว และเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกยางธรรมชาติ ไปยังตลาดใหม่ คือ จีน ที่ไทยมีมูลค่าส่งออกในปี64 รวม 4,110 ล้านบาท อัตราการขยายตัว 43.59% และอินเดีย ที่ไทยมีมูลค่าการส่งออก ในปี 2564 ที่ 1,460 ล้านบาท ดังนั้นอัตราการขยายตัวมีมากถึง 39.10%

Advertisement

“กยท.จะเร่งหาตลาดใหม่ๆ เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์ยางของไทยมากขึ้น โดยคุณสมบัติของถุงมือยางธรรมชาตินั้นสามารถย่อนสลายได้ภายใน 10 ปี ซึ่งเร็วกว่าเมื่อเทียบกับถุงมือยางสังเคราะห์ ที่ใช้เวลากว่า 100 ปี อีกทั้งยางพารายังช่วยเรื่องคาร์บอนฟรุตปริ้นท์ ยิ่งเป็นโอกาสสร้างมูลค่านางและสร้างแต้มต่อตลาดใหม่” นายณกรณ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image