‘สนค.’ อวดดัชนีเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนใต้ พุ่งแตะ 54.57 ดีขึ้นทุกด้าน

‘สนค.’ อวดดัชนีเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนใต้ พุ่งแตะ 54.57 ดีขึ้นทุกด้าน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 30,738 คน ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยรวม ไตรมาส 4/2565 ปรับเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ระดับ 54.57 ปรับขึ้นจากระดับ 49.38 ถือเป็นการปรับตัวดีขึ้นทั้งปัจจุบันและอนาคต รวมถึงดีขึ้นทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในปัจจุบัน ปรับตัวมาอยู่ในช่วงเชื่อมั่นในรอบ 7 ไตรมาส ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นทุกด้าน

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ปัจจัยสนับสนุนความเชื่อมั่น มีสาเหตุสำคัญจากการที่ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น เนื่องจากการจ้างงานและรายได้ปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการทำงานกลางแจ้งได้ โดยเฉพาะการกรีดยางพารา ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า รวมถึงการทำงานอย่างเข้มงวดของฝ่ายรักษาความมั่นคง ส่งผลให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นโดยรวมปรับเพิ่มขึ้น

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเมื่อจำแนกรายจังหวัด พบว่า อยู่ในช่วงเชื่อมั่นทุกจังหวัดและปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดสงขลา ที่ปรับลดลงเล็กน้อย โดยจังหวัดสตูลมีความเชื่อมั่นโดยรวมสูงสุด อยู่ที่ระดับ 60.39 รองลงมา ได้แก่ จังหวัดสงขลา 55.31 ปัตตานี 53.70 นราธิวาส 53.21 และยะลา 52.84

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ผลการสำรวจปัญหาที่ประชาชนมีความกังวลมากที่สุดยังคงเป็นปัญหาเรื่องค่าครองชีพหรือสินค้าและบริการ ที่มีราคาสูงและปัญหารายได้ตกต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนด้านการลดภาระค่าครองชีพ การมีงานทำและรายได้ รวมถึงการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร ส่วนสถานการณ์ด้านภัยธรรมชาติ มลพิษ และความเพียงพอของสินค้า ยังอยู่ในระดับที่ไม่เป็นปัญหา

Advertisement

ด้านพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าว จัดทำขึ้นเพื่อการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบทางเศรษฐกิจให้ครบวงจรตั้งแต่การผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและกลไกตลาด การพัฒนาภาคบริการระดับฐานราก ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งจังหวัดชายแดนภาคใต้มีต้นทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย อาหารการกิน ประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามอยู่แล้ว รวมถึงส่งเสริมการค้าชายแดนผ่านด่านพรมแดนทั้ง 9 แห่ง ที่มีการพัฒนายกระดับด่านพรมแดนอย่างต่อเนื่อง โดยผลการพัฒนาทางเศรษฐกิจทำให้การว่างงานของประชาชนและเยาวชนลดน้อยลง รายได้ต่อคนต่อปีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image