แนวคิดการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติบริเวณถนนราชดำเนิน

แนวคิดการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติบริเวณถนนราชดำเนิน

บทความที่แล้ว ผมเขียนเรื่อง การพัฒนาห้องสมุดในระดับชุมชนไป มาคราวนี้จะขอเขียนถึงการพัฒนาห้องสมุด หรือศูนย์การเรียนรู้ในระดับชาติบ้างนะครับ เพราะว่าศูนย์การเรียนรู้ในระดับชาติมักจะเป็นหน้าเป็นตาของประเทศนั้นๆ อีกทั้งจะยังเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้เห็นว่ารัฐบาลประเทศนั้นๆ สนับสนุนกระบวนการเรียนรู้สาธารณะมากน้อยแค่ไหน

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD เล็งเห็นความสำคัญและตระหนักถึงคุณค่าของการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ระดับชาติ หรือแห่งชาติ จึงมีการศึกษาและเฟ้นหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการพัฒนา โดยได้ข้อสรุปที่ถนนราชดำเนิน (บริเวณพื้นที่กองสลากเก่า) ส่วนหนึ่งเพื่อพัฒนาถนนสายนี้ ให้เป็นย่านการเรียนรู้สร้างสรรค์ (Creative Learning Center) ที่สำคัญสำหรับประเทศไทย ด้วยเพราะพื้นที่แห่งนี้รายล้อมด้วยสถานศึกษา และสถานที่สำคัญหลายแห่ง รวมถึงแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งเป็นทั้งที่เที่ยวสำหรับคนทั่วไป-ที่เที่ยวในกรุงเทพฯ-และแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญด้านต่างๆ จำนวนมาก นอกจากนี้ ยังรายล้อมไปด้วยย่านชุมชนที่ยังมีผู้คนอาศัย ประกอบอาชีพ และดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง หากมีกิจกรรมที่สร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน จะมีส่วนสำคัญในการดึงดูดผู้คนและกิจกรรมทางธุรกิจและสังคมให้เข้ามาในพื้นที่ เป็นการฟื้นฟูเกาะรัตนโกสินทร์ ให้กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง (Urban Revitalization)

Advertisement

ถนนราชดำเนินถือเป็นถนนสายประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญสายหนึ่งของประเทศไทย เป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2442 เพื่อเชื่อมโยงระหว่าง พระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต และเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองในสยามประเทศ โดยมีพระราชประสงค์ให้เป็นถนนที่มีขนาดใหญ่และมีพื้นที่สองข้างทางเป็นที่ตั้งของวังและสถานราชการขนาดใหญ่ มิใช่เป็นย่านการค้า ถนนราชดำเนินแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ราชดำเนินนอก กลาง และใน สำหรับถนนราชดำเนินกลางเป็นส่วนหนึ่งของถนนราชดำเนินที่มีความยาวทั้งสิ้น 1,200 เมตร กว้าง 58 เมตร อยู่ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นนอก เริ่มจากสะพานผ่านพิภพลีลาไปทางทิศตะวันออกไปจนตัดกับถนนตะนาวที่แยกคอกวัว ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และป้อมมหากาฬ ไปสิ้นสุดที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองรอบกรุง โดยเป็นพื้นที่ที่มีโบราณสถาน อาคารอนุรักษ์และพื้นที่เรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ มากมาย ทั้งในด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์และประวัติศาสตร์การเมืองยุคใหม่ ในปัจจุบัน เมื่อสถานที่ราชการ หน่วยงานรัฐ และกิจกรรมทางธุรกิจ ได้ถูกย้ายออกไปนอกพื้นที่เมืองเก่า แม้จะมีการส่งเสริมการท่องเที่ยว ถนนราชดำเนินก็ยังคงเป็นเพียงแค่ทางผ่าน เนื่องจากยังขาดการบูรณาการในการพัฒนา เชื่อมโยง และบริหารจัดการพื้นที่แบบองค์รวม อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ซึ่งจะมีสถานีขึ้นลงรถไฟฟ้าในบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและบริเวณหน้าโรงละครแห่งชาติจะทำให้การเดินทางมายังบริเวณถนนราชดำเนินมีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติจึงเป็นแนวคิดที่จะสามารถช่วยกระตุ้นและดึงดูดประชาชนให้เข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่ถนนราชดำเนินมากขึ้น โดยจะนำไปสู่กระบวนการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ชุมชน และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อพลิกฟื้นพื้นที่ถนนราชดำเนินให้กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง

นอกจากนี้ ศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติยังจะถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา (Intellectual Infrastructure) แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ และเป็นต้นแบบพื้นที่เรียนรู้รูปแบบใหม่ที่สามารถให้บริการการเรียนรู้ที่ทันสมัย หลากหลาย และสามารถขยายผลไปยังแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดการกระจายความรู้และโอกาสในการเรียนรู้ในวงกว้าง (Knowledge Distribution) ก่อให้เกิดการต่อยอดและพัฒนาความรู้ใหม่ๆ (Knowledge Creation) และกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์คุณค่าทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคมจากการนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ (Knowledge Utilization) สู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานของความรู้เพื่อการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมให้มีความก้าวหน้า มั่นคงและยั่งยืนสืบไป

วัตถุประสงค์สำคัญของแนวคิดนี้ คือเพื่อใช้เป็นพื้นที่ที่นำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย (Thai Wisdoms) เพื่อสร้างคุณค่าทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยคัดสรร รวบรวม และนำเสนอความรู้ในหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้มีความน่าสนใจ เข้าใจได้ รวมทั้งจะเป็นศูนย์การเรียนรู้รูปแบบใหม่สำหรับประชาชนทุกช่วงวัย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ปลูกฝังนิสัยรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต และส่งเสริมให้เกิดการค้นพบศักยภาพ (Potential Searching) ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายและสร้างสรรค์ เพื่อจุดประกายความอยากรู้อยากเห็น อยากคิดอยากลอง และอยากแสดงออก เพื่อค้นหาและพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างไม่หยุดนิ่ง

Advertisement

อีกทั้งจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่นำเสนอทักษะแห่งอนาคต (Future Skills) ซึ่งเป็นทักษะความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหาและสร้างสรรค์คุณค่าได้ โดยเฉพาะทักษะความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาของโลก ควบคู่กับการพัฒนา Soft Skills อื่นๆ อาทิ ทักษะในการคิดสร้างสรรค์ (Creativity Thinking Skills) โดยการถ่ายทอดผ่านกิจกรรมและหลักสูตรการพัฒนาทักษะความรู้ที่มีความหลากหลาย สร้างสรรค์ เน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และสุดท้ายเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนที่จะเข้ามาในพื้นที่ราชดำเนินมากขึ้น จากการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้มและสีม่วง จะช่วยให้การเดินทางเข้าถึงพื้นที่ราชดำเนินมีความสะดวกสบายมากขึ้น การมีพื้นที่เรียนรู้ที่ทันสมัยที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาพัฒนาทักษะ และแสดงออกอย่างสร้างสรรค์จะดึงดูดให้ประชาชนเข้ามาเรียนรู้ และท่องเที่ยวในพื้นที่ราชดำเนินมากขึ้น ส่งผลให้ถนนราชดำเนินกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ด้วยบทบาทใหม่ในฐานะพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้ของคนไทยทุกคน

การพัฒนาและปรับบทบาทพื้นที่ราชดำเนินและชุมชนโดยรอบให้เป็นย่านแห่งการเรียนรู้ (Learning District) แห่งใหม่ของประเทศ ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยใช้ข้อได้เปรียบของพื้นที่ราชดำเนินที่สามารถเชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน จะเป็นการใช้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้ามหานคร ที่ช่วยให้การเข้าถึงราชดำเนินมีความสะดวกสบายมากขึ้น โดยจากการศึกษาพบว่าน่าจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าใช้บริการความรู้และร่วมกิจกรรมในพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 2 ล้านคนต่อปี เสริมสร้าง Soft Power ของไทยในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้นครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image