สู้กลับโจร! ‘ส.ธนาคารไทย’ เตรียมคลอดระบบยืนยันตน ‘Biometrics’ ลดภัยแอพพ์ดูดเงิน

สู้กลับโจร! ‘ส.ธนาคารไทย’ เตรียมคลอดระบบยืนยันตน ‘Biometrics’ ลดภัยแอพพ์ดูดเงิน

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักงานระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สำหรับภัยออนไลน์เกิดขึ้นจากแอพพ์ดูดเงิน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินประชาชนมากขึ้น ในส่วนของภาคการเงิน โดยสมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมออกมาตรการป้องกันเพิ่มเติม เพื่อป้องกันและควบคุมแอพพลิเคชั่นโมบายแบงกิ้ง กรณีมือถือมีการเปิดใช้งาน Accessibility Service อาจทำให้มิจฉาชีพเข้าควบคุมระบบโทรศัพท์ได้

“โดยจะยกระดับด้วยการเพิ่มระบบการพิสูจน์ตัวตน (Authentication) ด้วยเทคโนโลยีที่ใช้ยืนยัน/พิสูจน์ตัวตนบุคคล ที่เป็นลักษณะทางกายภาพ (Biometrics Comparison) เช่น ลายนิ้วมือ รูม่านตา และโครงสร้างใบหน้า หรือพฤติกรรมเฉพาะของแต่ละบุคคล คาดว่าจะมีการนำมาใช้ภายใน 2 อาทิตย์นี้ จะนำร่องจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมปรับระบบดังกล่าว” นายยศ กล่าว

นายยศ กล่าวว่า กระบวนการยืนยันตัวตนด้วยการพิสูจน์ตัวตนจะเป็นระบบที่ช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนได้ กรณีที่พลาดโดนมิจฉาชีพหลอก และมิจฉาชีพพยายามจะนำเงินออกจากบัญชี อย่างน้อยเงินที่ถูกนำออกจากระบบไปจะน้อยกว่า เนื่องจากการทำระบบยืนยันตัวตนดังกล่าว จะมีการเงื่อนไขการรับบริการ เช่น การโอนเงินจำนวนมาก ทั้งจำนวนเงิน และความถี่ รวมถึงการปรับเพิ่มวงเงินต่อวัน โดยกำหนดตามพฤติกรรมหรือระดับความเสี่ยงของลูกค้าของธนาคาร

ตัวอย่าง การเพิ่มวงเงิน โดยผู้ใช้บริการต้องกำหนดจำนวนเงินการทำธุรกรรมต่อวัน เช่น ลูกค้ามีเงินในบัญชี 40,000-50,000 บาท ปกติมีการทำธุรกรรมจำนวนเงินไม่เกิน 2,000-5,000 บาท หรือใช้มากสุดที่ 10,000 บาทต่อวัน ดังนั้น ลูกค้าอาจตั้งค่าวงเงินอย่างต่ำไม่เกิน 10,000 บาท จากนั้นระบบจะตั้งค่าข้อมูลดังกล่าว โดยให้ลูกค้ายืนยันผ่านการพิสูจน์ตัวตนบุคคล (Biometrics Comparison) หรือการใช้ใบหน้าลูกค้าเพื่อยืนยันในขั้นตอนสุดท้าย ทั้งนี้ ลูกค้าต้องอนุญาตให้ธนาคารมีรูปภาพของตนเองด้วย

Advertisement

“หากมิจฉาชีพเข้าถึงระบบแอพพ์แล้ว จะสามารถโอนเงินออกจากบัญชีได้ไม่เกินวงเงินที่ลูกค้ากำหนด แม้จะเข้าไปแก้ไขการตั้งค่า แต่ข้อมูลไม่สามารถเปลี่ยนได้ เนื่องจากต้องใช้การยืนยันผ่านใบหน้าเท่านั้น”นายยศ กล่าว

ทั้งนี้ กรณีที่ประชาชนได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกแล้ว ธนาคารจะพิจารณาการช่วยเหลือเป็นรายกรณี อย่างไรก็ตาม ความเสียหายจากแอพพ์ดูดเงินไม่ได้เกิดขึ้นจากระบบแอพพ์โมบายแบงกกิ้งของธนาคาร ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของธนาคาร ซึ่งเป็นวิธีการตามกฎหมายอยู่แล้ว

ข่าวน่าสนใจอื่น:

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image