“ศักดิ์สยาม” ปาฐกถาแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ “ขอนแก่น” และภาคอีสาน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปาฐกถา เรื่อง แนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ จังหวัดขอนแก่น และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงแรมราชาวดี รีสอร์ท ขอนแก่น
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวก ปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่งสินค้า สามารถเข้าถึงการให้บริการได้อย่างเท่าเทียม สนับสนุนการค้า การท่องเที่ยวสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่และเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการตามนโยบาย พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโครงข่ายคมนาคม การส่งเสริมการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของประเทศ โดยเร่งรัดการเปิดให้บริการโครงข่ายคมนาคม เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้ง กระทรวงคมนาคมได้เร่งพัฒนาโครงข่ายคมนาคมในทุกมิติ ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่สำคัญที่ได้ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงแผนงานการดำเนินงานในอนาคตสามารถสรุปได้ดังนี้
ผลการดำเนินงานด้านคมนาคมทางถนนในปี 2562 – 2565
1. กฎหมายกำหนดความเร็วสูงสุดบนทางหลวงไม่เกิน 120 กม./ชม.
2. มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) เชื่อมกรุงเทพฯ ไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทาง 196 กิโลเมตร โดยจะเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จในปี 2566 คาดว่าจะเปิดบริการบางส่วนได้ในปี พ.ศ. 2567 และจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2568
3. สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) จังหวัดบึงกาฬ ระยะทาง 13 กิโลเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ ปี 2567
4. แผนแม่บทการพัฒนา MR-Map โครงการที่กระทรวงคมนาคมวางไว้เพื่ออนาคตของประเทศ คือ แผนแม่บทการพัฒนา MR-Map เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคของไทย และเชื่อมโยงประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ มีโครงการที่ต้องสานต่อการดำเนินงานปี 2566 ได้แก่ การพัฒนาจุดพักรถ Rest Area บนมอเตอร์เวย์สาย M6 บางปะอิน-โคราช จำนวน 15 แห่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำร่างเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน (RFP) โดยจะประกาศเชิญชวนเพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในปี 2566
การพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางราง
กระทรวงคมนาคมมีนโยบายในการมุ่งส่งเสริมการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางถนนไปสู่ทางราง ทั้งการเดินทางในเมือง การเดินทางระหว่างเมือง และการขนส่งสินค้า จึงได้เร่งผลักดันการพัฒนาโครงข่ายระบบรางทั่วประเทศ โดยมีผลการดำเนินงานปี 2562 – 2565 ดังนี้
1. รถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ตามแผนเริ่มเปิดให้บริการ ปี 2570
2. รถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างงานโยธา คาดว่าเริ่มเปิดให้บริการในปี 2569
3. รถไฟทางคู่สายใหม่ช่วงบ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างเวนคืนที่ดินเพื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างงานโยธา คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2569
การพัฒนาคมนาคมทางอากาศ
ภายหลังจากการเปิดประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2565 ประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวของผู้คนทั่วโลก และจากการประมาณการของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ( ทอท.) พบว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยในปี 2565 ประมาณ 100 ล้านคน นอกจากนี้ สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวจะเข้าสู่ประเทศไทยมีสูงถึง 200 ล้านคนในปี 2574 กระทรวงคมนาคมจึงได้เร่งพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินอู่ตะเภา และสนามบินอื่นๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น
โดยมีโครงการที่สำคัญด้านคมนาคมทางอากาศ ที่ดำเนินการในปี 2562 – 2565 โดยเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานในภูมิภาค ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ 1) ท่าอากาศยานขอนแก่น ให้สามารถรองรับผู้โดยสาร 5 ล้านคน/ปี 2) ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ให้สามารถรองรับผู้โดยสาร 2.88 ล้านคน/ปี 3) ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด ให้สามารถรองรับผู้โดยสาร 1.7 ล้านคน/ปี ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566 รวมทั้ง โครงการทางอากาศที่จะสานต่อปี 2566 ได้แก่ 1) ท่าอากาศยานมุกดาหาร 2) ท่าอากาศยานบึงกาฬ ทั้งนี้ ในปัจจุบันทั้ง 2 โครงการอยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในอนาคต
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมดำเนินการพัฒนาโครงการสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านการคมนาคม เฉพาะในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ประกอบด้วย
การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงจังหวัดขอนแก่น
1) โครงการขยายช่องจราจรแยก ทล. 208 (ท่าพระ) – มหาสารคาม ลักษณะงาน ขยายทางหลวง เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 18 กิโลเมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ และเปิดให้ใช้บริการแล้ว
2) โครงการขยายช่องจราจรแยก ทล. 208 (ท่าพระ) – มหาสารคาม งานขยายทางหลวงจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ดำเนินการแล้วเสร็จ และเปิดให้ใช้บริการแล้ว
3) โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 2 ขอนแก่น – บ.ห้วยหินลาด ระยะทาง 24.042 กิโลเมตร
4) โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 2 บ.ห้วยหินลาด – อ.โนนสะอาด ระยะทาง 30 กิโลเมตร
5) โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 229 สาย อ.มัญจาคีรี – แยกช่องสามหมอ ระยะทาง 26.335 กิโลเมตร
6) โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 2 ขอนแก่น – บ.ห้วยหินลาด งานการบูรณะปรับปรุงพื้นผิวจราจรที่ชำรุดเสียหาย ก่อสร้างทางคู่ขนานบางช่วง และปรับปรุงสะพานบางแห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าแล้วเสร็จ มิถุนายน 2566
7) โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 2 บ.ห้วยหินลาด – อ.โนนสะอาด งานบูรณะปรับปรุงพื้นผิวจราจรที่ชำรุดเสียหาย ก่อสร้างทางคู่ขนานบางช่วง และขยายช่องจราจรบางช่วง อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าแล้วเสร็จ กุมภาพันธ์ 2566
8) โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 229 สาย อ.มัญจาคีรี – แยกช่องสามหมอ งานการขยายช่องจราจร จาก 2 ช่องเป็น 4 ช่องจราจร อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าแล้วเสร็จ มิถุนายน 2567
การพัฒนาทางหลวงชนบทในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น
1) สะพานข้ามลำน้ำชี ต.วังแสง, โพธิ์ไชย อ.ชนบท, โคกโพธิ์ไชย
2) สะพานข้ามลำน้ำชี ต.พระบุ, โคกสำราญ อ.พระยืน, บ้านแฮด
3) สะพานข้ามลำน้ำชี ต.โนนพะยอม, กุดเค้า อ.ชนบท, มัญจาคีรี
โดยโครงการทางหลวงชนบทในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นที่ได้รับประมาณปี 2566 และกำลังดำเนินการ จำนวน 52 โครงการ แบ่งเป็น 1. งานก่อสร้างทางและสะพาน 9 โครงการ 2. งานบำรุงรักษาทาง 24 โครงการ และ 3. งานอำนวยความปลอดภัย 19 โครงการ เช่น ตัวอย่างโครงการ ที่กำลังดำเนินการ ถนนสาย ขก.4020 แยก ทล.2440 – บ.นาเชือก (ตอนขอนแก่น) อ.หนองสองห้อง ผลการก่อสร้าง 28.00%
ส่วนโครงการทางหลวงชนบทในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น แผนปี 2567 ดำเนินการในอนาคตจำนวน 117 โครงการ แบ่งเป็น 1) งานก่อสร้างทางและสะพาน 12 โครงการ 2) งานบำรุงรักษาทาง 51 โครงการ และ 3) งานอำนวยความปลอดภัย 54 โครงการ วงเงิน 268 ล้านบาท เช่น ถนนสาย ขก.2013 แยก ทล.12 – บ.แก้งคร้อ อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น ระยะทางทั้งสิ้น 10.10 กิโลเมตร
การพัฒนาทางราง
โดยมีการพัฒนารถไฟทางคู่/ทางคู่สายใหม่ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ได้แก่
1. การพัฒนารถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน (2560 – 2564) เส้นทางถนนจิระ – ขอนแก่น ระยะทาง 167 กิโลเมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการ
2. การพัฒนารถไฟทางคู่ระยะที่ 2 (2565 – 2569) เส้นทางขอนแก่น – หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร อยู่ระหว่างเสนอ ครม.
3. การพัฒนาทางรถไฟสายใหม่ (2560 – 2564) เส้นทางบ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร อยู่ระหว่างก่อสร้าง
4. การพัฒนาทางรถไฟสายใหม่ระยะถัดไป เส้นทางนครสวรรค์ – บ้านไผ่ ระยะทาง 304 กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จ ปี 2567 ออกแบบรายละเอียด และจัดทำ EIA
ส่วนการพัฒนารถไฟความเร็วสูงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 2 โครงการ อยู่ในระยะเร่งด่วน (2560 – 2564) ดังนี้
1. ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง
2. ระยะที่ 2 นครราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร สถานีทั้งหมด 5 สถานี ได้แก่สถานีบัวใหญ่, สถานีบ้านไผ่, สถานีขอนแก่น, สถานีอุดรธานี, สถานีหนองคาย ขณะนี้ ออกแบบแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการพิจารณารายงาน EIA เสนอ ครม. ปี 2566 และกำหนดเปิดให้บริการปี 2571
การพัฒนาทางน้ำในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ประกอบด้วย
1. การพัฒนาปรับปรุงเขื่อนป้องกันตลิ่งพังแม่น้ำพอง บริเวณบึงเนียม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ปัจจุบันโครงสร้างเขื่อนพบความเสียหายจากการใช้งานมาเป็นเวลานาน จำเป็นต้องปรับปรุงเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง โดยมีความยาวประมาณ 100 เมตร ความสูงตลิ่งประมาณ 9 เมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564
2. ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพังบริเวณลำน้ำพอง โครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา บ้านเหมือดแอ่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพื่อป้องกันความเสียหายของอาคารและลดปัญหาการพังทลายจากการกัดเซาะริมตลิ่งบริเวณดังกล่าว จึงทำการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพังความยาวประมาณ 280 เมตร ความสูงตลิ่งประมาณ 10 เมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ เมื่อเดือนสิงหาคม 2564
3. การพัฒนาและบำรุงรักษาร่องน้ำในพื้นที่ จ.ขอนแก่น โครงการขุดลอกแม่น้ำ ลำคลอง เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะตลิ่งพัง เพิ่มพื้นที่ในการระบายน้ำในฤดูน้ำหลาก และเพื่อกักเก็บน้ำไว้ในการอุปโภค – บริโภค ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น
การพัฒนาทางอากาศ
การพัฒนาท่าอากาศยานขอนแก่น (Khon Kaen Airport) มีแผนพัฒนาโครงการการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ วงเงิน 2,004.90 ล้าน และโครงการขยายลานจอดเครื่องบิน วงเงิน 499.7 ล้านบาท
ท่าอากาศยานขอนแก่น ความสามารถในการรองรับเครื่องบินลำตัวกว้างรุ่น Airbus A330/ A350/ Boeing 777 รองรับการจอดรถสูงสุด 550 คัน รองรับปริมาณผู้โดยสารสูงสุด 1,500 คนต่อชั่วโมง รองรับเครื่องบิน A320/ Boeing 737 สูงสุด 5 ลำ ปัจจุบันมีลานจอดอากาศยานขนาด 144 x 300 เมตร ทางวิ่งขนาด 45 x 3,050 เมตร พื้นที่ทั้งหมด 924-3-27 ไร่ อาคารที่พักผู้โดยสาร รองรับผู้โดยสารได้ 1,500 คน/ ชั่วโมง (รวมอาคารหลังเดิมเมื่อปรับปรุงแล้วเสร็จ รองรับผู้โดยสารได้ 2,000 คน/ชั่วโมง) อาคารจอดรถ 7 ชั้นพร้อมทางเชื่อม
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้เน้นย้ำให้การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมของกระทรวงคมนาคม ต้องสะดวก รวดเร็ว ประหยัด ราคาสมเป็นธรรม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิด “คมนาคมพร้อม” เคียงข้าง ให้บริการประชาชน และร่วมขับเคลื่อน “ไทย” ไปด้วยกัน