แผนลงทุนพลังงานปี66 ขุมทรัพย์ร้อน 3 แสน ล. !!
ภาคการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่ใช้เม็ดเงินมหาศาล จากการสแกนทุกกระทรวง พบที่โดดเด่นเม็ดเงินลงทุนมหาศาล คือกระทรวงพลังงาน
แม้ในห้วงปัจจุบัน สถานการณ์ราคาพลังงาน ทั้งค่าไฟ น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ล้วนเป็นเครื่องมือชั้นเยี่ยมในการโจมตี ล่าสุดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายรัฐบาล โดยช่วงใกล้เลือกตั้งพลังงานถูกใช้หาเสียง โกยคะแนนให้พรรคการเมือง เนื่องจากเป็นเรื่องใกล้ตัว การขึ้นลงส่งผลกระทบในมิติต่างๆ พลังงานซึ่งเป็นทั้งต้นทุนโดยตรงและแฝง เปรียบไปก็ไม่ต่างจากเป็นสินค้าการเมือง แต่ไม่ว่าเสียงของฝ่ายการเมืองจะเป็นอย่างไร ในฟากฝ่ายของการลงทุนยังดำเนินต่อไป
เห็นได้จากแผนลงทุนปีนี้ ใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาทในปี 2566 เลยทีเดียว
กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้ข้อมูลว่า ปี 2566 กระทรวงพลังงานวางบทบาทองค์กรสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) พร้อมกับติดตามและบริหารจัดการสถานการณ์ราคาพลังงาน สร้างพันธมิตรทุกภาคเพื่อให้เกิดการลงทุนธุรกิจพลังงานใหม่ๆ เป้าหมายคือการมุ่งสู่พลังงานสะอาด ตอบโจทย์สังคมยุคไร้คาร์บอน กำหนดไว้ภายใต้แผนพลังงานชาติที่อยู่ระหว่างจัดทำ คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ปี 2566 โดยการวางแผนงานและโครงการต่างๆ คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนไม่ตํ่ากว่า 3 แสนล้านบาท
รายละเอียดการลงทุนด้านพลังงานสู่สังคมคาร์บอนตํ่า เน้นส่งเสริมพลังงานสะอาด ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนไม่ตํ่ากว่า 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้ามา ตามเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2065 โดยการลงทุนระยะยาว
อาทิ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 กำลังการผลิตรวม 5,203 เมกะวัตต์ เม็ดเงินลงทุนไม่ตํ่ากว่า 1 แสนล้านบาท การจัดทำแผนบูรณาการการลงทุน Grid Modernization และขับเคลื่อนสมาร์ทกริดของประเทศ ซึ่งในส่วนนี้ระยะ 5 ปี (2565-2570) จะต้องใช้เงินลงทุนของทั้ง 3 การไฟฟ้าถึง 2.72 แสนล้านบาท จาก 34 โครงการ ดำเนินการปลดล็อกปรับปรุงกฎกติกาเพื่อส่งเสริมการซื้อขายไฟฟ้าสะอาดเชิงพื้นที่ และส่งเสริมการลงทุนรถอีวี ตามนโยบาย 30@30 และสถานีอัดประจุไฟฟ้า
ที่มีเป้าหมายในปี 2573 จะมีหัวจ่ายฟาสต์ ชาร์จ จำนวน 12,000 หัวจ่าย รวมถึงการส่งเสริมผลิตแบตเตอรี่สำหรับอีวี ส่งเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศภายในปี 2568 โดยการให้เงินอุดหนุนการผลิตและการใช้แบตเตอรี่สำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว
นอกจากนี้ จะจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสำหรับหน่วยงานของรัฐ ให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเป็นผู้ลงทุน รวมถึงการบังคับใช้เกณฑ์ด้านพลังงานสำหรับการออกแบบอาคารสร้างใหม่ (บีอีซี) บังคับใช้กับอาคารพื้นที่ ไม่ตํ่ากว่า 2,000 ตารางเมตร คาดว่าจะเกิดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ตํ่ากว่า 230,000 ล้านบาท
รวมทั้งจะเร่งลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน ทั้งเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ จากพืชพลังงานเพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก กำลังผลิต 200 เมกะวัตต์ จะช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจตลอด 20 ปี ประมาณ 61,800 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง ค่าเชื้อเพลิง และค่าบำรุงรักษา 28,000 ล้านบาท และช่วยเกษตรกรมีรายได้จากเชื้อเพลิงระยะยาว 20 ปี มูลค่าประมาณ 33,800 ล้านบาท และเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพกว่า 23,600 อัตรา ลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงานและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน
อีกทั้งกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (ซีซียูเอส) 23 โครงการเงินลงทุนจากรัฐและเอกชนกว่า 2.65 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ 2 รัฐวิสาหกิจพลังงาน คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังเตรียมแผนลงทุนปีนี้ วงเงิน 31,552 ล้านบาท แบ่งเป็น ระบบผลิต แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ แผนการจัดหาอะไหล่และการซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า 11,166 ล้านบาท และระบบส่ง แผนการขยายระบบส่งเพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในแต่ละภูมิภาค 20,386 ล้านบาท และบริษัทในเครือ แผนการลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้าของบริษัทในเครือ กฟผ. รวม 3,478 ล้านบาท
ขณะที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทในกลุ่ม ปตท. จะลงทุนรวม 200,290 ล้านบาท แบ่งเป็น ปตท. 20,401 ล้านบาท อาทิ โรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 7 ท่อส่งก๊าซฯบางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ท่อส่งก๊าซฯเส้นที่ 5 บริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% 11,460 ล้านบาท และบริษัทในกลุ่ม ปตท. ทั้ง ปตท.สผ. โออาร์ จีซี ซีพีเอสซี ไทยออยล์ และไออาร์พีซี 168,431 ล้านบาท
อาทิ ลงทุนในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ปรับปรุงประสิทธิภาพธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียน อาทิ แสงอาทิตย์ ลม รวมทั้งพัฒนาและต่อยอดธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก
การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดจะเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการดูแลผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ผันผวนต่อเนื่องให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง ปลัดกุลิศเน้นย้ำ
ด้าน นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้ข้อมูลว่า สถิติลงทุนกิจการด้านพลังงาน ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2563-65) มีจำนวน 1,137 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้น 181,411 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วง 3 ปีก่อนหน้า (2560-62) ซึ่งมีจำนวน 534 โครงการ เงินลงทุนรวม 103,054 ล้านบาท
โดยกิจการที่ลงทุนมากที่สุด คือ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ 1,108 กิจการ 68,470 ล้านบาท กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะหรือเชื้อเพลิงจากขยะ (อาร์ดีเอฟ)5 กิจการ 5,380 ล้านบาท และกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานอื่นๆ อาทิ ก๊าซธรรมชาติ 24 กิจการ 107,561 ล้านบาท รวม 1,137 กิจการ 181,411 ล้านบาท
นอกจากนี้ บีโอไอยังมีมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทน อาทิ ติดตั้งแผงโซลาร์ หรือเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรประหยัดพลังงาน โดยในช่วงปี 2563-65 มีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 738 โครงการ เงินลงทุนรวม 41,999 ล้านบาทเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วง 3 ปีก่อนหน้า ซึ่งมีจำนวน 405 โครงการ เงินลงทุนรวม 24,699 ล้านบาท
เลขาฯนฤตม์เน้นย้ำว่า การลงทุนด้านพลังงาน บีโอไอจะเน้นส่งเสริมให้เกิดการลงทุน 3 ด้านที่สำคัญ คือ การลงทุนในกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพราะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเทรนด์ในเรื่อง ESG มีความเข้มข้นมากขึ้น หลายประเทศเริ่มออกกติกากีดกันสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูง นอกจากนี้ บีโอไอยังเพิ่งเปิดส่งเสริมพลังงานใหม่ คือ การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากไฮโดรเจน รวมทั้งการส่งเสริมให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS)
2.การลงทุนเพื่อปรับเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม อาทิ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานสมัยใหม่มาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลังงาน การเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน อาทิ การติดตั้งแผงโซลาร์ และ 3.การลงทุนในกิจการยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งการผลิตรถยนต์อีวี การติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า การพัฒนาซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่นต่างๆ เกี่ยวกับอีวี และการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ อาทิ แบตเตอรี่ มอเตอร์
ถือเป็นเม็ดเงินมหาศาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ