สกู๊ปหน้า 1 : ถอดรหัส ‘ราคาน้ำมัน’ ผันผวนขึ้น-ลงรายวัน
สถานการณ์ ราคาน้ำมันโลก ในปัจจุบัน แม้จะผันผวนบ้าง แต่ทิศทางขาลงแล้ว สะท้อนจากราคาขายปลีกเริ่มลดลงต่อเนื่องและสลับขึ้นราคาเล็กน้อย
แนวโน้มที่ดีดังกล่าว ทำให้เสถียรภาพกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสภาพคล่องดีขึ้นตาม ล่าสุดฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สถานะการติดลบเริ่มลดลงเป็นลำดับ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ติดลบ 108,610 ล้านบาท เปรียบเทียบกับเมื่อสองสัปดาห์ก่อนหน้า เมื่อวันที่ 29 มกราคม ติดลบ 113,436 ล้านบาท จากนั้นวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ติดลบ 111,409 ล้านบาท
เป็นเหตุให้ที่ประชุม คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติให้ปรับลดราคาขายปลีกดีเซลลงอีก 50 สตางค์ต่อลิตร หรือลดลงมาอยู่ที่ 33.94 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ถือเป็นการปรับลดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 หลังจากปรับราคาดีเซลลง 50 สตางค์ต่อลิตร มาอยู่ที่ 34.44 บาทต่อลิตร ตามมติ กบน.เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ปีนี้ และมีผลวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื่องจากราคาดีเซลตลาดโลกอ่อนตัวลง เมื่อนำมาพิจารณาสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจึงดีขึ้น
ราคาขายปลีกดีเซล เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกยังมีความผันผวน แต่ไม่มากนัก เฉลี่ยราคาน้ำมันดีเซล (Gas Oil) ระหว่างวันที่ 1-13 กุมภาพันธ์ อยู่ที่ 106.29 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้การบริหารจัดการสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ราคาตลาดโลกเริ่มผ่อนคลาย จนฐานะกองทุนน้ำมันดีขึ้น ไม่เพียงส่งผลต่อราคาดีเซล แต่ส่งผลต่อราคากลุ่มเบนซินให้มีโอกาสลดลงด้วย
เห็นจากมติประชุม คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสม ปรับค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลับสู่สภาวะปกติตามปี 2563 ทั้งกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และกลุ่มน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เฉลี่ยอยู่ที่ 2.00 บาทต่อลิตร ส่งผลให้กองทุนน้ำมันมีรายรับในส่วนของน้ำมันดีเซลลดลงเป็นประมาณ 37.23 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 1,117 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้ราคาขายปลีกกลุ่มน้ำมันเบนซินปรับลดลงประมาณ 0.90-1.20 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์
จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายเวลามาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร ออกไปอีกจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม ประกอบกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนบัญชีน้ำมันมีรายรับประมาณ 516 ล้านบาทต่อวัน (หรือ 14,455 ล้านบาทต่อเดือน) ทำให้กองทุนน้ำมันในส่วนบัญชีน้ำมันมีฐานะติดลบน้อยลง
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ กบง.จะมีมติลดค่าการตลาดกลุ่มเบนซินลงเหลือ 2 บาทต่อลิตร เพื่อลดราคาขายปลีกกลุ่มเบนซินลง 0.90-1.20 บาทต่อลิตร แม้ผู้ค้าทั้งพีทีทีและบางจาก ยังไม่ประกาศลดตาม และจากการตรวจสอบโครงสร้างราคาน้ำมันประจำวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พบว่าค่าการตลาดกลุ่มเบนซินต่ำสุดอยู่ระดับ 2.58 บาทต่อลิตรของแก๊สโซฮอล์ 95 และสูงสุดอยู่ที่ 3.71 บาทต่อลิตรของอี 85
จากการเคลื่อนไหวดังกล่าว ทำให้เกิดข้อสงสัย ทำให้ความถี่การปรับขึ้นหรือลงของราคาน้ำมันอยู่ในวงแคบและอัตราเปลี่ยนขยับเล็กน้อย ทั้งมองว่าอนาคตลดแน่เท่านั้นเท่านี้!!
อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความเห็นต่อราคาน้ำมันขายปลีกของไทยว่า ปัจจุบันราคาน้ำมันในตลาดโลกยังผันผวน ส่งผลให้น้ำมันภายในประเทศยังไม่นิ่งจากหลายปัจจัย อาทิ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ หรือความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังคงมีอยู่ การที่สหภาพยุโรป (อียู) คว่ำบาตรน้ำมันดิบรัสเซียทางทะเล รวมถึงร่วมมือกับออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศสมาชิกจี 7 นำโดยสหรัฐ กำหนดเพดานราคาน้ำมันดิบส่งออกจากรัสเซียทางทะเล ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2565 ส่งผลต่อปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากรัสเซียให้ลดลง กระทบอุปทานน้ำมันโลกตึงตัวมากขึ้น
เขาสะท้อนให้เห็นอีกว่า ขณะเดียวกัน ปัจจัยหลักส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาในประเทศคือ ราคาน้ำมันในตลาดโลก ประเทศไทยอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปจากตลาดสิงคโปร์ เพราะมีการซื้อขายน้ำมัน เรียกสิงคโปร์ว่าเป็นผู้ค้าคนกลาง รวมถึงราคาน้ำมันสะท้อนถึงการซื้อ-ขาย ของทุกประเทศในภูมิภาคนี้ ดังนั้น ถ้าราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์ปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาขายหน้าปั๊มปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม
ขณะที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ เป็นฐานกำหนดราคาส่งออกของประเทศต่างๆ แม้ว่าการส่งออกของสิงคโปร์จะเริ่มลดลง เพราะมีกำลังกลั่นเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ แต่ราคาส่งออกของประเทศต่างๆ ยังคงใช้ราคาน้ำมันของตลาดสิงคโปร์ เป็นฐานในการกำหนดราคาส่งออก และการซื้อขายเพื่อส่งออกจากประเทศต่างๆ ยังทำการซื้อขายที่สิงคโปร์เป็นหลัก
รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ ราคาน้ำมันไทยกับประเทศอื่นไม่เท่ากัน เนื่องจากมีปัจจัยทำให้ราคาน้ำมันขายในแต่ละประเทศต่างกันจากปัจจัยโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมัน โดยประเทศไทย ในภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันสูงขึ้นตามไปด้วย โครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน สำหรับไทยราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊มน้ำมันนั้นผ่านผู้เกี่ยวข้องถึง 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่
1.ต้นทุนเนื้อน้ำมัน (40-60%) คือต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ผันผวนไปตามราคาน้ำมันในตลาดโลก 2.ภาษี (30-40%) มีการจัดเก็บ ดังนี้ ภาษีสรรพสามิต จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต นำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ ภาษีเทศบาล จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ในอัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต มาตรา 150 และจัดส่งให้กระทรวงมหาดไทย เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บ 7% ของราคาขายส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และจัดเก็บอีก 7% ของค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด
3.กองทุน (5-20%) มีการจัดเก็บ ดังนี้ เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จัดเก็บตามประกาศ กบน.เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน
และ 4.ค่าการตลาด (10-18%) คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน
ดังนั้น จะเห็นได้ถึงโครงสร้างราคาน้ำมัน 1 ลิตรที่ขายในหน้าปั๊ม มีปัจจัยหลายตัวมาเกี่ยวข้อง แม้อยากใช้น้ำมันในราคาถูก แต่ต้องมีความเข้าใจในราคาน้ำมัน และไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่มีปัญหาน้ำมันแพง แต่หลายๆ ประเทศก็ประสบปัญหานี้ไม่แพ้กัน รวมถึงไทยไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเจอกับความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก เพราะฉะนั้น หากไม่มีเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองไว้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นมากๆ จะไม่มีเงินสำรองเพื่อช่วยรักษาสมดุลของราคาน้ำมันในประเทศ จนทำให้เกิดวิกฤตราคาน้ำมันก็เป็นได้
จากความเห็นนี้ ไขข้องสงสัยได้ดีว่า ทำไมราคาน้ำมันแค่เขยิบๆๆๆ