“ณัฐพงศ์” จี้พรรคการเมืองแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ดันเป็นวาระแห่งชาติ ระบุ 4 ปัญหาซ้ำเติมเอสเอ็มอี

“ณัฐพงศ์” จี้พรรคการเมืองแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ดันเป็นวาระแห่งชาติ ระบุ 4 ปัญหาซ้ำเติมเอสเอ็มอี

นายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ที่เป็นช่วงใกล้เลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะกำหนดเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ พรรคการเมืองเริ่มหาเสียงกันนั้น ปัจจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำน่าจะเป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่ถูกหยิบยกมาเป็นหัวข้อในการหาเสียง เพราะจากผลของโควิด-19 คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ รายได้หด ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ปัญหาความยากจนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งถ่างออกมากขึ้น ดังนั้น พรรคการเมืองไหนทำให้ประชาชนทุกกลุ่มรู้สึกว่าได้รับการดูแล พรรคไหนตอบโจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำได้ อย่างเช่น มีการเสนอนโยบายพักหนี้ ทำให้คนรู้สึกว่า ได้รับการใส่ใจ ก็เชื่อว่า นโยบายเหล่านี้จะได้รับความสนใจ

นายณัฐพงศ์กล่าวว่า เรื่องความเหลื่อมล้ำมีทุกประเทศและมีมานานแล้ว ในประเทศไทยเริ่มเห็นปัญหาเหลื่อมล้ำชัดเจนประมาณ 8-10 ปีที่แล้ว ซึ่งเกิดจากการปรับตัวตามระบบเศรษฐกิจใหม่ไม่ทันการณ์ เช่น ระบบการค้าขายออนไลน์มีมูลค่าสูง เติบโตแบบก้าวกระโดด แต่รากฎว่า รายได้กลับอยู่กับแพลตฟอร์มของต่างชาติ และต่างชาติเสียภาษีให้กับประเทศไทยน้อยมาก เพราะต่างชาติไม่มีสำนักงานในไทย หรือการลงทุนแบบกองทุนร่วมทุน (Venture Capital) เป็นที่นิยมมาก แต่กฎหมายไทยไม่เอื้อ ทำให้นักลงทุนเลี่ยงไปจดทะเบียนจัดตั้งที่สิงคโปร์แทน ดังนั้น เมื่อสภาพแวดล้อมไม่เอื้อ ทำให้ประเทศเสียประโยชน์ ขณะที่นักธุรกิจไทยก็มีปัญหา ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการทำธุรกิจอีกด้วย

“ผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำ ส่งผลอย่างมากต่อนักธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำในภาคการเงิน ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ไทยต้องเร่งแก้โดยด่วน ไม่เช่นนั้น เอสเอ็มอีไทยจะล้มหายตายจากมากกว่านี้ “
นายณัฐพงศ์กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในภาคการเงินไทยที่ต้องเร่งแก้ไข มีอยู่ 4 เรื่องหลัก ได้แก่
1.เรื่องส่วนต่างดอกเบี้ย (Spread) ไทยเคยติดอันดับประเทศที่มีส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากที่สูงที่สุดในโลกมาแล้ว โดยฝากเงินได้ไม่ถึง 1% แต่พอกู้เงิน จ่าย 7-8% ผลคือ ต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการสูง ขณะที่การฝากเงิน คือ การสะสมความมั่งคั่งอย่างหนึ่งเพราะได้ดอกเบี้ย ตอนนี้ความมั่งคั่งลด แต่ต้นทุนเพิ่ม กลายเป็นว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อยู่เฉย ๆ ก็มีแต่จะจนลง

2.ดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างรายเล็กกับรายใหญ่ต่างกันลิบลับ ดอกเบี้ยเงินกู้รายใหญ่ 1% กว่า ขณะที่รายเล็กอยู่ที่ 7-8% ดังนั้น นักธุรกิจ 2 คน ทำในเรื่องเดียวกันแต่มีต้นทุนต่างกัน ทำธุรกิจแข่งขันกัน อย่างไรก็แพ้ เพราะต้นทุนสูงกว่าตั้งแต่ต้น ดังนั้นปล่อยโครงสร้างนี้ต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและกระทบต่อทุกคนคือ เอสเอ็มอีจะมีแต่เจ๊ง เปลี่ยนตัวเองมาเป็นลูกจ้างแทน

Advertisement

3.ปัญหาหนี้เอสเอ็มอี ซึ่งกลัวกันมากว่า ปล่อยกู้มาก ๆ ไม่เข้มงวด จะเป็นหนี้เสียเยอะนั้น ถ้าดูให้ละเอียด จะพบว่า หนี้เสียของรายเล็ก หากนับรายหัวยังมีสัดส่วนต่ำกว่าหนี้รายใหญ่ หนี้คนตัวเล็กต่อให้ล้มทั้งหมด ก็ไม่ทำให้สถาบันการเงินล้ม แต่สถาบันการเงินจะล้มเพราะรายใหญ่ แต่รัฐกลับออกนโยบายแบบเหมารวมที่ทำให้รายเล็กเสียเปรียบ เช่น นโยบายโกดังพักชำระหนี้ กำหนดเงื่อนไขที่เอสเอ็มอีไม่สามารถทำได้
4. เรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินของคนตัวเล็ก เช่น รายย่อยต้องการกู้เงิน 80,000 บาทจากธนาคารรัฐ ทำไมต้องเช็กเครดิตบูโร ถ้าเกิดติดเครดิตบูโร แม้ว่าจะเป็นช่วงโควิด-19 ระบาด แบงก์ก็ปฏิเสธการให้กู้ มันเป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่ Make Sense กฎเกณฑ์เหล่านี้ไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นหลักปฏิบัติข้อตกลงระหว่างสถาบันการเงินกันเอง ซึ่งสามารถยกเว้นชั่วคราวได้หรือไม่ เช่น ยกเว้นเครดิตบูโรสำหรับการกู้เงินต่ำกว่า 100,000 บาทเป็นเวลา 1 ปี เป็นต้น

“หากไทยไม่เร่งแก้ปัญหาเหล่านี้ จะยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำหนักขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ไม่น่าประหลาดใจที่วันนี้เวียดนามเริ่มแซงไทยในบาง Sector แล้ว ทำไมวันนี้เกาหลีไปไกลมากเรื่อง Soft Power ทั้ง ๆ ที่สมัยก่อน ประเทศไทยมีเยอะมาก Soft Power ของเรายังมีเสน่ห์ ยังขายได้อยู่ แต่รัฐบาลจะต้องสนับสนุนอย่างจริงจัง ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะต้องเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาล และทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ และบูรณาร่วมกันอย่างจริงจัง” นายณัฐพงศ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image