สงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ครบปีไม่จบง่าย หวั่นปะทุซ้ำ ฉุดเศรษฐกิจลงเหว

สงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ครบปีไม่จบง่าย หวั่นปะทุซ้ำ ฉุดเศรษฐกิจลงเหว

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้หลายสำนักงานวิเคราะห์เศรษฐกิจระดับโลกได้แถลงการณ์ลดปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หมายความว่าทุกประเทศทั่วโลกมีโอกาสเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ขณะเดียวกัน สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จะครบรอบ 1 ปีในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ในสถานการณ์ปัจจุบันไม่มีท่าทีว่าสงครามจะสิ้นสุดลง ในทางกลับกันทั้งสองประเทศจะมีการยกระดับความรุนแรง

นายเกรียงไกรกล่าวว่า เนื่องจากช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งสองฝั่งมีการส่งสัญญาณยกระดับความรุนแรง เช่น รัสเซียมีการเพิ่มทหารประจำการอีก 5 แสนนาย มีการส่งกองทัพเข้าใกล้ชายแดนติดกับยูเครน และมีการผลิตอาวุธ ขณะที่ฝั่งยูเครนได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศ อาทิ สหรัฐ เยอรมัน และพันธมิตรนาโต ที่เร่งระดมส่งอาวุธ รถถัง กำลังพลให้กับยูเครน เป็นต้น จากเรื่องสงครามที่จะครบ 1 ปี และจะเกิดสันติภาพนั้น ในทางกลับกันเหมือนเป็นเพียงการยกระดับที่อาจมีการสู้รบยืดเยื้อ

นายเกรียงไกรกล่าวว่า จากภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนไม่สิ้นสุดง่าย ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก อาจเป็นสัญญาณความเปราะบางที่ส่งผลต่อการส่งออกไทยชัดเจน หากดูตัวเลขเศรษฐกิจที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ระบุการส่งออกปี 2565 ขยายตัวเพียง 5.5% และเศรษฐกิจเติบโต 2.6% ขณะที่ปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจเติบโต 2.7-3.7% การส่งออกอยู่ที่ 1.6%

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะตัวเลขใดต้องคำนึงถึงเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักอย่างการท่องเที่ยวที่ 15-20% ต่อจีดีพี และส่งออกถึงสูงถึง 60-70% ต่อจีดีพี หากเศรษฐกิจโลกชะลอลงการส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบตาม

Advertisement

ดังนั้น แนวทางการแก้ปัญหาขณะนี้ หลังจากกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่เดินหน้าหาตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในการเจรจาทำการค้ามากขึ้น เช่น ตลาดอาเซียน ไทยเป็น 1 ใน 4 ของตลาดการส่งออกที่ไทยมีโอกาส จึงต้องเร่งเพิ่มสัดส่วนการตลาดมากขึ้น

ตลาดเอเชียใต้ ประเทศอินเดีย เนื่องจากเป็นประเทศมีจำนวนประชากรสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รวมถึงบังกลาเทศ ปากีสถานก็จะเป็นตลาดที่ไทยยังมีโอกาสขยายการค้าได้ ตลาดตะวันออกกลาง หลังจากได้เดินทางเปิดสัมพันธ์ใหม่กับซาอุดีอาระเบีย เป็นจังหวะที่ดีมากขึ้น

“นอกจากนี้ หลังจากเดินทางกลับตากดูไบ ที่ร่วมเดินทางกับกระทรวงพาณิชย์ โดยนำคณะ ส.อ.ท.ร่วมลงนามความร่วมมือเรื่องการจัดตั้งสภาธุรกิจระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย และไทย-ดูไบ ซึ่งจะเป็นแนวทางที่จะใช้บุกตลาดใหม่ที่ทีศักยภาพ รวมถึงตลาดในอเมริกาใต้-กลาง แอฟริกา แม้จะไกลแต่ก็คุ้มค่าที่จะไป” นายเกรียงไกรกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image