ได้เวลาแบงก์เอาจริงสกัดมิจฉาชีพหลอกเงิน

ได้เวลาแบงก์เอาจริงสกัดมิจฉาชีพหลอกเงิน

ปัญหาภัยการเงินประชาชนได้รับความเสียหายและมีแนวโน้มมากขึ้น หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่นิ่งนอนใจในการช่วยเหลือ ในส่วนของธนาคารขนาดใหญ่เริ่มนำร่องแล้ว อย่างกสิกรไทย ประกาศยกเลิกการแจ้งบริการแนบลิงก์ทุกรายการ เปิดเบอร์โทรศัพท์ให้ลูกค้าของธนาคารแจ้งเหตุหากถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงินออกจากบัญชี ที่เบอร์ 0-2888-8888 กด 001 ธนาคารกรุงไทยก็เปิดเบอร์โทรศัพท์ 0-2111-1111 กด 108 ให้ลูกค้าโทรมาแจ้งเหตุได้เช่นกัน รวมถึงกรณีรู้สึกว่ามีความเสี่ยงโดนหลอก หรือได้รับความเสียหายการเงินโดยเฉพาะ สามารถโทรศัพท์ที่เบอร์ใหม่ได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วนธนาคารกรุงเทพ ออกประกาศภัยการเงินต่างๆ เดิมธนาคารไม่เคยมีบริการส่งข้อมูลผ่านการแนบลิงก์ และให้ลูกค้ากดรับบริการของธนาคารอยู่แล้ว เพราะต้องการป้องกันการแอบอ้างเป็นธนาคาร กรณีมิจฉาชีพสวมรอยหลอกทำธุรกรรมทางการเงินของผู้ใช้งาน เป็นกลโกงอีกหนึ่งรูปแบบที่มิจฉาชีพใช้หลอกประชาชนสำเร็จ

ขณะเดียวกัน การพัฒนาแอพพลิเคชั่นโมบายแบงกิ้งก็มีการอัพเดตระบบให้รัดกุมมากขึ้น ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมให้ธนาคารต่างๆ เพิ่มการยืนยันตัวตนด้วยระบบการพิสูจน์ตัวตนรูปแบบ Biometrics Comparison หรือเทคโนโลยีใช้สำหรับการยืนยัน/พิสูจน์ตัวตนของบุคคล โดยนำลักษณะทางกายภาพ เช่น ลายนิ้วมือ รูม่านตา และโครงสร้างใบหน้า หรือพฤติกรรมเฉพาะของแต่ละบุคคล เพื่อใช้ในการยืนยันการทำธุรกรรม

Advertisement

นอกจากนี้ ธนาคารจะเสริมความรู้ให้กับประชาชนทุกวัย เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีเข้าถึงได้ง่ายผ่านโทรศัพท์อย่างครบวงจร การเรียนรู้เพื่อป้องภัยทางการเงินในทุกรูปแบบกลโกงของมิจฉาชีพควรจะมีพร้อมควบคู่กับเทคโนโลยีก้าวหน้า อีกทั้งเพื่อหยุดวงจรมิจฉาชีพ เร่งตัดต้นตอปัญหาบัญชีม้า และลดความเสียหายของประชาชนให้มากขึ้นด้วย

เรื่องนี้ กิตติ โฆษะวิสุทธิ์ ผู้จัดการบริหารความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศและความปลอดภัยไซเบอร์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัย เทคโนโลยีสารสนเทศภาคธนาคาร (TB-CERT) ได้ให้ความเห็นว่าการที่ธนาคารเปิดบริการให้ลูกค้าสามารถโทรศัพท์แจ้งเหตุภัยการเงิน (ฮอตไลน์) หากลูกค้าได้รับความเสียหาย หรือลูกค้ามีความเสี่ยงถูกมิจฉาชีพหลอก บริการนี้ได้ถูกนำมาใช้แล้ว คาดว่าธนาคารต่างๆ จะออกบริการดังกล่าวตามมาในเร็วๆ นี้

จุดประสงค์การเปิดบริการนี้เพื่อสกัดไม่ให้การถูกหลอกลุกลามเป็นวงกว้างได้อย่างรวดเร็ด เช่น ลูกค้าคนแรกโดนหลอกส่วนมากจะถูกหลอกให้โอนเงิน หรือถูกดูดเงินออกไปในวิธีการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว หรือเกิดความเสียหายได้ภายในเวลา 5-10 นาที จำนวนเงินจะถูกโอนออกไปทันทีในจังหวะที่ลูกค้าถูกมิจฉาชีพหลอกสำเร็จ แต่การเพิ่มบริการนี้ขึ้นมาหมายความว่าจะไม่ทำให้เกิดกรณีอื่นๆ ต่อเนื่องตามมา แต่จะช่วยลดความเสียหายได้เพิ่มมากขึ้น ธนาคารคาดหวังให้เป็นลักษณะนี้

Advertisement

อีกทั้งเมื่อมีการร้องเรียนจากลูกค้าแล้ว ลำดับถัดไปของธนาคารผู้รับแจ้งเหตุจะเข้าตรวจสอบบัญชีต้องสงสัย หรือบัญชีม้า ลูกค้าผู้เสียหายโอนเงินไปถึงบัญชีนั้น เมื่อแจ้งเข้าระบบธนาคารผู้รับแจ้งเหตุจะรับทราบข้อมูลในเวลารวดเร็วขึ้น จนนำไปสู่การระงับการให้บริการ เพื่อลดความเสียหายในภาพรวม

บริการฮอตไลน์เป็นแนวทางที่ ธปท. สมาคมธนาคารไทย ธนาคารสมาชิกภายใต้สมาคมธนาคารไทย ร่วมเจรจาหาแนวทางป้องกัน และเกิดความเห็นร่วมกันว่าเป็นสิ่งควรทำเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน แม้จะเป็นการตอบรับในปลายเหตุ เพราะลูกค้าถูกหลอกจนเกิดความเสียหายแล้ว แต่ถ้าประกอบกันหลายส่วน เมื่อพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีประกาศบังคับใช้แล้ว

ภายใต้ พ.ร.ก.ดังกล่าวจะมีการติดตั้งการจัดตั้งระบบฐานข้อมูลบัญชีม้า (ดาต้าพูล) หรือชื่อเต็มว่าระบบเซ็นเตอร์ ฟรอด เรจจิสเทอร์ (Center Fraud Registra) ทำเป็นฐานข้อมูลกลางเพื่อสกัดกั้นการทำธุรกรรมของบัญชีม้า นอกจากข้อมูลแชร์ร่วมกันจะใช้นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้ามาตรวจสอบร่วมด้วย เพื่อใช้จับความผิดปกติการทำธุรกรรมต้องสงสัย

และในส่วนการทำงานนั้น ธนาคารต่างๆ จะทำงานอยู่ในระบบเดียวกัน เมื่อมีการส่งข้อมูลจะเห็นชุดข้อมูลพร้อมกันอย่างรวดเร็ว ในกรณีลูกค้าผู้เสียหายแจ้งเหตุถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน แต่เป็นการทำธุรกรรมต่างธนาคาร เมื่อธนาคารต้นเรื่องรับแจ้งข้อมูลแล้วจะส่งต่อให้ธนาคารอื่นๆ ที่อยู่ในระบบเดียวกันตรวจสอบและปิดระบบได้โดยเร็วที่สุดจากการเผยแพร่ข้อมูลในศูนย์กลางของข้อมูลนี้

เบื้องต้นส่วนของการพัฒนาระบบฐานข้อมูลบัญชีม้า (ดาต้าพูล) ในภาคส่วนของธนาคารมีการเจรจากันแล้ว และมีความคืบหน้ามากขึ้น เช่น เรื่องการออกแบบระบบอย่างไร กระบวนการขั้นตอนระหว่างการประสานงานของธนาคารจะเป็นลักษณะใด รูปแบบ หรือแนวทางสำหรับให้พนักงานในธนาคารสาขาต่างๆ เพราะ พ.ร.ก.เกิดขึ้นแล้ว พนักงานธนาคารสาขาจะรับเรื่องเป็นด่านแรก เพราะตาม พ.ร.ก.ได้อนุมัติให้ผู้เสียหายแจ้งธนาคารก่อนแจ้งตำรวจ

ดังนั้น พนักงานธนาคารจะเป็นผู้รับเรื่องก่อนและจำเป็นต้องมีไกด์ไลน์ให้ดำเนินการตามขั้นตอน เบื้องต้นคาดว่าหากระบบเสร็จจะมีข้อมูลแต่ละหน่วยงานมารวมกัน ช่วงแรกจะยังคงไม่สามารถใช้ระบบเอไอได้อย่างสมบูรณ์ เพราะต้องใช้เวลานำข้อมูลมาวิเคราะห์และทำโมเดลเพื่อการวิเคราะห์โดยเฉพาะ เบื้องต้นอาจจะเอาข้อมูลมารวมกันและวิเคราะห์จากข้อมูลที่มีอยู่ก่อน ถ้ามีแพตเทิร์นแล้วจะนำเอไอเข้ามาตรวจสอบอีกครั้ง

นอกจากนี้ ระบบฐานข้อมูลบัญชีม้า (ดาต้าพูล) ที่มีสถาบันการเงินต่างๆ อยู่ภายใต้การกำหนดเข้าร่วมแล้ว จะมีการแชร์ข้อมูลจากหน่วยงานรัฐเข้ามาร่วม คือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ผู้เสนอร่าง พ.ร.ก.) สำนักงานตำรวจ
แห่งชาติ (ตร.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะส่งข้อมูลผู้ต้องสงสัยแลกเปลี่ยนกันในระบบดังกล่าวด้วย

ขณะนี้หน่วยงานต่างๆ มีการตกลงเรื่องการทำระบบร่วมกัน เบื้องต้นระบบยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่คาดว่าจะทำระบบเสร็จภายในไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 ของปีนี้ ส่วนความคืบหน้าการบังคับใช้ พ.ร.ก.อาจทำได้เร็วที่สุด ถ้าเป็นไปได้คาดว่ารัฐอยากให้มีการประกาศใช้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้เลย เพราะปัญหาภัยการเงินเกิดขึ้นแพร่หลาย จึงเป็นเรื่องสำคัญและใกล้ตัวประชาชนมากที่สุด กิตติกล่าวทิ้งท้าย

แม้จะฝากความหวังให้ทุกหน่วยงานเร่งจัดการมิจฉาชีพทุกทาง หวังลดภัยการเงินอย่างขันแข็ง แต่วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือต้นทาง คือตัวเราเจ้าของเงินต้องตั้งสติทุกครั้ง เพื่อปกป้องกระเป๋าเงินของเรา อย่าหลงกล หลงเชื่อ และไม่ตกเป็นเหยื่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image