เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ ปี’65 รายได้พุ่ง 6.3 พันล้าน อานิสงส์ ‘ป๊อปคอร์น-อวตาร-บุพเพฯ2’

เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ โชว์ปี’65 รายได้พุ่ง112% แตะ 6.3 พันล้าน อานิสงส์ ‘ป๊อปคอร์น-อวตาร- บุพเพสันนิวาส2’

ในช่วงโควิดระบาดกินเวลายาวนานร่วม 2 ปี นับจากปี 2563 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากมาย รวมถึงธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่ซมพิษโควิดไปแบบเลี่ยงไม่ได้ จากมาตรการเปิดๆ ปิดๆ สกัดโควิดที่ปั่นป่วนรายได้

แม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่าง “เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์” ของเจ้าพ่อโรงหนัง “วิชา พูลวรลักษณ์” ยังขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 26 ปี

ในปี 2565 หลังสถานการณ์โควิดสงบ ดูจากผลประกอบการประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ของบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ รายได้เริ่มฟื้นตัว

ADVERTISMENT

มีผลกำไรสุทธิ 252 ล้านบาท เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน บริษัทมีผลกำไรสุทธิ 1,581 ล้านบาท มีผลกำไรสุทธิลดลง 1,329 ล้านบาท คิดเป็น 84% มีกำไรต่อหุ้นลดลง จาก 1.77 บาท เป็น 0.28 บาทต่อหุ้น ส่วนใหญ่มาจากในงวดเดียวกันของปีก่อนบริษัทได้รับรู้กำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนบริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลล้อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (SF) จำนวน 3,163 ล้านบาท

ADVERTISMENT

ขณะที่มีรายได้จากการขายและบริการ 6,388 ล้านบาท เปรียบเทียบกับงวดเดี่ยวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 3,010 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,379 ล้านบาท หรือ112 %

ส่วนใหญ่มาจากรายได้จากภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมสูง อาทิ Avatar: The Way of Water, บุฟเพสันนิวาส 2 , Doctor Strange: Multiverse of Madness, Thor : Love & Thunder, แล ะ Jurassic World: Dominion ประกอบกับโรงภาพยนตร์สามารถเปิดให้บริการได้ครบทุกสาขา ทำให้มีจำนวนผู้เข้าชมภาพยนตร์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้จากการเพิ่มช่องทางการขายป๊อบคอร์นตามช่องทางต่างๆ

ทั้งนี้ในขณะที่ปี 2564 โรงภาพยนตร์ได้ปิดดำเนินการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2564 ถึง 30 กันยายน 2564 ทำให้ต้นทุนขายและบริการในปี 2565 อยู่ที่4,612 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีต้นทุนรวม 2,858 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,753 ล้านบาท คิดเป็น 61%

อย่างไรก็ตามบริษัทมีสัดส่วนต้นทุนต่อรายได้ลดลงจาก 95% ในปี 2564 เป็น 72% ของรายได้ ส่วนใหญ่มาจากต้นทุนส่วนแบ่งภาพยนตร์ และ ต้นทุนจากการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม สอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่มีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอยู่ที่ 1,699 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1,909 ล้านบาท ลดลง 210 ล้านบาท คิดเป็น 11% ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการขายเพิ่มขึ้น 148 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากค่าใช้จ่ายการตลาดเนื่องจากมีภาพยนตร์เข้าฉายเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายในการบริหารลดลง 358 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากในปี 2564 บริษัทได้บันทึกรับรู้ค่าเสียหายและดอกเบี้ยจากคดีเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นภายในอาคารโครงการเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ปิ่นเกล้า จำนวน 299 ล้านบาท

คงต้องจับตาปี 2566 รายได้ค่ายเมเจอร์จะฟื้นตัว 100% ได้มากน้อยแค่ไหน ท่ามกลางความท้าทายของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ยังคงมีต่อเนื่องจากปี 2565

 

 

 

อ่านข่าวน่าสนใจอื่น:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image