ศก.ชะลอตัวทำส่งออก ม.ค. 66 ติดลบ 4.5% ร่วงต่อเนื่อง 4 เดือนติด

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนมกราคม 2566 ภาคการส่งออกไทย มีมูลค่าอยู่ที่ 20,249.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่า 700,127 ล้านบาท ติดลบ 4.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ถือเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยหากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย จะติดลบ 3.0 % ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 24,899.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.5% ขาดดุลการค้าที่ 4,649.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายสินิตย์ กล่าวว่า สินค้าหมวดส่งออกหลัก ได้แก่ สินค้าเกษตร มีมูลค่าที่ 1,814.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 62,734 ล้านบาท ลดลง 2.2% แต่ยังมีสินค้าเกษตรบางตัวที่ขยายตัวได้ อาทิ ข้าว ขยายตัวในรอบ 3 เดือน บวก 72.3% มีมูลค่า 412.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 14,277 ล้านบาท ไก่สดแช่แข็งหรือเย็น สามารถขยายตัวได้ 8 เดือนต่อเนื่อง บวก 40% มีมูลค่า 103.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3,566 ล้านบาท ผลไม้สด ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง บวก2.5% มีมูลค่า 156.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 5,403 ล้านบาท เฉพาะทุเรียน มีการส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน บวก 53.3% มีมูลค่า 72.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2,509 ล้านบาท สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าที่ 1,585.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 54,829 ล้านบาท ลดลง 3.3% และสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่า 16,053.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 555,046 ล้านบาท ลดลง 5.4%

ทั้งนี้ ตลาดที่ขยายตัวในเดือนมกราคม 2566 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.ซาอุดีอาระเบีย บวก 68.8% 2.อิรัก บวก 57.7% 3.อิตาลี 51.5% 4.บรูไน 495% 5.แอฟริกาใต้ 47.9% 6.สิงคโปร์ 27.3% 7.เม็กซิโก 16.4% 8.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 14.4% 9.บังกลาเทศ 6.9% 10.อินเดีย 5.3%

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ช่วงปลายปี 2565 ตั้งแต่เดือนกันยายน เป็นต้นมา เห็นการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและขาดความเชื่อมั่นในตลาดโลก ทำให้เดือนมกราคม ที่ผ่านมา ไม่น่าแปลกใจที่การส่งออกชะลอตัวลง และมีความชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะนี้มองเห็นปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการส่งออกไทย มีการขยับตัวและมีสัญญาณที่ดีขึ้น ได้แก่ 1.ดัชนีพีเอ็มไอของสหรัฐ หรือจีน เริ่มมีการคงที่และขยับตัวดีขึ้น สะท้อนถึงภาคการผลิต โดยเฉพาะจีน เศรษฐกิจน่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ ซึ่งถือเป็นตัวแปรที่สำคัญ เพราะการเร่งฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจะมีผลอย่างมากต่อการส่งออกของไทย โดยคาดการณ์ว่าไตรมาส 2/2566 เศรษฐกิจจีนจะปรับตัวขึ้นแบบเป็นรูปเป็นร่าง

Advertisement

นายชัยชาญ กล่าวว่า 2.ต้นปี 2565 มีการขาดแคลนสินค้าและวัตถุดิบหลายตัว ทำให้ราคาปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงมีการตุนสินค้าเพิ่มเติม เป็นตัวเร่งการส่งออกมากขึ้น โดยครึ่งปี 2565 มีการส่งออกเฉลี่ยคิดเป็นมูลค่าอยู่ที่ 24,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าสูงมาก เมื่อเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง 2565 หดตัว ทำให้มูลค่าส่งออกลดลงเหลือ 22,900 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น จึงเกิดความไม่สมดุลระหว่างการส่งออกและปริมาณความต้องการในตลาดโลก จทำให้เกิดภาวะสินค้าคงคลังมีมากขึ้น ผู้นำเข้าไม่ได้นำเข้าเพิ่มเติมเพื่อการผลิต แต่มองว่าอาจดีขึ้นในไตรมาส 2 นี้ 3.สินค้าสำคัญ อาทิ ข้าว ถือเป็นสินค้าที่ช่วยขับเคลื่อนการส่งออก รวมถึงรถยนต์ที่เห็นปริมาณการส่งออกในเดือนมกราคม 2566 ค่อนข้างสูง สะท้อนถึงปัญหาการขาดแคลนซิปที่หมดลงแล้ว

นายชัยชาญ กล่าวว่า 4.ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือในปี 2566 คาดว่าไม่น่าจะเกิดปัญหานี้ขึ้นแล้ว ระบบการขนส่งระหว่างประเทศไม่มีปัญหาแน่นอน รวมถึงค่าระวางเรือกลับสู่ภาวะปกติก่อนเกิดโควิด-19 ในปี 2562 หรืออยู่ต่ำกว่าปกติในบางประเทศด้วย โดยปี 2565 เห็นการส่งออกไปตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น 23.7% เฉพาะซาอุดิอาระเบีย ที่โต 68.8% สะท้อนถึงประเทศยุทธศาสตร์ในการทำการค้านั้น ไม่ใช่เลือกเพียงประเทศหลัก แต่ต้องประเมินประเทศรอง แต่ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน และ 5.ค่าเงินบาท ช่วงต้นปี 2566 เคลื่อนไหวอยู่ที่ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทำให้ผู้ประกอบการยังไม่กล้าเจรจาการค้ามากนัก แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ถือเป็นแรงสนับสนุนให้การส่งออกไทยมีแต้มต่อมากขึ้น และเป็นไปตามทิศทางของคู่ค้าและคู่แข่งด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image