สภาพัฒน์ แนะปฏิรูปภาษี หวั่นกลับสู่งบสมดุลยาก ชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งระบบ ภาคธุรกิจจะรับไม่ไหว

สภาพัฒน์ แนะ ปรับปฏิรูปภาษี หวั่นกลับเข้าสู่งบสมดุลยาก ดึงแรงงานนอกระบบจ่ายภาษี ปรับปรุงลดหย่อนไม่เอื้อคนรวย

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับการแถลงภาวะสังคมประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2565 นั้น สภาพัฒน์ ได้จัดทำบทความเรื่อง “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : แหล่งรายได้รัฐ และเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ” เนื่องจากปัจจุบันการจัดเก็บรายได้ภาษีอยู่ที่ 13% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวประเทศ (จีดีพี) และยังเป็นรายได้ 88.5% ของรายได้ของภาครัฐทั้งหมด

นายดนุชากล่าวว่า อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีแนวโน้มขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 4.1 หมื่นล้านบาท ในปีงบประมาณ 2546 เป็น 6.5 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565 ขณะที่คาดว่าในปี 2585 การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จากในปี 2566 ที่อยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท สำหรับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า ในปี 2564 มีสัดส่วน 13.2% ของรายได้จากภาษีทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 3.37 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 เฉลี่ย 1.6% ต่อปี โดยมีผู้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งสิ้น 10.7 ล้านคน ซึ่งเป็น ผู้มีเงินได้สุทธิ ที่มีเงินได้เหลือหลังหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และบริจาค ทำให้เหลือผู้ภาษีเพียง 4.2 ล้านคนเท่านั้น

“หากไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างภาษี การทำงบประมาณแบบขาดดุลก็จะทอดยาวไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี ไม่ถึงกับเข้าสู่ภาวะวิกฤตทางการคลัง แต่ควรจะต้องปรับทั้งในแง่รายได้รัฐบาล ที่ต้องหารายได้เพิ่มมากขึ้น และในแง่รายจ่ายรัฐบาล เพื่อให้มีความสมดุลเพิ่มมากขึ้น จะต้องทำคู่กันไปทั้งสองด้าน เพราะถ้าปรับรายได้ แต่การใช้จ่ายรัฐบาลยังคงสูง ก็ไม่สมดุลอยู่ดี” นายดนุชากล่าว

Advertisement

นายดนุชากล่าวว่า ซึ่งสาเหตุสำคัญ มีดังนี้ 1.แรงงานไทยเกือบ 3 ใน 4 อยู่นอกระบบภาษี โดยมีผู้มีงานทำทั้งสิ้น 38.8 ล้านคน เป็นลูกจ้างที่มีรายได้จากค่าจ้างและเงินเดือนจำนวน 18.6 ล้านคน แต่มีผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษีของกรมสรรพากรเพียง 10.8 ล้านคนเท่านั้น คิด 27.7% ของผู้มีงานทำทั้งหมด 2.ประเภทของเงินได้ที่ไม่ต้องเสียภาษีทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้ไม่เต็มที่

นายดนุชากล่าวว่า และ 3.การหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนทำให้รัฐสูญเสียรายได้และสร้างความเหลื่อมล้ำ โดยกลุ่มผู้มีรายได้สูงมีแนวโน้มที่จะจ่ายภาษีลดลงจากการได้รับประโยชน์จากการหักค่าใช้จ่ายที่มากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ซึ่งในปี 2564 การลดหย่อนภาษีทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปกว่า 1.1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 51.8% ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องชำระทั้งหมด

นายดนุชากล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงควรมีการดำเนินการ ดังนี้ 1.มีมาตรการในการนำคนทุกกลุ่มเข้ามาอยู่ในระบบภาษี โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ 2.ทบทวนการยกเว้นภาษีให้แก่รายได้บางประเภท ให้สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน 3.ทบทวนสิทธิประโยชน์การหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน และ 4.สื่อสารให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการจ่ายภาษี เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญมากขึ้น นอกจากนี้ อาจมีการเก็บภาษีอื่นๆ เพื่อรองรับภาระของรัฐ ในแง่ของสวัสดิการที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วๆ นี้

Advertisement

“ช่วงแรกที่มีโครงการคนละครึ่ง ร้านค้ารายเล็กเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก แต่พอมีคนจุดประเด็นเรื่องจะเสียภาษีหากมีรายได้เพิ่ม ร้านค้าก็ยกเลิกเข้าร่วมโครงการ แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีความเชื่อผิดๆ ว่าเรื่องภาษีเป็นภูมิแพ้ ซึ่งต้องมีการให้ความรู้ที่ถูกต้องว่า การเสียภาษีคือหน้าที่ ที่คนไทยที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ควรทำ และถ้ากลัวเสียภาษีแล้วนำไปใช้แบบไม่โปร่งใส ประชาชนสามารถช่วยกันมอนิเตอร์ให้การใช้จ่ายงบประมาณคุ้มค่ากับภาษีที่จ่ายไปได้ ทุกวันนี้มีพูดแต่เรื่องว่ารัฐต้องช่วยอะไรบ้าง แต่ไม่ได้พูดเรื่องรายได้ที่จะเข้ารัฐเลย” นายดนุชากล่าว

นายดนุชากล่าวอีกว่า ด้านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น ควรต้องมีการปรับข้อมูลทุกๆ  ปี จะได้ทราบว่าใครจะควรได้รับช่วยเหลือต่อไป ซึ่งก็จะลดเรื่องของค่าใช้จ่ายของภาครัฐลงได้ ในส่วนที่พรรคการเมืองจะเพิ่มเงินในสวัสดิการมากขึ้นนั้น ก็เป็นเรื่องของพรรคการเมือง ซึ่งต้องดูความเป็นไปได้ ว่าสามารถทำได้จริงหรือไหม

“พี่น้องประชาชนต้องใช้วิจารณญาณ เกี่ยวนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งมีผลต่อตนเองอย่างไร และมีผลกระทบกับประเทศมากน้อยแค่ไหน ส่วนบัตรสวัสดิการ ก็เป็นโครงการที่ช่วยเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งก็ช่วยลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายไปได้บ้าง แต่ไม่ได้ช่วยในแง่การสร้างอาชีพ ที่จะเป็นผลดีในระยะยาว ดังนั้นก็ควรจะต้องปรับไปดูแลในรายบุคคลเรื่องอาชีพด้วย ไม่เช่นนั้นคนเหล่านี้ก็จะใช้เวลานานกว่าหลุดออกจากระบบได้” นายดนุชากล่าว

นายดนุชากล่าวว่า ขณะที่ เรื่องนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ปัจจุบันแรงงานในระบบที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำนั้นมีเพียง 2 ล้านคนเท่านั้น ที่เหลือเป็นแรงงานต่างชาติ เพราะฉะนั้น การปรับขึ้นค่าแรงนั้น ควรจะเป็นในลักษณะปรับขึ้นตามทักษะมากกว่า แบบนี้ภาคธุรกิจจะรับมือได้ แต่ถ้าขยับตัวค่าแรงขั้นต่ำทั้งระบบ แบบเพิ่มเท่าตัว โดยไม่ดูที่ความสามารถทักษะแรงงานเลย แบบนี้ ก็จะเป็นภาระที่ภาคธุรกิจรับไม่ไหว เพราะต่อไปก็ต้องขยับค่าแรงเริ่มต้นของคนจบปริญญาตรี และจะย้อนกลับมากระทบภาครัฐด้วย

“แม้การปรับค่าแรงจะไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่ก็ต้องระวังเหมือนกัน เพราะเมื่อประกาศนโยบายออกไปนั้น นักลงทุนต่างประเทศ ก็จับตากับประเด็นตรงนี้ไว้แล้ว เพราะฉะนั้น เรื่องค่าแรงก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ใช้ดึงดูดนักลงทุนเข้ามาประเทศไทย” นายดนุชากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image