เปิดเหตุผล ทำไมใช้ชื่อ “ทรู คอร์ปอเรชั่น” ยันดีแทคยังอยู่ ย้ำ! สบายใจได้ ราคาแพคเกจไม่แพง
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แถลงเปิดตัว “ทรู คอร์ปอเรชั่น” บริษัทใหม่ ภายหลังเกิดการควบรวมบริษัทระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ว่า ทรู คอร์ปอเรชั่น รวมศักยภาพจุดแข็งดีแทคและทรู มุ่งสู่ผู้นำด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีของไทย
ชูแนวคิดชีวิตดีกว่า เมื่อมีกันและกัน (Better Together) ผสานพลังรวมกัน 1+1 เท่ากับ อินฟินิตี้ สร้างศักยภาพความเป็นไปได้ใหม่ที่ไม่รู้จบ หลังควบรวมทรู-ดีแทค เสร็จสมบูรณ์ และจะเริ่มนำหุ้นกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันที่ 3 มีนาคมนี้
นายมนัสส์ กล่าวว่า การจดทะเบียนภายใต้ชื่อ ทรู คอร์ปอเรชั่น หลังการควบรวม เนื่องจากทรูมีแบรนด์ในด้านดิจิทัล และนวัตกรรมหลากหลาย รวมถึงมีพอร์ตโฟลิโอครอบคลุมธุรกิจมือถือ การที่มีหลายเซ็กเมนต์ตรงนี้จะทำให้บริษัทสามารถขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้ และพร้อมที่จะเป็นบริษัทเทคโนโลโลยีชั้นนำของประเทศ
สำหรับการตั้งเป้าหมายเป็นบริษัทเทคโนโลยี หรือเทค คอมปานี ระดับเอเชีย เมื่อทรูและดีแทคร่วมกันแล้วจะทำให้มีผู้ใช้บริการมือถือ 55 ล้านราย สัดส่วนจากทรูมูฟ เอช 33.8 ล้านเลขหมาย และดีแทค 21.2 ล้านเลขหมาย พร้อมผู้ใช้งานบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตทรูออนไลน์ 5 ล้านราย และผู้ใช้งานโทรทัศน์ทรูวิชั่นส์ 3.2 ล้านราย มีมูลค่าบริษัท 294,000 ล้านบาท
“อย่างไรก็ตาม อยากให้ลูกค้าสบายใจได้ เพราะขณะนี้ยังมีการคงแบรนด์ทั้งสองไว้ 3 ปี ตามเงื่อนไขควบรวมของ กสทช.กำหนด ทั้งนี้ ยืนยันจะทำให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดีกว่าเดิม ทั้งคุณภาพสัญญาณ 5G ที่ตั้งเป้าให้ครอบคลุม 98% ของจำนวนประชากร ในปี 2569 ขณะที่แพคเกจราคา ยืนยันจะไม่แพงกว่าเดิม และจะมีมูลค่าเพิ่มจากการเสนอบริการใหม่ให้ลูกค้าได้บริการที่ดีกว่าเก่า” นายมนัสส์ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการสามารถใช้สัญญาณคุณภาพดีขึ้นทันทีจากสัญลักษณ์เครือข่ายโรมมิ่งบนหน้าจอ ตามกฎของ กสทช.กำหนด ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพสัญญาณโมบายล์ข้ามโครงข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อใช้งาน 5G และ 4G บนคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 700 เมกะเฮิรตซ์ โดยลูกค้าดีแทคสามารถใช้งาน 5G บนคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ และลูกค้าทรู สามารถใช้งาน 4G และ 5G คลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว ทั้งนี้ จะขยายครบทั้ง 77 จังหวัดประมาณกลางมีนาคมนี้
“เรื่องคลื่นความถี่และการออกแบบโครงข่ายเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ โดยสิ่งที่ต้องทำคือจะไม่ลดคุณภาพ โดยจะเดินหน้าลงทุนต่อเนื่องเพื่อสร้างคุณภาพที่ดีขึ้น ซึ่งมั่นใจว่าการรวมบริษัทในครั้งนี้จะเป็นผู้ให้บริการที่ตอบสนองต่อผู้บริโภคในระดับที่มีความพึ่งพอใจสูงสุด” นายมนัสส์ กล่าว
นายมนัสส์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การลงทุนในธุรกิจเทเลคอมที่จะทรานฟอร์มไปสู่เทเลคอมเทคโนโลยีจะไม่สามารถหยุดการลงทุนได้ แต่ว่าการลงทุนจะเป็นการลงทุนที่ฉลาดขึ้น ซึ่งจะใช้ข้อมูลนำมาวิเคราะห์ในการพิจารณาแพตเทิร์นสำหรับการลงทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอย่างไร เพื่อให้เกิดการใช้งานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ยืนยันว่าการรวมกันครั้งนี้ทำเพื่อดูแลลูกค้าให้รับบริการที่มีคุณภาพดีที่สุด
ทั้งนี้ จากกระแสเรื่องการปลดพนักงานยืนยันจะไม่มีการปลดพนักงาน ขณะนี้มีพนักงานกว่า 20,000 คน สำหรับการทำงานจะใช้สำนักงานเดิมของทรู และดีแทคเดิมทั้งสองแห่ง เพื่อเป็นออฟฟิศใหม่ ในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าทั้งสองบริษัทจะมีการดูแลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ซึ่งจะไม่เกิดเป็นผลกระทบ หรือสร้างความเสียหายแก่ลูกค้า