คิดเห็นแชร์ : มารู้จักกับโมเดลชุมชนดีพร้อม เมื่อธุรกิจดีพาชุมชนยั่งยืน

มารู้จักกับโมเดลชุมชนดีพร้อม เมื่อธุรกิจดีพาชุมชนยั่งยืน

สวัสดีท่านผู้อ่านคอลัมน์คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ วันนี้ผมจะขอแชร์เรื่องราวของการอยู่ร่วมกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชนโดยรอบ ก่อนอื่นต้องเล่าย้อนไปว่า ที่ผ่านมาไทยได้พัฒนาประเทศ โดยมุ่งเน้นระบบเศรษฐกิจเป็นสำคัญ พัฒนาอุตสาหกรรมการส่งออก แปลงชุมชนชนบทให้เป็นกึ่งเมืองหรือกลายเป็นชุมชนเมือง และขยายภาคอุตสาหกรรมใหม่ไปในหลายพื้นที่ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดด แต่กลับต้องแลกมาด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีมากมายในประเทศมาเป็นปัจจัยในการผลิตสินค้าและบริการ การเติบโตอย่างรวดเร็วนี้จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของการบริหารจัดการทรัพยากรที่ไม่เหมาะสมเท่าที่ควร หรือยังขาดการวางแผนรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อเวลาผ่านไป ประชากรเพิ่มขึ้น ทำให้ชุมชนขยับเข้าใกล้อุตสาหกรรม จึงเริ่มเกิดการกระทบกระทั่งและความขัดแย้ง แม้ชุมชนจะได้รับการเยียวยาหรือค่าชดเชยจากภาคอุตสาหกรรม หรือภาคอุตสาหกรรมหันมาทำกิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) กันมากขึ้น

แต่นั่นไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน เพราะโครงสร้างโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของธุรกิจอุตสาหกรรมหลายประเภท ยังคงจำกัดอยู่ในธุรกิจบางกลุ่ม และยังขาดการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจรอบพื้นที่อุตสาหกรรม ต่างจากถนนหนทางหรือการคมนาคมขนส่งที่เมื่อเข้าไปบริเวณใดแล้ว บริเวณนั้นจะมีการเชื่อมโยง (Connectivity) กับชุมชน ส่งผลให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งประเด็นนี้ได้รับการหยิบยกขึ้นเป็นพิเศษ โดย ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปหน่วยงาน ปั้นอุตสาหกรรมยุคใหม่ ใส่ใจประชาชน ชูนโยบายอุตสาหกรรมดี อยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือดีพร้อม ได้นำนโยบายนี้มาดำเนินการให้ธุรกิจอุตสาหกรรม เชื่อมโยงโซ่อุปทานกับชุมชนหรือเครือข่ายในพื้นที่ให้มากขึ้น โดย นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ให้แนวปฏิบัติ ภายใต้ “โมเดลชุมชนดีพร้อม” ดังนี้

Advertisement

1.ค้นหาและบอกต่อ เฟ้นหาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ มีความพร้อมทางธุรกิจ และมีใจช่วยเหลือชุมชน พร้อมทั้งมีเครือข่ายที่สามารถเข้าไปสนับสนุนชุมชนได้ โดยจะเรียกว่า “ดีพร้อมฮีโร่” ตัวอย่างเช่น บริษัท อ่าวนาง ปรินซ์วิลล์ รีสอร์ท แอนด์ สปา ที่เป็นโรงแรมระดับ 4 ดาว ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ เป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนธุรกิจการท่องเที่ยว ที่มีจิตสาธารณะในการกระจายผลประโยชน์ทางธุรกิจสู่ชุมชนโดยรอบ ผ่านการทำกิจกรรมและสร้างอาชีพให้คนในชุมชน ด้วยการพัฒนาและทำการตลาดให้ผลิตภัณฑ์ชุมชน เสริมด้วยการท่องเที่ยวในชุมชน หรือบริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่ จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ ที่ผลิตเบเกอรี่ เครื่องดื่ม และอาหารสำเร็จรูปต่างๆ มากว่า 30 ปี ที่มีสัมพันธ์อันดีกับชุมชนโดยรอบ มีการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอี หรือ OTOP ในการพัฒนาและให้นำสินค้าเข้ามาร่วมขาย เป็นต้น โดยเมื่อพบเห็นผู้ประกอบการฮีโร่เช่นนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องแนะนำ บอกต่อ และส่งเสริมให้พวกเขาโตขึ้น

2.ประสานประโยชน์ ไม่มีความช่วยเหลือใดที่ยั่งยืนหากผู้ให้ยังต้องออกแรงช่วยเหลือเพียงฝ่ายเดียว เฉกเช่นการที่ภาครัฐต้องออกนโยบายช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ หรือการที่ภาคเอกชนต้องให้ทุนหรือบริจาคแบบให้เปล่าอยู่เสมอ จนทำให้เป็นการยากที่กลุ่มผู้ได้รับการช่วยเหลือจะสามารถพัฒนาและพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว ดังนั้น เราจึงควรหันมาเฟ้นหาผู้นำชุมชนที่มีความเข้มแข็งและพร้อมที่จะดำเนินธุรกิจด้วยตนเองต่อไปได้ เพื่อมาเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการฮีโร่ โดยเน้นสร้างประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่การให้หรือรับแต่ฝ่ายเดียว เช่น วิสาหกิจชุมชนบ้านช่อแล จังหวัดเชียงใหม่ ที่ผลิตกล้วยตากและกล้วยอบน้ำผึ้ง ส่งให้บริษัทผึ้งน้อยฯ โดยชุมชนมีความพร้อมและต้องการร่วมธุรกิจ รวมทั้งยินดีปรับปรุงคุณภาพและบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับที่บริษัทผึ้งน้อยฯต้องการ

3.เสริมแกร่ง ที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมยังไม่สามารถเชื่อมโยงโซ่อุปทานกับชุมชนโดยรอบได้เป็นเพราะปัจจัย 3 ด้าน ได้แก่ คุณภาพ (Quality) ต้นทุน (Cost) และการส่งมอบ (Delivery) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ต้องเลือกคู่ค้าที่อยู่ไกลว่า แม้ว่าต้นทุนขนส่งจะสูง ในขณะชุมชนใกล้เคียงสามารถตอบโจทย์ได้เพียงด้านบุคลากรและแรงงาน และยิ่งหากมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นของเสียหรือมลพิษทางน้ำ เสียง หรืออากาศ ย่อมเป็นปัญหากับชุมชนโดยรอบ ดังนั้น กระบวนการเสริมแกร่ง จึงเป็นการเพิ่มศักยภาพให้ภาคอุตสาหกรรมเพื่อลดและเฝ้าระวังปัญหาสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่ชุมชนเพื่อตอบสนองภาคอุตสาหกรรมได้ เช่น การพัฒนาการแปรรูปเบื้องต้น การพัฒนาเครื่องจักรทุ่นแรง การตรวจสอบคุณภาพ หรือการขนส่งสินค้าให้ตรงเวลา

Advertisement

4.ยกระดับ พัฒนาธุรกิจในชุมชนที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม ให้เติบโตจนสามารถเป็นผู้นำธุรกิจได้ในอนาคต เพิ่มการจ้างงาน ขยายธุรกิจ ขยายสาขา และมีการเติบโตของธุรกิจอื่นๆ รอบอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟสดแม่ตอน ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ที่ขยายผลการดำเนินงานผ่านศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (กาแฟ) ส่งเสริมผลิตและแปรรูปกาแฟอาราบิก้าเพื่อให้ได้ผลผลิตกาแฟสารและกาแฟคั่วที่มีคุณภาพสูง ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานสินค้าให้กับชุมชน ขยายเครือข่าย เกิดเป็นร้านกาแฟและการท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนต่อไป

ท่านผู้อ่านครับ แนวทางทั้ง 4 ภายใต้โมเดลชุมชนดีพร้อม เป็นการปฏิรูปกระบวนการส่งเสริมพัฒนารูปแบบใหม่ที่เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน จากเดิมที่รัฐให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจให้มีขีดความสามารถในการทำกำไรสูงสุด โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม หรือช่วยกระจายรายได้อย่างไร ขณะที่การช่วยเหลือกลุ่มชุมชนและเกษตรกรในปัจจุบันก็ยังคงเป็นแบบให้เปล่า ขาดการติดตามต่อยอดจนไม่เกิดมูลค่า ดังนั้น โมเดลนี้ จึงถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการส่งเสริมของกระทรวงอุตสาหกรรม ธุรกิจอุตสาหกรรมต่างชาติหรือนายทุนที่ลงทุนในประเทศไทยที่หวังใช้ทรัพยากรโดยไม่ใส่ใจเรื่องคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม มักคิดว่า “สบายสบาย ถูกใจก็คบกันไป” แบบพี่เบิร์ด ธงไชยนั้น คงต้องคิดใหม่แล้วครับ

ถึงอย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้ว นี่ก็เป็นการช่วยเหลือให้อุตสาหกรรมอยู่คู่ชุมชนได้ ลองจินตนาการดูว่าถ้ามีผู้ประกอบการดีแบบนี้อยู่ทั่วประเทศไทย ทรัพยากรที่เคยถูกใช้ไปอย่างสิ้นเปลือง ความขัดแย้งที่เคยมีจะน้อยลง ช่องว่างของการเหลื่อมล้ำในสังคมไทยจะลดลง สังคมและสิ่งแวดล้อมจะพลิกฟื้นคืนกลับมาดีขึ้นอีกครั้งครับ

ดร.พลาวุธ วงศ์วิวัฒน์
ผู้อำนวยการกลุ่มสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจ
กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image