‘แบงก์ชาติ’ ผุดมาตรการคุมเข้ม สกัดมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน จำกัดโมบายแบงกิ้งแค่ 1 อุปกรณ์ เร่งปรับระบบเสร็จ มิ.ย.นี้ 

“แบงก์ชาติ” ผุดมาตรการคุมเข้ม สกัดมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน จำกัดโมบายแบงกิ้งแค่ 1 อุปกรณ์ เร่งปรับระบบเสร็จ มิ.ย.นี้ 

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินของ ธปท.ว่า ปัจจุบันภัยทุจริตทางการเงินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และหลากหลายรูปแบบ ส่งผลกระทบให้ประชาชนต้องสูญเสียทรัพย์สิน หรือรายได้ที่เก็บออม รวมทั้งขาดความมั่นใจในการใช้บริการทางการเงินดิจิทัลของสถาบันการเงิน (สง.) ซึ่งอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการทำธุรกรรมทางการเงินในระยะต่อไป

โดยล่าสุด ธปท.ได้ออกแนวนโยบายเป็นชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินที่ดูแลตลอดเส้นทางการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยกำหนดเป็นแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้สถาบันการเงินทุกแห่งปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยมีการรักษาสมดุลระหว่างการบริหารจัดการความเสี่ยงกับการส่งเสริมบริการทางการเงินดิจิทัล ธปท. เห็นว่ามาตรการชุดนี้จะช่วยให้สถาบันการเงินป้องกันความเสี่ยงและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“สิ่งที่ ธปท. อยากเห็นมี 3 เรื่อง 1.ธปท.อยากยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการที่ดีขึ้น 2.คาดหวังการลดโอกาสที่ประชาชนลดการหลอกลวง ความเสียหายจากภัยไซเบอร์ และ 3.หวังว่ามาตรการดังกล่าวจะเพิ่มความมั่นใจให้ประชาชนสามารถใช้เทคโนโลยีทางการเงินอย่างสบายใจ” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

Advertisement

ด้าน น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท.กล่าวว่า ชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน ประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก ดังนี้

1.มาตรการป้องกัน เพื่อปิดช่องทางที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น

– ให้สถาบันการเงินงดการส่งลิงก์ทุกประเภทผ่าน SMS อีเมล และงดส่งลิงก์ขอข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน และเลขบัตรประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย

Advertisement

– จำกัดจำนวนบัญชีผู้ใช้งานโมบายแบงกิ้ง (ยูเซอร์เนม) ของแต่ละสถาบันการเงินให้ใช้ได้ใน 1 อุปกรณ์เท่านั้น โดยสถาบันการเงินต้องจัดให้มีการแจ้งเตือนผู้ใช้บริการโมบายแบงกิ้งก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง

– พัฒนาระบบความปลอดภัยบนโมบายแบงกิ้งให้เท่าทันภัยการเงินรูปแบบใหม่อยู่ตลอดเวลา

– ยกระดับความเข้มงวดในกระบวนการยืนยันตัวตนขั้นต่ำด้วยการใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบข้อมูลอัตลักษณ์ทางกายภาพของลูกค้า (ไบโอเมทริกซ์) เช่น สแกนใบหน้า ในกรณีลูกค้าขอเปิดบัญชีโดยผ่านแอพพลิเคชันของสถาบันการเงิน (non-face-to-face) หรือทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้งในเงื่อนไขที่กำหนดไว้

เช่น โอนเงินมากกว่า 50,000 บาท หรือปรับเพิ่มวงเงินทำธุรกรรมต่อวันเป็นตั้งแต่ 50,000 บาท ขึ้นไป นอกจากนี้ จะกำหนดเพดานวงเงินถอน/โอนสูงสุดต่อวัน 200,000 บาท โดยลูกค้าสามารถขอปรับได้ตามความจำเป็น และต้องยืนยันตัวตนอย่างเข้มงวด และกำหนดวงเงินธุรกรรมให้เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของกลุ่มผู้ใช้บริการแต่ละประเภท เช่น ผู้อายุต่ำกว่า 15 ปี ทำรายการผ่านโมบายแบงกิ้งได้วันละไม่เกิน 50,000 บาทเท่านั้น หากเกินต้องไปสาขา

– กำหนดเพดานวงเงินถอน/โอนสูงสุดต่อวันให้เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของกลุ่มผู้ใช้บริการแต่ละประเภท โดยลูกค้าสามารถขอปรับได้ตามความจำเป็น และต้องยืนยันตัวตนอย่างเข้มงวด

2.มาตรการตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมต้องสงสัย เพื่อให้สถาบันการเงินช่วยจำกัดความเสียหายได้เร็วขึ้น และลดการใช้บัญชีม้า ธปท.จะกำหนดเงื่อนไขการตรวจจับและติดตามธุรกรรมเข้าข่ายผิดปกติ หรือกระทำความผิด เพื่อให้สถาบันการเงินรายงานไปสำนักงาน ปปง. รวมทั้งให้สถาบันการเงินต้องมีระบบตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมต้องสงสัยแบบ near real-time เพื่อให้สามารถระงับธุรกรรมได้ทันทีเป็นการชั่วคราวเมื่อตรวจพบ

3.มาตรการตอบสนองและรับมือ เพื่อจัดการปัญหาให้ผู้เสียหายได้เร็วขึ้น ให้สถาบันการเงินทุกแห่งต้องมีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (ฮอตไลน์) ตลอด 24 ชั่วโมง แยกจากช่องทางให้บริการปกติ เพื่อให้ผู้ใช้บริการแจ้งเหตุได้โดยเร็ว รวมทั้งให้ดูแลรับผิดชอบผู้ใช้บริการ หากพบว่าความเสียหายเกิดจากข้อบกพร่องของสถาบันการเงิน

“ธปท. ได้เร่งให้สถาบันการเงินทุกแห่งต้องดำเนินมาตรการทั้งหมดโดยเร็ว โดยได้มีการเริ่มดำเนินการในบางมาตรการแล้ว ขณะที่มาตรการที่เหลือส่วนใหญ่ จะกำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2566 และจะเร่งดำเนินการสำหรับบางมาตรการที่มีความซับซ้อนและต้องใช้เวลาในการปรับปรุง ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนดต่อไป” น.ส.สิริธิดากล่าว

น.ส.สิริธิดากล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของ ธปท.เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่การจัดการและแก้ไขภัยทางการเงินได้อย่างเบ็ดเสร็จขึ้น ต้องอาศัย พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งเมื่อมีผลบังคับใช้จะช่วยแก้ไขข้อจำกัดและอุปสรรคได้เพิ่มเติม ทั้งด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมต้องสงสัยระหว่างสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้คล่องตัวขึ้น

อีกทั้งการระงับการทำธุรกรรมโดยสถาบันการเงินได้ทันที และการกำหนดบทลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับบัญชีม้าที่ชัดเจนขึ้น รวมทั้งยังต้องบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image