‘อธิบดีจุลพงษ์’ เปิดวิชั่นบริหารกรมโรงงาน เข้มงวด กม.-ผุดกรีนจีดีพี-ฝ่าวิกฤตต้นทุนผลิตแพง

‘อธิบดีจุลพงษ์’เปิดวิชั่นบริหารกรมโรงงาน เข้มงวด กม.-ผุดกรีนจีดีพี-ฝ่าวิกฤตต้นทุน

‘อธิบดีจุลพงษ์’ เปิดวิชั่นบริหารกรมโรงงาน เข้มงวด กม.-ผุดกรีนจีดีพี-ฝ่าวิกฤตต้นทุนผลิตแพง

ภาคอุตสาหกรรมถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ที่นับวันต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายทั้งในประเทศและต่างประเทศ “มติชน” สัมภาษณ์พิเศษ นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม หน่วยงานกำกับโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 73,000 แห่งทั่วประเทศ ถึงภารกิจที่รออยู่ตรงหน้า หลังเข้าปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา

⦁ภารกิจเร่งด่วนกรมโรงงานฯ
อธิบดีจุลพงษ์ระบุถึงภารกิจเร่งด่วนของกรมโรงงานว่า ภารกิจด่วน คือ การกำกับดูแลโรงงานกว่า 73,000 โรงงานทั่วประเทศ ทั้งด้านความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม หลังออกใบอนุญาตให้ตั้งโรงงานแล้ว ผู้ประกอบการต้องไม่สร้างความเดือดร้อนกับชุมชน แต่ที่ผ่านมาพบโรงงานหลายแห่งถูกร้องเรียนซ้ำซาก มีไม่ถึง 1% เป็นส่วนน้อยของคนที่ทำดี กรมในยุคผมจะจัดการกับคนไม่ดี คนเกเร อย่างจริงจัง แต่เราไม่เพิ่มภาระคนดี ไม่ออกกฎหมายมาเพิ่มภาระในภาพรวม แต่จะบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง บูรณาการร่วมกับทุกฝ่าย ไม่ให้โรงงานใหม่ถูกต่อต้านจากประชาชน

อย่างไรก็ตาม แม้กรมจะออกใบอนุญาตโรงงานหรือ ร.ง.4 ตั้งแต่ 500 แรงม้าขึ้นไป ปัจจุบันมี 73,000 โรงงาน จำนวนนี้อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรม 69,000 โรงงาน และกรมกำกับดูแล 5,200 โรงงานในกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่เหลือเป็นหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัด ขณะที่การตรวจสอบกรมส่งเจ้าหน้าที่ตรวจได้เต็มที่ประมาณ 8,000 โรงงานคือช่วยตรวจสอบในพื้นที่ต่างจังหวัดด้วย จากศักยภาพการตรวจสอบของกรมจะพบว่า หากตรวจทั้งประเทศต้องใช้เวลา 5 ปี เรื่องนี้จึงต้องกลับมาดูจริงจังว่าจะทำอย่างไรให้กรมกำกับดูแลโรงงานทั้งประเทศได้มีศักยภาพและใช้เวลาลดลง

อีกภารกิจคือ งานส่งเสริม 2 เรื่อง คือ 1.พ.ร.บ.จดทะเบียนเครื่องจักร เพื่อให้เจ้าของโรงงาน หรือผู้ประกอบการนำไปเป็นหลักทรัพย์กู้สินเชื่อ และ 2.ส่งเสริมผ่านทาง พ.ร.บ.โรงงาน และ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ด้วยการออกระเบียบเพื่อพัฒนาโรงงานไปสู่มาตรฐาน โดยกำกับดูแลและส่งเสริม สำคัญกว่างานออกใบอนุญาต ใบสูติบัตร และใบ ร.ง.4

ADVERTISMENT

⦁ส่งจนท.กำกับใกล้ชิด-หมดยุคหลายมาตรฐาน
ขณะเดียวกันต้องปรับโครงสร้างกรมให้รองรับ พัฒนากำลังคน เพิ่มเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอ การทำงานยุคนี้จะไม่ยอมให้นั่งอ่านเอกสารอยู่ในกรมอีกต่อไป ต้องออกไปทำงาน โดยเฉพาะการตรวจสอบโรงงาน ไปช่วยจังหวัด จะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2567 ขณะนี้อยู่ระหว่างของบประมาณเพื่อลงพื้นที่ หากเพิ่มการตรวจโรงงานเป็น 24,000 แห่งต่อปี จะลดการตรวจสอบทั้งประเทศเหลือ 3 ปี

นอกจากนี้ต้องเช็กแอนด์บาลานซ์ สมัยผมเป็นผู้ตรวจราชการ เวลาไปต่างจังหวัดเห็นปัญหา แปลกแต่เป็นเรื่องจริง โรงงานประเภทเดียวกันอยู่จังหวัดหนึ่งเป็นโรงงานลำดับที่ 1 แต่พอไปดูจังหวัดอื่นกลับเป็นโรงงานลำดับอื่นหรือจังหวัดนี้ต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แต่อีกจังหวัดไม่ต้องทำ ทั้งที่รูปแบบโรงงานเหมือนกัน เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าขาด เช็กแอนด์บาลานซ์ เพราะฉะนั้น กรมควรจะออกระเบียบแก้บัญชีโรงงาน ถึงเวลาต้องออกไปเช็กแอนด์บาลานซ์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่มีดับเบิลสแตนดาร์ด หรือทริปเปิลสแตนดาร์ดอีก เพื่อลดความเสียหายให้กับผู้ประกอบการ

⦁มุ่งเซอร์คูลาร์-กรีนสอดรับบีซีจี
นอกจากนี้จะสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีการประกอบกิจการที่สอดรับโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ หรือเศรษฐกิจชีวภาพ (ไบโออีโคโนมี) เศรษฐกิจหมุนเวียน (เซอร์คูลาร์ อีโคโนมี) และเศรษฐกิจสีเขียว (กรีนอีโคโนมี) หรือบีซีจี โดยกรมจะเน้น 2 เรื่อง คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพราะเกี่ยวข้องโดยตรง คือ เซอร์คูลาร์ เกี่ยวกับของเสีย

เบื้องต้นกำหนดเงื่อนไข 4 ข้อ คือ 1.ของเสียเหล่านั้นต้องมีวัตถุประสงค์ในการใช้งานไม่ใช่เอาไปทำอะไรก็ได้ 2.ต้องมีตลาดรองรับไม่ใช่ทำแล้วนำมาประดับไว้ในโรงงาน 3.ต้องมีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพ จะหารือกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะหน่วยงานกำกับมาตรฐานโดยตรง และ 4.เมื่อนำของเสียมาใช้ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพ หากสามารถทำได้ตามเงื่อนไขทั้ง 4 ข้อนี้ ผมพร้อมปลดล็อกให้หมดเลย ปัจจุบันมีของเสียประมาณ 808 รายการ ครึ่งหนึ่งเป็นของเสียอันตรายแต่อีกครึ่งหนึ่งไม่ใช่ ตอนนี้มีการคัดเลือกแล้วบางส่วนว่าจะเริ่มทำตัวไหนดี ทำมาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว สอดรับกับเซอร์คูลาร์ อีโคโนมีพอดี

ขณะที่กรีนอีโคโนมี กรมโรงงานทำเรื่องนี้มานานเป็นสิบปี หลังจากนี้ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบท เรื่องนี้เป็นจุดอ่อนของหน่วยงานราชการ ปรับตัวช้า แต่บริบทหลังจากนี้จะเน้นไปที่การดูแลชุมชน ชุมชนได้อะไรจากการผลักดันเรื่องกรีน ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เข้าสู่ตลาดโลกต้องดูแลชุมชน ลด/เลิกการปล่อยคาร์บอน จะจัดทำกรีนจีดีพี เปลี่ยนข้อกำหนดใหม่ให้ทุกเรื่องที่ทำต้องวัดค่ากรีนจีดีพีได้

⦁รับนโยบายเข้มจากปลัดอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม กรมโรงงานยังรับนโยบายจาก นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้เน้นย้ำให้กรมเดินหน้าปฏิรูปกฎหมาย ถ้าออกมาแล้วทำโทษคนทำดี ไม่ควรทำ หรือกฎหมายอะไรที่ออกมาแล้วซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น กระทรวงอื่น ต้องไม่ทำเช่นกัน เพราะจะเกิดปัญหาใครจะเป็นเจ้าภาพ ดังนั้นควรใช้วิธีแชร์ข้อมูลดีกว่า ขณะเดียวกันจะนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วย ใช้กระดาษให้น้อยที่สุด จะเริ่มจากกฎหมายกากอุตสาหกรรม ปรับใหม่ทั้งหมด อันไหนซ้ำซ้อน ไม่จำเป็น จะปรับใหม่ทั้งหมด ลดภาระการรายงานซ้ำซ้อนของผู้ประกอบการ และจะใช้อิเล็กทรอนิกส์กำกับ

ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2568 กระบวนการที่เกี่ยวกับการทำงานของกรมจะต้องเป็นดิจิทัลทั้งหมด ปีงบประมาณ 2567 กรมจึงขออนุมัติงบประมาณ 150 ล้านบาท พร้อมปรับลดงบประมาณส่วนอื่น เพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ กรมยังได้งบประมาณเพื่อพัฒนาการจัดการกากผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เป็นงบบูรณาการ 20 ล้านบาท เพื่อมาพัฒนาในส่วนนี้ ถือเป็นข่าวดีมากๆ

ต่อมาคือ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จัดการโรงงานที่เกเร ผู้ที่ตั้งใจทำผิดกฎหมาย ไม่เกรงกลัวกฎหมาย ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล เบื้องต้นได้ประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเตรียมลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ร่วมกัน นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อเน้นใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้เกิดผล เกิดประสิทธิภาพ แก้ปัญหาอย่างจริงจัง

⦁ช่วยโรงงานลดต้นทุนผลิต ขับเคลื่อนลงทุนไทย
สำหรับบทบาทของอุตสาหกรรมไทยต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อธิบดีจุลพงษ์ให้ความเห็นว่า ทุกวิกฤตมีโอกาส ช่วงโควิด-19 มีบางโรงงานที่ผลิตสารเคมี หันทำสบู่เหลวฆ่าเชื้อ ประกาศจ่ายโบนัสคนงาน 12 เดือน ขณะที่สงคราม ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์จะมีโรงงานต้องการฐานผลิตใหม่ หรือย้ายฐาน เพื่อผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการในยุคเศรษฐกิจแบบนี้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมาย ดังนั้นบทบาทของกรมโรงงานต้องช่วยผู้ประกอบการแข่งขันได้ แก้ระเบียบ กฎเกณฑ์ที่เป็นปัญหา อำนวยความสะดวก ร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สนับสนุนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปัจจุบันไทยพึ่งพิงแรงงานต่างด้าว การดูแลแรงงานต้องดี ไม่เช่นนั้นอนาคตจะขายของไม่ได้

ส่วนประเด็นต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพลังงานราคาแพง ตอนนี้ประเทศเพื่อนบ้านจับตาราคาไฟฟ้าประเทศไทย หากเทียบกับเวียดนาม ราคาอาจจะสูง แต่ถ้าเทียบกับญี่ปุ่น ราคาอยู่ที่ประมาณ 5 บาทต่อยูนิตเท่ากัน ประเด็นคือ ถ้าราคาแพงต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอาจไม่เท่ากัน แต่ทุกโรงงานได้รับผลกระทบหมด ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ทันทีคือ การเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักร เรื่องนี้สำนักงานจดทะเบียนเครื่องจักร ได้ประสานงานกับธนาคารหลายแห่งสนับสนุนดอกเบี้ยอัตราพิเศษ ทำให้ต้นทุนพลังงานลดลง

“กรมไม่สามารถทำให้ราคาพลังงานลดลงได้ แต่ช่วยเรื่องการผลิตและใช้ไฟฟ้าให้น้อยลงได้ พร้อมหาแหล่งพลังงานอื่นๆ มาทดแทน อาทิ โซลาร์ ร่วมมือกับธนาคารสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ” อธิบดีจุลพงษ์ทิ้งท้าย