BTS หุ้นปิดดิ่ง 8.6% หลังเจอป.ป.ช. แจ้งข้อหาฮั้วประมูล โร่แจ้งตลาด-โบรกชี้เลี่ยงลงทุน

BTS หุ้นปิดดิ่ง 8.6% หลังเจอป.ป.ช. แจ้งข้อหาฮั้วประมูล โร่แจ้งตลาด-โบรกชี้เลี่ยงลงทุน 

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ตลอดทั้งวันพบว่า ปิดตลาดมีราคาอยู่ที่ 6.90 บาท ปรับตัวลดลงกว่า 0.65 บาท หรือ ลดลงกว่า  8.61% จากราคาปิดตลาดวันก่อนหน้า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ราคาหุ้นอยู่ที่ 7.55 บาท ซึ่งเป็นราคาดีดตัวกลับ จากช่วงเช้าที่ผ่านมา ที่ทำราคาจุดต่ำสุดของวัน อยู่ที่ 5.40 บาท ปรับตัวลดลงกว่า 2.15 บาท หรือลดลงกว่า 28.5% เลยทีเดียว

นายสยาม ติยานนท์ นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ซึ่งผู้ว่าฯกทม.ในสมัยนั้น และพวกรวม 13 คน ซึ่งรวมถึงบุคคลของ BTS ด้วย กรณีว่าจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทางไปจนถึงปี 2585

ได้แก่ 1.ส่วนต่อขยายอ่อนนุช-แบริ่ง 2.ส่วนต่อขยายตากสิน-วงเวียนใหญ่ และ 3.เส้นทางหลักซึ่งเป็นสัมปทานหลักที่จะหมดสัญญา 4 ธันวาคม 2572 ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และเอื้อประโยชน์ให้แก่ BTSC เพียงรายเดียว ตามที่องค์คณะไต่สวนเสนอ

ข่าวลบนี้ส่งผลต่อราคาหุ้น BTS โดยส่วนต่อขยายอ่อนนุช-แบริ่ง (5 สถานี) และตากสิน-วงเวียนใหญ่
(2 สถานี) แม้จะเปิดให้เอกชนรายอื่นประมูล แต่ก็คงไม่มีใครเข้าร่วมประบูล ด้วยระยะทางที่สั้นมาก การเจรจาตรงกับ BTSC จะเหมาะสมกว่า แต่การผิด พ.ร.บ.ทั้ง 2 พ.ร.บ. คงต้องติดตามว่าเป็นอย่างไร รวมถึงรอคำชี้แจงจาก BTS ในประเด็นดังกล่าว เพื่อให้มีข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ข่าวดังกล่าวถือเป็นลบต่อ BTS จากการถูก ป.ป.ช. กล่าวหาฮั้วประมูล ทำให้การได้มาซึ่งสัญญาเดินรถไฟฟ้าเกิดความไม่แน่นอน แนะนำ “หลีกเลี่ยง” การลงทุนไปก่อน

ด้าน  BTS ได้ทำหนังสือชี้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงกรณีดังกล่าวตอนหนึ่งว่า  กรณีนี้ยังเป็นเพียงขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เท่านั้น และ  BTSC ยังไม่ถูกฟ้องร้องเป็นคดีแต่อย่างใด โดย BTSC มีสิทธิคัดค้าน และแก้ข้อกล่าวหาตามกระบวนการของกฎหมาย ซึ่ง BTSC ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าการทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อปี 2550 กทม. ได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการที่ กทม. หรือ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จะว่าจ้างเอกชนเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัย ในคำวินิจฉัยคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จแล้ว โดยสรุปว่า การจ้างเอกชนเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายไม่ใช่การร่วมลงทุน หรือให้สิทธิสัมปทานใต้กฎหมายร่วมทุน

Advertisement

นอกจากนั้น การทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายได้เคยผ่านการสอบสวนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในปี 2555 แล้ว โดยภายหลังจากสิ้นสุดการสอบสวนในปี 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานอัยการสูงสุดได้เห็นควรไม่ฟ้อง BTSC

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image