ปธ.เอสเอ็มอี ชี้ธุรกิจอยากได้ทีมศก.มืออาชีพบริหารประเทศ รุกต่อยื่นสมุดปกขาวแก้วิกฤต

ปธ.เอสเอ็มอี ชี้ธุรกิจอยากได้ทีมศก.มืออาชีพบริหารประเทศ รุกต่อยื่นสมุดปกขาวแก้วิกฤต

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าจัดทำข้อเสนอถึงปัญหาและแนวทางให้พรรคการเมืองและรัฐบาลใหม่ ว่า ก่อนหน้านี้ หลังมีการประกาศว่าจะมีการเลือกตั้ง สมาพันธ์ได้ทำการสำรวจและเก็บข้อมูลปัญหาและข้อเรียกร้องจากเอสเอ็มอีทั่วประเทศ นำเสนอรัฐบาลปัจจุบันและหลายหน่วยงานมาแล้ว แต่ยังไม่ได้การตอบรับในหลายเรื่องสำคัญ ดังนั้น สมาพันธ์คงต้องรอผลการเลือกตั้งและเห็นทิศทางพรรคใดจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ก็จะนำสมุดปกขาวข้อเสนอเอสเอ็มอีเข้าไปยื่นและนำเสนอต่อพรรคที่มีแนวโน้มจัดตั้งรัฐบาลและรัฐบาลใหม่

ทั้งนี้ ข้อเสนอหลักที่ได้เตรียมจะเสนอ คือ เรื่องแรกคือความช่วยเหลือและออกมาตรการดูแลเอสเอ็มอี 4 ภาคที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ ส่งออก ท่องเที่ยว บริโภค และการเกษตร ด้วยจีดีพีเอสเอ็มอีไทยมีสัดส่วน 35 % ของจีดีพีประเทศ ขณะที่ในจำนวนนี้เป็นไมโครเอสเอ็มอี3% และรายเล็ก 14% รอความช่วยเหลือเรื่องแหล่งทุนต้นทุนต่ำ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตอนนี้รายเล็กเจอปัญหาจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่ารายใหญ่ และส่วนใหญ่พึ่งพานอนแบงก์ จ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 30-36% ต่อปี ยิ่งเมื่อหยุดพักหนี้การเข้าถึงแหล่งทุนยิ่งยาก และการแก้หนี้ยังไม่ได้ช่วยในระยะยาว

สำหรับอีก 2-3 เรื่องที่อยากเสนอรัฐบาลใหม่ คือ เร่งออกมาตรการช่วยเหลือรายย่อยและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ผ่านเครือข่ายระดับจังหวัดและท้องถิ่น ที่มีงบประมาณหรือกองทุนช่วยเหลืออยู่แล้วแต่อยากให้ส่วนกลางระบุให้ชัดเจนว่าจะช่วยเหลือรายย่อยและอยากให้เกิดการร่วมตัวภาครัฐและเอกชน จัดทำไทยแลนด์เทรดดิ้งสู่กับทุนจีนทุนนอกที่กำลังมาตีตลาดทุนไทยที่เป็นทุนรายย่อย ส่งเสริมเครือข่ายเอสเอ็มอีอย่างเป็นรูปธรรมและเปิดให้เอสเอ็มอีรายย่อยเป็นกระบอกเสียงผ่านความร่วมมือและจัดตั้งเป็นสมาพันธ์เอสเอ็มอีแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ เอสเอ็มอีอยากให้ดูแลต้นทุนด้านต่างๆ โดยเฉพาะค่าไฟควรต่ำกว่า 4 บาท/หน่วย ราคาดีเซล 25-27 บาทต่อลิตร และดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนเร็ว เหมาะสมช่วง 33-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

“รัฐบาลใหม่ หากมีผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ การค้า และบริการองค์กรมาแล้ว ย่อมเข้าใจสภาพตลาดและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รอว่าจะรับมือและช่วยเหลืออย่างไร เราก็ติดตามว่าทีมเศรษฐกิจจะเป็นมืออาชีพในการบริหารจัดการ เพราะตอนนี้เราเผชิญปัญหาภายนอกหนักหนาและน่าจะยืดเยื้อ ที่มองไว้ว่าเศรษฐกิจปีนี้จะโต 3-3.5% อาจยากขึ้น หากบริหารจัดการประเทศและเศรษฐกิจจากนี้ไม่ดีพอ จีดีพีอาจโตต่ำกว่า 3% หรือใกล้เคียงปีก่อนโตแค่ 2.6% ยิ่งกับจีดีพีเอสเอ็มอียิ่งลดลงมาก หากไม่ได้รับการช่วยเหลือและส่งเสริมจากรัฐบาล เราไม่ได้ต้องการให้อัดเงินมาโดยตรงแต่เราต้องการจัดมาตรการช่วยฟื้นตัวจากต้นทุนต่ำและสิทธิประโยชน์ดีกว่าต่างชาติหรือเท่ากันก็ยังดี” นายแสงชัย กล่าว

ADVERTISMENT

นายแสงชัย กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์และการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการเอสเอ็มจากผลกระทบการลุมลามของการปิดตัวของธนาคารในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และกำลังลามไปยังยุโรป รวมถึงเศรษฐกิจโลกอาจถดถอยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ นั้นว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียอมรับว่า กังวลในปัจจัยลบต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ เพิ่มเติมจากเดิมเจอผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ ต้นทุนสูงจากราคาพลังงาน ค่าไฟ ดอกเบี้ยแพง เงินเฟ้อ และกำลังซื้อไม่ได้ฟื้นแท้จริงและยังกระจุกตัวบางพื้นที่หรือบางช่วงเวลาที่มีกิจกรรมหรือหยุดยาวท่องเที่ยวเท่านั้น ซึ่งขอแยกออกเป็น 4 ภาคที่ต้องจับตาและเร่งออกมาตรการดูแล

ได้แก่ 1.ภาคการส่งออก เห็นสัญญาณชะลอตัวมาตั้งแต่ไตรมาส4/2565 ยิ่งวิตกมากขึ้นเมื่อทุกสำนักประเมินส่งออกจะติดลบยาว อาจถึง 6 เดือนแรกของปีนี้ ผลจากเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัว ย่อมมีผลมากต่อเอสเอ็มอีภาคส่งออก ซึ่งในไทยมีประมาณ 2.2 หมื่นราย คิดเป็น 13.4% ของมูลค่าส่งออกประเทศ โดยสร้างรายได้เข้าประเทศ 1 ล้านล้านบาท ที่ถูกกระทบโดยตรง ยังไม่รวมเอสเอ็มอีที่เป็นห่วงโซ่หรือซัพพลายเชน เช่น ผลิตชิ้นส่วน รับจ้างประกอบ เป็นต้น ที่มีจำนวนอีกหลายหมื่นรายจะเจอปัญหาไม่มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าหรือลดการซื้อในช่วงส่งออกหดตัว

“หากจะให้แข่งขันกับผู้ส่งออกรายกลาง-ใหญ่ ในภาวะเพิ่งฟื้นฟูจากโควิดและจำนวนมากยังขาดทุนหมุนเวียนหรือลงทุนใหม่กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ยิ่งเป็นไปได้ยาก จากข้อมูลสมาคมส่งเสริมดิจิทัล พบว่าเอสเอ็มอี 89% ยังเป็น 1.0 อีก 10% พัฒนาเป็น 2.0 ที่เหลือน้อยมากที่พัฒนาเป็น 3.0 หรือ 4.0 แล้ว ดังนั้น สิ่งที่เอสเอ็มอีต้องการตอนนี้คือ รัฐช่วยลดต้นทุนและเพิ่มสิทธิประโยชน์ อาทิ การเข้าถึงพลังงานแสงอาทิตย์ในต้นทุนต่ำ แม้เอสเอ็มอีทำส่งออกจะแค่ 13% แต่หากล้ม บวกกับรายใหญ่เองก็ส่งออกไม่ได้ดีกว่าปีก่อน เชื่อว่ากระทบต่อจีดีพีไทยปีนี้ต่ำเป้า 3% แน่นอน”

นายแสงชัย กล่าวต่อว่า 2. ภาคการท่องเที่ยว ที่สถานการณ์ดีขึ้น จากจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ที่เข้ามา ซึ่งรัฐประเมินว่าปีนี้จะฟื้นกลับมา 70% เมื่อเทียบปี 2562 หรือมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยเกิน 28 ล้านคน รายได้ 1.4-2.0 ล้านล้านบาท รวมกับรายได้จากคนไทยเที่ยวไทยรายได้ในภาคท่องเที่ยวก็เป็น 3 ล้านล้านบาท แต่จากสำรวจเอสเอ็มอีมองว่ายังกระจายไม่ถึงเมืองรอง และยังขาดแรงกระตุ้นจากรัฐอย่างต่อเนื่อง รวมถึงไม่มีทิศทางชัดเจนต่อการส่งเสริมการฟื้นตัวของเอสเอ็มอีในภาคท่องเที่ยวอย่างไร ส่วน

3. ภาคการค้า และ 4. ภาคเกษตร กำลังเจอปัญหาทุนจีนและธุรกิจจากจีนหรือประเทศอื่นๆเข้ามาแย่งตลาดการค้าปกติของคนไทย ไม่แค่เปิดห้างค้าส่ง รวมถึงล้งหว่านซื้อผลไม้หรือสินค้าต่างๆเพื่อส่งออก เรื่องนี้หากรัฐปล่อยไปเรื่อยๆและไม่จริงจังจะแก้ปัญหาหรือป้องกัน เอสเอ็มอีอีกหลายแสนจะเจอวิกฤตในอีก 2-3 ปีข้างหน้า