พณ.ชี้ปัญหา ศก.ของสหรัฐ ไม่กระทบนำเข้าสินค้าเกษตรไทย ยังขายได้แพงขึ้น

พณ.ชี้ปัญหา ศก.ของสหรัฐ ไม่กระทบนำเข้าสินค้าเกษตรไทย ยังขายได้แพงขึ้น

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ได้รับข้อมูลจากนายนิวัฒน์ หาญสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ถึงการคาดการณ์การค้าสินค้าเกษตรสหรัฐ ในปีงบประมาณ 2566 และโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูปของไทยเข้าสู่ตลาดสหรัฐ

โดยทูตพาณิชย์ลอสแอนเจลิสให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ 2566 กระทรวงเกษตรสหรัฐ คาดการณ์ว่าสภาวะเศรษฐกิจของโลกและการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ จะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศสำหรับสินค้าเกษตรสหรัฐ โดยสหรัฐจะส่งออกสินค้าเกษตร 1.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญที่จะลดลง เช่น ถั่วเหลือง ฝ้าย ข้าวโพด และข้าว ที่เพิ่มขึ้น เช่น เนื้อวัว เนื้อสัตว์ปีก และข้าวสาลี ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เช่น ผลไม้ ผักสด ผลิตภัณฑ์ผัก น้ำตาล และสินค้าเกษตรเมืองร้อน รวมถึงกาแฟ โกโก้ เนื้อ นม ไข่ และสัตว์ปีก ธัญพืชและอาหารสัตว์ เมล็ดน้ำมันพืช โดยนำเข้าจากแคนาดา เม็กซิโก สหภาพยุโรป และเอเชีย

ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลอีกว่า กระทรวงเกษตรสหรัฐได้ระบุถึงตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อการค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศในปีงบประมาณ 2023 ได้แก่ สงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย การบริโภคในตลาดจีน แรงกดดันที่มาจากการแข่งขันของประเทศต่างๆ ในอเมริกาใต้ที่มีผลผลิตทางการเกษตรที่ดีกว่าสหรัฐ ระบบโลจิสติกส์ภายในสหรัฐ ที่ยังมีสิ่งท้าทายจากการที่แม่น้ำ Mississippi ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าเกษตรส่งออกมีระดับน้ำลดต่ำอย่างมาก

Advertisement

ทำให้การขนส่งสินค้าทางน้ำติดขัด และปัญหาการขาดแคลนคนขับรถบรรทุกขนส่งสินค้า สภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก และการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์เพิ่มสูงขึ้น ลดอำนาจการแข่งขันของสหรัฐในตลาดการค้าโลกและทำให้สินค้าสหรัฐมีราคาแพง แต่สินค้านำเข้ามีราคาถูกลงสนับสนุนการเติบโตของการนำเข้า การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศในสหรัฐที่เกิดภัยแล้ง ไฟป่า และเฮอร์ริเคน ในพื้นที่เกษตรสหรัฐส่งผลทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรตกต่ำโดยเฉพาะพืชกลุ่มส้มและฝ้าย

“กระทรวงเกษตรสหรัฐประมาณการณ์ว่าร้อยละ 75 ของผลไม้ และเกือบครึ่งหนึ่งของผักที่บริโภคในสหรัฐเป็นสินค้านำเข้าจึงเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตร และสินค้าเกษตรแปรรูปจากประเทศไทยเข้าสู่สหรัฐ เพราะสหรัฐประกอบด้วยคนจากหลายชาติพันธุ์ที่เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตของประชากรในระดับสูง และผู้บริโภคกลุ่มนี้สร้างความต้องการบริโภคสินค้าอาหารแปลกใหม่ของชาติต่างๆ และมีอิทธิพลสร้างความสนใจและความต้องการบริโภคในหมู่ผู้บริโภคกลุ่ม Mass Market ทำให้สหรัฐเป็นตลาดนำเข้าสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรหลากหลายที่มีศักยภาพสูง แม้ว่าปัจจุบันกระแส Eat Local สินค้าเกษตรกำลังมาแรงก็ตาม ซึ่งหากผู้ส่งออกเกาะติดตลาด และวางแผนในการส่งออกให้ดีก็จะขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรได้ดียิ่งขึ้น” นายภูสิตกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image